สอบ “มาราธอน” ความรับผิดทางละเมิด "จนท." คดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
สอบ “มาราธอน” คดีความรับผิดทางละเมิด จนท. โครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ (บ่อบําบัดน้ําเสีย คลองด่าน) ผ่านไปเกือบ 10 ปี -“ปธ.” สอบเกษียณไปแล้ว ยังไม่ได้ข้อยุติ
ในขณะที่ นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กำลังอยู่ระหว่างการหลบหนีคดีการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยไม่ชอบ ในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะติดตามตัวกลับมาดำเนินคดีได้เมื่อไร
การสอบสวนความรับผิดทางละเมิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในคดีโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีความเชื่อมโยงกับคดีของ นายวัฒนา ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่ได้ข้อยุติเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณีอดีตข้าราชการในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้าราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง และข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิดในโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเรื่องหารือเข้ามา
หลังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ คดีนี้ ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นร่วมกันโดยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามคำสั่งกรมควบคุมมลพิษเลขที่ 372/2549 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 ได้รายงานผลการสอบสวนไปยังผู้แต่งตั้งรวมได้พิจารณาแล้ว
โดยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เห็นชอบกับผลการสอบสวน แต่ผู้แต่งตั้งคนอื่น เห็นว่าควรมีการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และจะต้องมีการเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการคนใหม่ เนื่องจากประธานกรรมการคนเดิม ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดสำนักเลขาธิการนายกฯ เกษียณอายุราชการไปแล้ว
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว และปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดขึ้นใหม่ และอยู่ระหว่างให้ผู้แต่งตั้งลงนาม ส่งผลให้คำสั่งแต่งตั้งเดิมถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
คณะกรรมการกฤษฎีกา จึงไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาข้อหารือเรื่องอำนาจของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับความอำนาจร่วมในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดใหม่แต่อย่างใด
ส่วนข้อสงสัยทางกฎหมายว่า เลขาธิการนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดหรือไม่ เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดสังกัดอยู่ในขณะที่ความเสียหายเกิดขึ้น หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษ ได้จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดใหม่ นั้น
คณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้อยู่ในข่ายว่าเป็นผู้กระทำละเมิดสังกัดอยู่ในขณะที่มีการกระทำละเมิด สำนักเลขาธิการนายกรัฐ จึงไม่ใช่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
ดังนั้น เลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจร่วมแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้จัดส่งความเห็นดังกล่าวไปยังสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้รับทราบเรียบร้อยแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐถูกระบุว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการนี้ ซึ่งมีวงเงินลงทุนสูงจำนวน 20,000 กว่าล้านบาท มีจำนวนมากกว่า 10 คน ขึ้นไป และมีบางส่วนที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง อาทิ นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นต้น