วสท.ตีแผ่โครงการผันน้ำ A5 ไม่เหมาะสม แนะบริหารน้ำในเขื่อนก่อนผันข้ามลุ่ม
เวที วสท.ตีแผ่โครงการผันน้ำ A5 –เขื่อนแม่วงก์ไม่เหมาะสม ชี้เป็นการผันข้ามหลายลุ่มน้ำ ต้องศึกษาอย่างละเอียด ปชช.ฉะอย่าผลักภาระจากเจ้าพระยาไปลงแม่กลอง หนุนแผนไจก้ามีความเป็นไปได้
วันที่ 15 สิงหาคม สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) จัดเสวนา "ตีแผ่ความไม่เหมาะสมโครงการผันน้ำ A5 และเขื่อนแม่วงก์" ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร วสท. โดยมี รศ.ดร.สุวัฒนา จิตลดากร ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดร.สุรศักดิ์ คลังสุภาวิพัฒน์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ และวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ร่วมเสวนา
เตือนสติสถาบันการศึกษา รับรองโครงการน้ำจากผิดเป็นถูก
รศ.สุวัฒนา กล่าวถึง โครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโมดูล A5 ว่าด้วยการก่อสร้างฟลัดเวย์ระบายน้ำว่า เป็นการผันน้ำข้ามหลายลุ่มน้ำ ทั้งแม่น้ำปิง สะแกกรัง ท่าจีน และแม่กลอง ซึ่งตามหลักวิศวกรรมการแล้ว การผันน้ำข้ามลุ่มจะต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความคุ้มค่าของโครงการอย่างละเอียด ชัดเจน ห่วงว่าโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลจะไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่จะเป็นการสร้างปัญหาใหม่
รศ.สุวัฒนา กล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังติดต่อหาสถาบันการศึกษามารับรองโครงการนี้ (stamper) และทำการรับฟังความเห็นประชาชนแบบจัดนิทรรศการอีก อยากจะเตือนสตินักวิชาการว่าสิ่งที่ผิดหลักวิชาการ แม้จะรับรองแล้วก็ไม่สามารถกลับมาถูกได้ สถาบันการศึกษาใดที่จะรับรองโครงการนี้ต้องระมัดระวังมาก เพราะเป็นโครงการที่กำหนดคำตอบมาให้แล้ว ศึกษา ทำกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างไรก็จะต้องผ่าน
"การจัดการทางเอกสารทำอย่างไรก็ผ่านได้ แค่เปลี่ยนคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่ทำหน้าที่พิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งชุด แล้วจัดนิทรรศการ บอกว่าโครงการผ่าน ก็สามารถทำได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถลงพื้นที่ได้จริงๆ หากสถาบันการศึกษาใดจะรับรองโครงการจากผิดให้กลายเป็นถูก จะสอนนักศึกษาได้อย่างไร ท้ายที่สุดจะเป็นการช่วยสร้างปัญหาให้รัฐบาลด้วยซ้ำไป"
หนุนแผน 'ไจก้า' มีระบบ เป็นไปได้ เชื่อมโยงกว่าแผนรบ.
ขณะที่ผศ.ดร.คมสัน กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูลยังไม่มีรายงานความสัมพันธ์ ที่ระบุว่าโมดูลใดเร่งด่วน และความเชื่อมโยงระหว่างโครงการ
"ที่จริงแล้วเรื่องการบริหารจัดการน้ำไจก้า เคยเสนอแผนที่มีประโยชน์ และเชื่อมโยงกัน ซึ่งเป็นแผนที่มาจากข้อมูลรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ แม้จะไม่เชื่อมโยงกับที่รัฐบาลต้องการ แต่นักวิชาการส่วนมากเห็นด้วย และมองเห็นความเป็นไปได้ เนื่องจากมีระบบระเบียบ ความเชื่อมโยงมากกว่ารายงานที่รัฐบาลออกมา โดยเฉพาะการวางแผน A1-A5 สร้างเขื่อน การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ที่เป็นมาตรการที่ดีที่สุด"
ด้านรศ.ดร.บัญชา กล่าวว่า ตั้งแต่แรกเริ่มโครงการเห็นถึงความไม่ถูกต้อง จึงไม่เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษา หรือให้ข้อมูลแก่ประเทศใดที่มาเสนอทีโออาร์ ซึ่งหลายประเทศที่ถอนตัวจากโครงการก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในยุโรปให้เหตุผลว่าเป็นทีโออาร์ที่เอาเปรียบ และประเทศใดที่กล้ารับงานนับว่าไม่ธรรมดา สุดท้ายเป็นบริษัทที่เคยทำงานในประเทศด้อยพัฒนากลับได้รับเหมางานไป
