ชาวบางระกำ-บางบาล-นครปฐม ชง 10 ข้อเสนอแก้น้ำท่วม- ซัดเงินกู้ 3.5 แสนล.ไร้ประโยชน์
ชาวบ้านบางระกำ-บางบาล-นครปฐม ชง 10 ข้อเสนอบริหารจัดการน้ำภาคปชช.-ซัดเงินกู้ 3.5 แสนล้านไร้ประโยชน์ นายกเล็กบางระกำเมืองใหม่เเนะสื่อ-รบ.เปลี่ยนทัศนคติให้คิดว่าชีวิตต้องอยู่กับน้ำได้
วันที่ 20 ส.ค. 56 มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), คณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และภาคีเครือข่าย จัดสัมมนาปัญหาน้ำท่วม 2554 ‘จากบางระกำ ผ่านบางบาล ถึงนครปฐม:ประชาชนอยู่ที่ไหน’ ณ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายวิบูลย์ ตั้งเกษมวิบูลย์ นายกเทศมนตรีต.บางระกำเมืองใหม่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก นำเสนอมุมมองจากพื้นที่ว่า น้ำท่วมในบางระกำเกิดขึ้นปกติทุกปีจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต แต่สื่อมวลชนและบุคคลภายนอกมักมองเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ และคิดว่า ชาวบ้านจะประสบความยากลำบาก ทั้งที่ความจริงแล้วไม่เคยลำบากเลย เพราะน้ำท่วมจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่
แต่เมื่อเกิดระบบชลประทานขึ้น ภาครัฐได้ใช้พื้นที่ในการรองรับน้ำ ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มมากกว่าปกติ โดยเฉพาะปี 2554 ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนโครงการบางระกำโมเดลเพื่อหวังแก้ปัญหาโดยไม่เคยถามความเห็นจากชาวบ้านว่าต้องการหรือไม่ พร้อมทั้งเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะไม่ช่วยแก้ปัญหา
นายกเทศมนตรีต.บางระกำเมืองใหม่ เสนอแนวทางให้ทุกคนรวมถึงสื่อมวลชนปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่าชาวบ้านบางระกำสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเมื่อน้ำท่วม แต่สำหรับเกษตรกรที่ผลผลิตได้รับความเสียหายนั้น ภาครัฐจะต้องชะลอน้ำไม่ให้เข้าทุ่งก่อนการเก็บเกี่ยว นั่นคือ ก่อน 15 ส.ค. ของทุกปี แต่หลังจาก 15 ส.ค. แล้ว เกษตรกรต้องการน้ำ ฉะนั้นจะต้องเปิดน้ำให้เข้าทุ่งเพื่อกักเก็บตามธรรมชาติจนถึงธ.ค. เพียงเท่านี้ภาครัฐจึงไม่ต้องเสียงบประมาณดำเนินงานใด ๆ อีก
“อีกทั้งควรกำหนดผังเมืองรวมจังหวัดไม่เฉพาะครอบคลุมพื้นที่สีเขียว แหล่งอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย เท่านั้น แต่ต้องหมายรวมถึงพื้นที่รับน้ำในอนาคตด้วย” นายวิบูลย์ กล่าว และย้ำว่า ชาวบ้านไม่ได้อยู่เพื่อหวังพึ่งพาถุงยังชีพตลอดไป แต่อยู่เพื่อพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ฉะนั้นภาครัฐต้องรับฟังเสียงชาวบ้านทุกครั้งก่อนดำเนินโครงการใด ๆ รวมถึงต้องมองน้ำท่วมไม่ใช่สิ่งอันตราย แต่เป็นสิ่งที่ดีกับเกษตรกร
ด้านนายกระแส บัวบาน กำนันต.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่บางบาลจากเดิมเป็นแหล่งรับน้ำปกติต้องเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งทำลายนาข้าว ชาวนาจึงขายที่ดินให้นายทุนก่อนเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้ากรุงเทพฯ จนปัจจุบันเหลือชาวนาเพียง 10 % เท่านั้น และล้วนเช่าพื้นที่นาจากนายทุนทั้งสิ้น เพราะรับสภาพไม่ได้กับน้ำท่วมที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี อันเกิดจากการสร้างสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำของมนุษย์
นายกระแส เสนอให้บริหารจัดการน้ำแบบ ‘แก้มลิง’ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพียงโครงการเดียวเพียงพอแล้ว โดยต้องกักเก็บปริมาณน้ำจากพื้นที่ด้านบนไล่ลงมา เพื่อให้เหลือปริมาณน้ำเข้ากรุงเทพฯ น้อย อีกทั้งยังสามารถเหลือไว้ใช้หน้าแล้งได้ แต่หากทำ "ฟลัดเวย์" จะทำให้น้ำไหลลงทะเลหมด
อดีตน้ำอยู่ในถาด ปัจจุบันน้ำอยู่ในแก้ว
