ขอต้อนรับสู่หน้าเว็บใหม่...
ช่วงนี้ข่าวสารบนเว็บสะดุดไปนิดหนึ่ง แต่ก็แค่ 1-2 วันเท่านั้น จากการปรับหน้าเว็บไซต์ใหม่ของศูนย์ข่าวอิศรา หรือชื่อทางการในปัจจุบันคือ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนๆ ข่าวภาคใต้คงได้ยลโฉมและทดลองคลิกชมกันไปบ้างแล้ว
ชอบ-ไม่ชอบอย่างไร ใช้งานแล้วติดขัดตรงจุดไหนแจ้งกันมาได้ครับ คนที่รู้จักผมเป็นการส่วนตัวก็โทรศัพท์มาบอกได้เลย ถ้าไม่รู้จักก็สามารถแจ้งไปที่สำนักข่าวอิศราได้ มีที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์อยู่ด้านล่างสุดของเว็บไซต์ครับ ส่วนแฟนๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ก็บอกกล่าวกับนักข่าวอิศราที่มีอยู่ทุกจังหวัดได้เหมือนกัน
ผมเป็นคนหนึ่งที่ทำงานกับศูนย์ข่าวอิศรามานาน จะว่าไปก็ทำตั้งแต่เปิดศูนย์เมื่อปลายเดือน ส.ค.ปี 2548 หลังจากผ่านช่วงตั้งไข่แล้วก็มีบางช่วงที่ห่างหายไปบ้าง ทว่าตั้งแต่ 1 ก.ค.2551 ต้องบอกว่าทำทุกวัน เปิดหน้าเว็บทุกวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในประเทศไทยหรือมุมไหนของโลก
หลายปีที่ผ่านมาผมผ่านช่วงเวลาของการปรับโครงสร้างองค์กรและปรับปรุงหน้าเว็บไซต์มาหลายต่อหลายครั้ง เกือบทุกครั้งมักมีปัญหาเรื่่องการถ่ายโอนข้อมูล บางครั้งต้องปิดเว็บไป 3-4 วันก็ยังเคย การปรับปรุงหน้าเว็บใหม่ในครั้งนี้จึงทำให้ผมหนาวๆ ร้อนๆ พอสมควร และไม่กล้าโพสต์ข่าวใหม่แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่ของสำนักข่าวจะแจ้งมาว่าสามารถทำงานได้ตามปกติแล้ว
แต่เมื่อลองทำงานหลังจากเว้นว่างไปเพียง 1 คืน ต้องยอมรับว่าการถ่ายโอนข้อมูลเที่ยวนี้เป็นไปอย่างค่อนข้างเรียบร้อย หน้าเว็บใหม่ใช้งานต่อเนื่องได้อย่างราบรื่นเกือบ 100% แถมยังดูข่าวผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งระบบปฏิบัติการเเอนดรอยด์ และระบบปฏิบัติการไอโอเอส (ไอโฟน ไอแพด) ได้เหมือนกับการรับชมทางคอมพิวเตอร์ เพียงคลิกที่ Switch to desktop version ซึ่งอยู่ด้านล่างสุดของเว็บไซต์เท่านั้น (กรณีรับชมเว็บไซต์ผ่านสมาร์ทโฟน)
ตอนนี้เท่าที่พบก็คือจุดผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งกำลังพยายามเก็บรายละเอียดกันอยู่ รวมทั้งการลิงค์ข้อมูลที่เป็นข่าวหรือสกู๊ปข่าวเก่าๆ เท่าที่ผมลองสืบค้นดู บางชิ้นยังมีปัญหาไม่ลิงค์กัน อาจเป็นเพราะการถ่ายโอนข้อมูลยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็เป็นได้ คงต้องรอดูไปอีกระยะหนึ่งครับ
เรื่องการถ่ายโอนข้อมูลเก่านี้ผมค่อนข้างเป็นห่วง เพราะสำหรับข่าวภาคใต้ไม่มีสำนักไหนรายงานต่อเนื่องเท่าศูนย์ข่าวอิศราอีกแล้ว ข้อมูลจำนวนไม่น้อยจึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการค้นคว้า อาจจะเพื่อการศึกษา ทำวิทยานิพนธ์ เพื่อการทำความเข้าใจสถานการณ์ หรือแม้แต่ผู้ที่ต้องเตรียมตัวเตรียมการลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าข้อมูลทั้งข่าว สกู๊ปข่าว สารคดี และสัมภาษณ์พิเศษในช่วงปีแรกๆ สูญหายไปเกือบหมดจากการปรับหน้าเว็บครั้งใหญ่เมื่อหลายปีก่อน สาเหตุเพราะเดิมออกแบบหน้าเว็บไว้แบบมือสมัครเล่น ไม่ใช่เว็บข่าวมืออาชีพ เนื่องจากสมาคมนักข่าวฯวางแผนเอาไว้ว่าจะให้เป็นเว็บข่าวเฉพาะกิจตอนทำโครงการนำร่อง "ศูนย์ข่าวสันติภาพ" เท่านั้น เมื่อการทำงานยืดเยื้อต่อเนื่องมาจึงต้องปรับหน้าเว็บไซต์ให้สมกับเป็นเว็บข่าวมืออาชีพ ช่วงนั้นแหละครับที่ข้อมูลเก่าๆ สูญหายไปเยอะ เพราะเปลี่ยนยูอาร์แอลใหม่ และยกเครื่องใหม่ทั้งหน้าบ้าน-หลังบ้าน
