เอ็นจีโอ อัดเงินกู้ 2 ล้านล้าน ข้ามขั้นตอน โอกาสตายทั้งกลมสูง
"วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ" ฉะโครงการเงินกู้2 ล้านล้าน พิจารณาอย่างขมุกขมัว กลับหัวกลับหาง ไม่เป็นขั้นตอน เตือนอย่าหลงเชื่อวาทกรรมแล้วปล่อยให้ความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น เชื่อยากเยียวยา ด้านผอ.สนข. วอนให้มองความเจริญประเทศเป็นหลัก เลิกใช้การเมืองตัดสิน
วันที่ 19 สิงหาคม สำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชน (กป.อพช) ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาหัวข้อ “เงินกู้ 2 ล้าน ล้าน เพื่อ คนไทย หรือ เพื่อใคร ?” ณ ห้องประชุม 205 มหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศน์วิทยาในลุ่มน้ำโขง กล่าวถึงพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เป็นโครงการที่พิจารณาอย่างขมุกขมัว กลับหัวกลับหาง ไม่เป็นขั้นตอน จริงๆรัฐบาลควรพิจารณาไปทีละโครงการ รวมถึงศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้บางโครงการเกิดขึ้นแล้วโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่มีการรับฟังเสียงของประชาชน เราคาดหวังจากสภาฯ แต่หากพ.ร.บ.ชุดนี้ผ่านกระทั่งอนุมัติ อยากถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเราจะเรียกว่า บริหารงานภายใต้หลักธรรมาภิบาลได้หรือไม่ ฉะนั้นการมีส่วนร่วมในภาคประชาชน การรับฟังความเห็น ปกป้อง เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบคือสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำ”
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาเปรียบเสมือนการลงทุน และการลงทุนนำมาซึ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่า การลงทุนจะช่วยสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะดีทั้งหมด ดังนั้นจึงอยากเตือนทุกคนให้แยกแยะเรื่องการพัฒนากับการลงทุนให้ได้ และอย่าสับสนกับวาทกรรมที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมขอให้ยึดมั่นในกระบวนการที่ถูกต้อง มีหลักประกัน อย่าปล่อยให้ความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นจนไม่สามารถที่จะเยียวยาได้
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (สนข.) กล่าวว่า ขณะนี้หลายคนกังวลเรื่องการกู้เงินว่า กู้แล้วจะไม่ทำตามที่สัญญาไว้ จะไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งความจริงทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะมีกฎหมายควบคุม เป็นกฎหมายในมาตรา 5 ซึ่งคนไม่เคยกล่าวถึงเลย ในกฎหมายเขียนไว้อย่างไรต้องปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดไว้ทั้งหมด หากไม่ปฏิบัติตามคือกระทำการผิดกฎหมาย ดังนั้นทั้งในเรื่องการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เราก็กำลังจะเตรียมศึกษา ดังนั้นอยากให้ประชาชนทุกคนเข้าใจกฎหมายให้ตรงกัน
“ผมอยากให้ทุกคนตัดสินใจบนพื้นฐานความเจริญของประเทศ โดยไม่ยึดติดเรื่องการเมือง”ผอ.สนข.กล่าว
ขณะที่นายจักรชัย โฉมทองดี กรรมการ กป.อพช กล่าวถึงเรื่องความคุ้มทุนของโครงการอย่ามองแค่ตัวโครงการ อยากให้มองอย่างมีมิติว่า ตัวโครงการนำอะไรมาให้ได้บ้าง สร้างเมืองใหม่ กระจายรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แต่ข้อกังขาสำหรับพ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ที่ความชัดเจนที่รัฐบาลยังตอบคำถามประชาชนได้ไม่หมด รัฐบาลไม่สามารถ "กะเทาะ" ตัวโครงการให้สาธารณะชนฟังได้ว่า เมื่อกู้เงินมาแล้วจะใช้จ่ายอย่างไรบ้าง รวมถึงโครงสร้างทั้งหมดไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน ไม่มีศึกษาผลกระทบจากโครงการก่อน ไม่มีการรับฟังความเห็นประชาชน
“หากหลายโครงการยังข้ามขั้นตอนอยู่แบบนี้โอกาสตายทั้งกลมสูงมาก และที่สำคัญรัฐบาลควรศึกษาผลกระทบก่อนที่จะเริ่มโครงการ”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในช่วงท้ายของการสัมมนาได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความเห็น ซึ่งประชาชนต่างให้ความเห็นตรงกันว่า ขณะนี้ไม่แน่ใจว่าแท้จริงแล้วใครที่จะได้ประโยชน์จากพ.ร.บ.เงินกู้ในครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยฟังเสียงประชาชน ยึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ จะทำอย่างเดียว ประชาชนเรียกร้องอย่างไรก็ไม่ฟัง ผู้ว่าราชการ ข้าราชการถูกใช้เป็นเครื่องมือ EIA ไม่ผ่านก็ทำจนผ่าน ประชาชนไม่เคยขัดขวางการพัฒนาสิ่งเดียวที่อยากเรียกร้องคือการพัฒนาโครงการต่างๆ ต้องไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมชุมชน เพราะภาระที่เกิดขึ้นจากแผนพัฒนาตกอยู่กับประชาชนไม่ใช่นักการเมือง และอยากให้รัฐบาลเข้าใจว่าประชาชนก็มีสิทธิในการบริหารประเทศและแสดงความเห็นเช่นกัน