ขณะที่นายบุญลือ เจริญมี ประธานสหกรณ์บ้านคลองโยง จ.นครปฐม กล่าวถึงน้ำท่วมในอดีตจะพามาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ และอาชีพใหม่ ๆ อย่างประมงน้ำจืด ถือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านแต่ละพื้นที่ แต่เมื่อคูคลองถูกถมทำให้เส้นทางไหลของน้ำถูกบีบแคบลงส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่ปริมาณน้ำในอดีตกับปัจจุบันไม่แตกต่างกัน เปรียบได้กับ “อดีตน้ำอยู่ในถาด ปัจจุบันน้ำอยู่ในแก้ว” จึงไม่เห็นด้วยกับการนำเงิน 3.5 เเสนล้านบาทมาสร้างเขื่อนกั้นน้ำที่ไม่เกิดประโยชน์ แต่ควรปล่อยให้น้ำไหลไปตามธรรมชาติ และนำเงินจำนวนดังกล่าวมาเวนคืนที่ให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกินดีกว่า
ทั้งนี้ ในเวทีเสวนาได้มีการนำเสนอจากข้อสรุปงานวิจัย 'จากบางระกำ ผ่านบางบาล ถึงลุ่มน้ำท่าจีน/ทุ่งพระพิมลราชา ภายใต้เเผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 เเสนล้าน' ดังนี้
1.การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ต้องให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ การบริหารการกักเก็บน้ำที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่าง และการช่วยชะลอไม่ให้น้ำท่วมก่อนการเก็บเกี่ยว คือ ภายในส.ค.ในพื้นที่บางระกำและกลางก.ย.ในพื้นที่ทุ่งพระพิมลราชา
2.การทำขั้นบันไดชะลอน้ำจากจ.ชัยนาทลงมาถึงพระนครศรีอยุธยา เพื่อช่วยควบคุมปริมาณการไหลของน้ำไม่ให้หลากท่วมพื้นที่กว้าง และยังสามารถนำน้ำที่พักไว้มาใช้ในการเกษตรได้ด้วย แนวทางนี้จะช่วยให้สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จากนั้นจึงค่อย ๆ ระบายน้ำลงทะเลไป
3.การปล่อยให้น้ำไหลผ่านทุ่งตามธรรมชาติในช่วงเวลาที่เหมาะสม และการเกลี่ยน้ำให้กระจายน้ำเข้าทุ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่น ๆ เช่นเดียวกับในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ การควบคุมการเพาะปลูกข้าวให้เหลือ 2 ครั้งเช่นเดียวกัน
4.การเปิดให้มีกลไกหรือช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการบริหารจัดการน้ำภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการมีส่วนร่วมออกแบบและกำหนดแนวทางการจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่
5.การศึกษาเพื่อหาแนวทางการชดเชยหรือประกันภัยพืชผลให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่อาจถูกน้ำท่วมที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ และรัฐต้องมีมาตรการพิเศษที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
6.การจัดการน้ำด้วยโครงข่ายแนวนอน (ระบบคูคลอง) ในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง โดยใช้ศักยภาพของคลองที่มีอยู่เดิม เพื่อเป็นตัวเชื่อมในการระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ร่วมกับการจัดการประตูระบายน้ำ (ปตร.) แบบมีส่วนร่วมของประชาชนกับหน่วยงานรัฐ
7.การขุดลอกแม่น้ำท่าจีนบริเวณที่เป็นแหลมตลอดริมฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งกำจัดเศษวัสดุที่สะสมใต้ท้องน้ำบริเวณตอหม้อสะพานเพื่อให้แม่น้ำท่าจีนสามารถระบายน้ำลงทะเลได้มีประสิทธิภาพ
8.การจัดทำระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ของรัฐ เพื่อรองรับการเดินทางให้ชุมชนอยู่ได้ในภาวะน้ำท่วม เช่น การยกถนนสูงเพื่อใช้สัญจรในช่วงน้ำท่วม
9.การจัดสรรงบประมาณเพื่อการมีส่วนร่วมในการรับมือน้ำท่วม เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อสำรวจและจัดทำแผนผังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมของชุมชน การวางระบบของชุมชนในภาวะฉุกเฉิน เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สิน
10.การทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนและสาธารณะเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนว่าปรับตัวอยู่กับน้ำท่วมได้อย่างไร