อย่างไรก็ดี ผมทราบว่ามีสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดเก็บข้อมูลเกือบทุกชิ้นของศูนย์ข่าวอิศราเอาไว้ในรูปแบบคล้ายๆ ไฟล์เอกสารออนไลน์ ซึ่งยังสามารถสืบค้นได้ แต่อาจจะยากสักนิดหนึ่งสำหรับคนที่ไม่ทราบหัวข้อข่าวที่เป็น "พาดหัว" ชัดเจนว่าใช้ว่าอะไร เพราะงานส่วนใหญ่เขียนในรูปของข่าวหรือสกู๊ปข่าว แต่ถึงกระนั้นผู้ที่ต้องการข้อมูลก็ยังสามารถติดต่อมาที่ผมได้ครับ เพราะผมร่วมงานกับศูนย์ข่าวอิศราเกือบทุกช่วงเวลา พาดหัวข่าวเกือบทั้งหมดจึงเคยผ่านตาและพอจะช่วยนำทางการสืบค้นข้อมูลได้พอสมควร
สำหรับหน้าเว็บไซต์ของศูนย์ข่าวอิศราแม้จะมีการปรับปรุงค่อนข้างบ่อย แต่สิ่งที่ไม่เคยปรับเปลี่ยนเลยคือการรายงานข่าวอย่างมืออาชีพ โดยพยายามเน้นความเป็นกลาง รอบด้าน และสื่อสารเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องมากที่สุด หลายเรื่องเมื่อนำเสนอในช่วงต้นๆ อาจมีคนไม่เข้าใจ เพราะอาจจะไปขัดกับแนวคิดของบางคน บางกลุ่ม แต่พอนานไปก็เข้าใจ และน่าจะพิสูจน์ได้ถึงจุดยืนของศูนย์ข่าวอิศรา
ตัวอย่างล่าสุดก็คือเรื่องโต๊ะพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ซึ่งศูนย์ข่าวอิศรานำเสนอข่าวในเชิงตรวจสอบมาตลอด โดยเฉพาะการใช้วิธีการพูดคุยแบบ "เปิดเผย" ไม่ใช่ "ปิดลับ" เหมือนครั้้งก่อนๆ ซึ่งนอกจากจะมีคำถามเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง และคณะพูดคุยฝ่ายไทยค่อนข้างเสียเปรียบในหลายประเด็นแล้ว ยังมีความอ่อนไหวทำให้เกิดเหตุรุนแรงถี่ขึ้นในห้วงเวลาก่อนและระหว่างการพูดคุยแต่ละครั้งจนก่อความสูญเสียตามมาอย่างมากด้วย โดยอาจเป็นฝีมือของกลุ่มที่ต่อต้านการพูดคุย
ช่วงนั้นบางฝ่ายที่สนับสนุนการพูดคุยเจรจาอย่างสุดตัวก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และต่อว่าศูนย์ข่าวอิศรา แถมยังจัดให้อยู่ในกลุ่ม "ล้มเจรจา" หรือ "ขัดขวางสันติภาพ" กันเลยทีเดียว จนผมต้องเขียนคอลัมน์ชี้แจงแถลงไข
กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อบางแขนงในท้องถิ่นนำเสนอข่าวโดยอ้างแหล่งข้อมูลต่างๆ ว่าจะมีการล้มโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ข่าวอย่างเบาๆ ก็ระบุถึงการเลื่อนนัดพูดคุยจากวันที่ 18 ส.ค.ออกไปอย่างไม่มีกำหนด หรือไม่ก็ คุณฮัสซัน ตอยิบ ถูกถอดจากหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็นแล้ว ขณะที่สื่อกระแสหลักบางสื่อไปถึงขั้นว่า คุณฮัสซัน ถูกปลดจากประธานสภาบีอาร์เอ็นแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนเลยว่าสภาของบีอาร์เอ็นนั้นประกอบด้วยใครบ้าง และคุณฮัสซันเป็นประธานสภาจริงหรือเปล่า
ศูนย์ข่าวอิศราได้พยายามนำเสนอทั้งข้อมูลและบทวิเคราะห์เพื่ออธิบายความเป็นไปได้ของข่าวเหล่านั้น โดยเฉพาะที่ว่าเลื่อนหรือล้มการพูดคุยวันที่ 18 ส.ค. ทั้งที่จริงๆ แล้ววันที่ 18 ส.ค.เป็นวันครบ 40 วันของข้อตกลงลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนบวกกับ 10 วันแรกของเดือนเซาวาล (ช่วงของเทศกาลฮารีรายอ และรายอ 6) ไม่ใช่วันนัดพูดคุยครั้งที่ 4 อย่างเป็นทางการ อีกทั้งนัดหมายการพูดคุยครั้งที่ 4 ก็ยังไม่มีการนัด เพียงแต่กำหนดกรอบกว้างๆ ว่าจะหารือกันหลังรอมฎอนหรือผ่าน 40 วันของการลดเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอน ฉะนั้นเมื่อยังไม่นัดแล้วจะเลื่อนได้อย่างไร ฯลฯ
ตลอดสัปดาห์ของการทำความเข้าใจ ก็เลยกลายเป็นว่าศูนย์ข่าวอิศราถูกวิจารณ์จากอีกกลุ่มความคิดหนึ่งว่าเป็นผู้พิทักษ์โต๊ะพูดคุยสันติภาพไปเสียแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะนี่คือตัวอย่างของการนำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง ตามเนื้อผ้า และไม่มีธงล่วงหน้าครับ
สุดท้ายก็ขอต้อนรับสู่หน้าเว็บไซต์ที่ปรับปรุงใหม่ แต่เนื้อหาภายในยังเข้มข้น เป็นกลาง และรอบด้านเหมือนเดิม!