หนุนยกเลิกใบประกอบวิชาชีพ นักวิชาการประเมิน EIA ผิดพลาด
กสม.เปิดเวทีถก “EIA เพื่อใคร” ตัวแทน สผ. รับการประเมินผลกระทบด้านสวล. ยังมีปัญหา ปชช.ไม่เชื่อมั่น หน่วยงานต่างคนต่างทำ ด้านนักวิชาการ แนะ EIA ต้องประเมินแบบยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ทำตอนเป็นโครงการย่อยๆ เพราะจะไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด
วันที่ 15 สิงหาคม คณะอนุกรรมการสื่อสารสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง “EIA เพื่อใคร” ณ ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงโครงการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อนำมาใช้เรื่องการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ไม่ได้มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือมีก็ทำประเมินเฉพาะบางโครงการที่คาดว่าจะมีผลกระทบรุนแรงเท่านั้น โดยรัฐบาลบอกว่า ต้องไปทำรายงานตอนเป็นโครงการแล้ว ตอนนี้ไม่ต้องไปประเมินผลกระทบโครงการก็ได้ ทั้งที่ในมมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ประเมินผลกระทบ "ก่อน" การสร้างโครงการ
"แต่ ณ ตอนนี้ศาลวินิจฉัยเพียงมาตราเดียว คือมาตรา 67 ให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน นั่นคือการให้ทำประชาพิจารณ์” ดร.เดชรัตน์ กล่าว และว่า จริงๆ ควรต้องมีการประเมินโครงการแบบยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ไปประเมินผลกระทบตอนเป็นโครงการย่อยๆ เพราะจะไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด
สำหรับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแบบยุทธศาสตร์นั้น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มก. กล่าวว่า จะช่วยลดทอนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และทำให้เรารู้ข้อบกพร่องของโครงการ จนสามารถที่จะหาวิธีป้องกันและแก้ไขได้ ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องออกไปรับฟังความเห็น อาจจ้างบริษัทที่ประมูลผ่านรอบแรกให้ดำเนินการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ และส่งรายงานมาให้ดู จากนั้นก็นำไปชี้แจงกับสาธารณะชนเพื่อรับฟังความเห็น เสร็จแล้ว ค่อยเปิดประมูลอีกรอบว่าจะมีการสร้างได้หรือไม่ในราคาที่กำหนด
"หากจะให้การทำ EIA มีประสิทธิภาพ รัฐบาลจะต้องไม่มองการทำ EIA เป็นเรื่องของการอนุมัติโครงการเท่านั้น แต่ต้องดูตามข้อเท็จจริง พร้อมกับรื้อโครงสร้างของระบบนี้ใหม่ เนื่องจาก EIA ถูกผูกอยู่กับการดำเนินโครงการเท่านั้น หากวันนี้ประชาชนไม่สร้างอำนาจต่อรองอย่างจริงจัง ระบบประเมิน EIA ก็จะไม่มีประสิทธิภาพ”
ขณะที่นายศุภกิจ นันทวรการ คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กล่าวว่า หากเรายึด GDP มาเป็นตัวชี้วัด มีทั้งความจริงและความลวงอยู่ด้วยกัน เมื่อเราเอา GDP มาเป็นตัววัดก็จะสนใจแต่เงินทุน ทางกลับกันทุนธรรมชาติไม่สนใจ และหากเรายังยอมรับ GDP ในลักษณะนี้อยู่ก็เป็นคาถาลวงคนในประเทศในการทำโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งแม้จะทำประเมินผลกระทบก็ไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น
ด้านนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ณ วันนี้มี EIA หรือไม่มี EIA ก็ไม่แตกต่างกัน หลายโครงการที่สร้างส่งผลกระทบกับคนในพื้นที่ ชาวบ้านออกมาเรียกร้องคัดค้านหรือเตือนโครงการนี้ทำไม่ได้ เนื่องจากส่งผลกระทบหลายอย่าง แต่ท้ายที่สุดก็มีการเขียน ทำจนผ่าน แม้รอบแรกยังไม่ผ่าน ก็ทำรอบสอง รอบสาม รอบสี่ไปเรื่อยๆ ซึ่งพอโครงการเกิดขึ้นจริงก็ส่งผลกระทบตามที่ชาวบ้านเตือน ดังนั้นจึงมองว่า การทำประเมินผลกระทบแบบนี้คือทำเพื่อให้โครงการอนุมัติเท่านั้น
“การต่อสู้เพื่อคัดค้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากชุมชนเข้มแข็งร่วมมือร่วมใจกันก็สามารถยับยั้งโครงการได้ แต่ถ้าชุมชนไหนไม่เข้มแข็งพอ หรือเฉยๆ โครงการก็เกิดขึ้นแล้วก็ส่งผลกระทบบางทีก็ไม่ได้รับการแก้ไข”
ส่วนนางรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้แทนเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กล่าวว่า ทางสผ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือไม่ใช่ไม่ให้ความสำคัญในการติดตามผลการประเมินในแต่ละโครงการ ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามพัฒนาปรับปรุงระบบ EIA ให้ดีขึ้น แต่ปัญหาหลักๆ ที่พบ คือการขาดความเชื่อมั่นจากประชาชน ตัวผู้พัฒนาโครงการเองก็ต้องการผลตอบแทนโครงการมาก แต่ต้องการใช้ระยะเวลาในการทำโครงการน้อย ภาคราชการก็พยายามออกกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อมาควบคุมในการทำโครงการ หากแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำงาน ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากในการพัฒนาระบบ EIA ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องมาหาทางออกร่วมกันเพื่อให้โครงการที่จะพัฒนาประเทศต่างๆเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ ในช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีประชาชนเสนอแนะแนวคิด หากมีนักวิชาการที่ทำการประเมินโครงการในพื้นที่ต่างๆ ผิดพลาด ไม่ใช้ข้อมูลที่แท้จริงในการทำ EIA ควรจะยกเลิกใบอนุญาตหรือไม่ก็ปิดบริษัทไปเลย เพราะที่ผ่านมาลงโทษด้วยการพักใบอนุญาตหลังจากนั้นนักวิชาการเหล่านี้ก็ไปอยู่บริษัทใหม่แล้วกลับมาทำอีก จะวนเวียนแบบนี้ไปเรื่อย ดังนั้นจึงอยากให้มีการลงโทษแบบเด็ดขาดด้วย