อดีตบิ๊กปตท. ยันไทยขาดแผนแม่บทพลังงาน-ชง ‘นิวเคลียร์-ไฮโดรเจน’ ทดแทน
อดีตกก.ผจก.ใหญ่ ปตท.สผ. คาดอีก 8-10 ปี น้ำมันร่อยหรอ จี้ผุดแผนแม่บทจัดการพลังงานรูปธรรม เสนอ ‘นิวเคลียร์-ไฮโดรเจน’ ทดแทน แต่ต้องศึกษาความปลอดภัยเคร่งครัด
วันที่ 13 ส.ค. ที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นายมารุต มฤคทัต อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจากปัจจุบันมองไปในอนาคต’ ว่า รู้สึกเป็นห่วงเกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงานของไทย เพราะปัจจุบันยังขาดแผนแม่บทการขับเคลื่อนด้านพลังงานที่เป็นรูปธรรม ขณะที่ปริมาณพลังงานในประเทศคาดการณ์อีก 8-10 ปีข้างหน้า ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะลดน้อยลงมาก
ส่วนน้ำมันที่ไทยสามารถผลิตเองได้เพียง 15% ของการใช้ทั้งหมดนั้นจะลดน้อยลงเช่นกัน แม้จะมีข่าวพบแหล่งน้ำมันในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย ซึ่งเป็นความจริง เช่น แหล่งสิริกิติ์ แหล่งน้ำพอง แหล่งฝาง รวมถึงอ่าวไทย แต่อนาคตคงเจอเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอสำหรับการใช้ในปัจจุบัน
นายมารุต กล่าวถึงพื้นที่มีพลังงานมาก คือ1.พื้นที่ทะเลอันดามัน ซึ่งต้องใช้การลงทุนสูง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ลึกเกินไป และ 2.พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย ที่ยังติดปัญหาเรื่องการเมือง ดังนั้นจึงไม่สามารถดำเนินการได้ใน 2 พื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น อนาคตเมื่อพลังงานในไทยลดน้อยลง ทางออกที่ดีที่สุด คือ การนำ ‘ระบบนิวเคลียร์และไฮโดรเจน’ มาทดแทน พร้อมยอมรับปัจจุบันไทยยังขาดมาตรการรองรับเรื่องความปลอดภัยในระบบดังกล่าวอยู่มาก ซึ่งหากจะมีการสร้างก็ควรศึกษาผลกระทบรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม อดีตกรรมการผู้จัดการ ปตท.สผ.กล่าวว่า ตนเองเห็นด้วยกับแนวคิดนำพลังงานทดแทนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานจากพืช หรือสาหร่าย มาใช้ในประเทศ แต่พลังงานเหล่านั้นเป็นเพียงการเสริม เพราะคงไม่สามารถทดแทนพลังงาน 80% ของโลกได้ จึงเห็นว่า ‘ระบบนิวเคลียร์และไฮโดรเจน’ เหมาะสมที่จะมาแทนที่พลังงานฟอสซิล เพียงแต่ต้องเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยทั้งอุปกรณ์และผู้ปฏิบัติงาน ที่สำคัญต้องให้ความรู้กับประชาชน โดยคาดว่าไทยต้องมีกระบวนการศึกษาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
“อยากเห็นภาพรวมแผนการใช้พลังงานครบวงจรในอนาคต ว่าสุดท้ายพลังงานใดจะเข้ามาแทนที่ ในสัดส่วนมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นจิ๊กซอว์ขับเคลื่อนจริงจัง” นายมารุต กล่าว และว่า ทิศทางการพัฒนางานวิจัยด้านพลังงานของไทยก็ควรมีการต่อยอดจากงานวิจัยเดิมมากกว่าการริเริ่ม รวมถึงการร่วมมือวิจัยระหว่างประเทศด้วย ซึ่งมองว่ายังไม่สายเกินไปกับการวิจัยด้านพลังงานของไทย
สำหรับเเนวโน้มราคาน้ำมันในอนาคตนั้น อดีตกก.ผจก.ใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า เป็นเรื่องคาดการณ์ยาก เเต่ทางทฤษฎีจะมีผลให้น้ำมันขึ้นราคาจากปัจจัยการผลิตน้ำมันในพื้นที่ต้นทุนต่ำลดน้อยลง ประกอบกับมีการเก็งกำไรมากขึ้นนั่นเอง ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลราคาน้ำมันลดลงนั้น เกิดจากเศรษฐกิจในยุโรปเเละอเมริกาอ่อนเเอ รวมถึงขาดความเป็นหนึ่งในองค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organization of Petroleum Exporting Countries:OPEC)
เมื่อถามถึงเหตุการณ์น้ำมันรั่วลอยขึ้นอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด นายมารุต กล่าวว่า ยังไม่ทราบสาเหตุของน้ำมันรั่วที่แน่ชัด แต่สำหรับตนเองจะให้ความสำคัญกับเรื่องระบบความปลอดภัยเป็นพิเศษ เพราะคือหัวใจของงาน เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นสารอันตราย ดังนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
ส่วนบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี แสดงความรับผิดชอบอย่างไรนั้น ตนเองไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์เพราะไม่ได้ลงพื้นที่มากนัก แต่สิ่งที่สังเกตได้ คือ การให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาลต้องเร่งแก้ไข
ที่มาภาพ: http://info.gotomanager.com/photos/collection.aspx?id=6910&pid=15961