"ท้ายที่สุดจะมีเทคโนโลยีใดมาให้เรา เมื่อประสบการณ์ทำงานในประเทศที่ไม่มีเทคโนโลยี ที่สำคัญแผนงานในโครงการทั้งหมดล้วนมาจาก 2 หน่วยงานภายในประเทศ ได้แก่ กรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมาจากโครงการป้องกันอุทกภัย ตั้งแต่ปี 2550 มีเพียงโครงการคลองลัดเจ้าพระยา ที่เกิดเมื่อปี 2555 จากการศึกษาของไจก้าและกรมชลประทาน ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับบริษัทที่มาศึกษาเลย"
รศ.ดร.บัญชา กล่าวต่อว่า จากบทสรุปของวุฒิสภา และนักวิชาการทุกคนสรุปว่าส่วนหนึ่งของอุทกภัยเมื่อปี 2554 เกิดจากปริมาณฝน และการบริหารจัดการที่มีความบิดเบือน แทรกแซง และไม่เป็นระบบ เนื่องจากมุ่งแต่การก่อสร้าง ซึ่งผิดหลักวิชาการอย่างรุนแรง
"การแก้อุทกภัย ต้องเริ่มด้วยไม่ใช่การก่อสร้าง ใช้งบประมาณน้อย และแม้จะก่อสร้าง ต้องแก้ที่ลุ่มน้ำที่มีปัญหาก่อน ค่อยผันข้ามลุ่มน้ำ แต่โครงการรัฐบาลกลับใช้การผันน้ำเป็นหลัก แนวทางที่ควรทำคือแก้ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หากสร้างทั้งหมดทุกโครงการ อาจได้โปรเจคใหญ่ที่ซ้ำซ้อน ขัดแย้งและมากเกินความจำเป็น ที่สำคัญยังไม่มีการศึกษาว่าสร้างได้หรือไม่ สร้างแล้วได้อะไรและแก้ปัญหาอุทกภัยได้จริงหรือไม่" รศ.ดร.บัญชา กล่าว และว่า ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือการตัดสินใจชี้เส้นทางผันน้ำโดยใช้ความรู้สึก ไม่ใช่หลักทางวิชาการ
"คนใน กบอ.เคยบอกผมว่า การตัดสินเรื่องเส้นทางผันน้ำมาจากการตัดสินใจจากคนไม่กี่คน ที่ชี้ว่าจะผันน้ำไปตะวันตก ตะวันออกเท่าใด ใช้ความรู้สึกคนไม่คนในการตัดสินประเทศ โดยไม่อ้างอิงหลักวิชาการใดๆ และหากปล่อยให้กระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นต่อไป การชี้ทิศทางเรื่องอื่นๆ ในประเทศ เช่นในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท"
ปชช.ร้อง! อย่าผลักภาระเจ้าพระยามาลงแม่กลอง
ขณะที่ดร.สุรศักดิ์ กล่าวถึงข้อสรุปความคิดเห็นประชาชน ภายหลังลงพื้นที่รับฟังความเห็นว่ามีข้อที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยหลายประการ ได้แก่
1.ผลักภาระปริมาณน้ำข้ามลุ่ม จากแม่น้ำเจ้าพระยามาลงแม่น้ำแม่กลอง ประชาชนเสนอว่าควรมีการบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยาก่อน รวมถึงตั้งคำถามถึงเหตุผลการระบุเส้นทางผันน้ำในทีโออาร์ว่ามาจากหลักคิดใด
2.การคมนาคมระหว่างก่อสร้าง ในระยะเวลา 5 ปีตลอดการก่อสร้างจะส่งผลต่อการเดินทาง วิถีชีวิตของคนในสังคมที่ต้องเปลี่ยนแปลง
3.ปริมาณน้ำ โดยเฉพาะช่วงน้ำหลากที่ในลุ่มน้ำแม่กลองมีปริมาณน้ำมากอยู่แล้ว หากผันมาในช่วงวิกฤต เท่ากับเป็นวิกฤตบวกวิกฤต
4.การระบายน้ำออกทะเล หากเพิ่มเป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตร จะเกิดปัญหาหลายจุดโดยเฉพาะ ประมงชายฝั่ง และต้องระมัดระวังการขุดลอก ที่จะเป็นการทำลายตลิ่ง
5.ความคุ้มค่าของโครงการ ที่ต้องศึกษา เพราะอาจได้ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ท้ายที่สุดจะเป็นเส้นทางเก็บลมมากกว่า
6.ความเสี่ยงของโครงการ หากไม่สำเร็จ หรือเพียงกิโลเมตรเดียวที่สร้างไม่ได้ น้ำก็จะผ่านมาไม่ได้ อย่างไรก็ตามเหมือนรัฐบาลจะเน้นการสร้างถนน สร้างเมืองใหม่ มากกว่าการสร้างผันน้ำ