นักวิชาการชี้เป็นไปได้ 2 ทาง เหตุปลดฟ้าผ่ารมว.พลังงานพม่า
"ดุลยภาค ปรีชารัชช" ไม่ฟันธง ปลดรมว.พลังงานพม่ากะทันหัน ต้นเหตุจากการให้สัมปทาน ปตท.สผ. หรือไม่ แต่แนะทำธุรกิจประเทศนี้ ต้องจับขั้วอำนาจให้ถูก ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
นายมารุต มฤคทัต อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จำกัด (มหาชน) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราต่อกรณีสื่อมวลชนในพม่ารายงานข่าวการสั่งปลดนายอู ถั่น เต จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของพม่ากะทันหัน เนื่องจากการให้สัมปทานปตท.สผ.โดยไม่ผ่านการประมูลนั้น เป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศมากกว่า
นายมารุต กล่าวถึงข้อเท็จจริงการให้สัมปทานแปลงสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ 2 แปลง ที่รู้จักกันในชื่อ MD-7 และ MD-8 ให้กับปตท.สผ. ว่า พื้นที่ดังกล่าวมิได้โดดเด่นอย่างที่หลายคนคิด ประกอบกับการมอบแปลงสัมปทานนี้เป็นไปอย่างเปิดเผย ส่วนจะเกี่ยวกับธรรมาภิบาลของปตท.สผ. ตนไม่ทราบ
ขณะที่นายดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา โดยวิเคราะห์ว่า กรณีนายอู ถั่น เต รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของพม่า และ อู ติน อ่อง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานของพม่า ลงจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน อาจมี 2 สาเหตุ ทั้งเรื่องการเมืองภายในของพม่าเอง รวมถึงความโปร่งใสของการให้สัมปทาน เนื่องจากพลเอกเต็ง เส่ง ประธานธิบดีพม่า เน้นเรื่องหลักธรรมาภิบาลในการบริหาร ยึดเอาความโปร่งใสเป็นตัวตั้ง ฉะนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่ามีข่าววงใน ในรัฐบาลพม่าพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมนตรีอู ถั่น เต กับไทย ซึ่งหากมีความสัมพันธ์ที่ดูมากเกินไปจนส่งผลกระทบมาถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาลจะมีการปลด ก็เป็นเรื่องปกติ
เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ ปตท.สผ.ในสายตาคนพม่า นายดุลยภาค กล่าวว่า คนพม่ามองภาพลักษณ์ของปตท.ไทยเป็นไปในด้านลบ ดังนั้นจึงอยากเตือนปตท.ว่า รัฐบาลชุดใหม่ของพม่ามาจากทหารบางส่วน และบางคนก็ได้นั่งอยู่ในครม. ซึ่งทหารที่เคยรบกับไทยจะรู้ว่า อะไรเป็นอะไร ฉะนั้นเขาจึงมีความหวาดระแวงไทย โดยมองว่าไทยจะเข้ามาขูดรีดทรัพยากร เข้ามาเอาเปรียบ และเป็นเพื่อนบ้านที่จ้องจะหุบทรัพยากรของพม่า เนื่องจากทรัพยากรของไทยมีไม่เพียงพอ
“ดังนั้น การทำธุรกิจสัมปทานในพม่าจำเป็นต้องเข้าขั้วอำนาจให้ถูก เพราะหากไปขัดผลประโยชน์ของผู้ที่มีอำนาจมากกว่า อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ ซึ่งอาจจะโดนยึดทรัพย์หรือไม่ก็ยึดสัมปทานก็เป็นได้”
ส่วนข้อกังขาเรื่อง "บรรษัทภิบาล" ของเอกชนไทยที่เมื่อเข้าไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศนั้น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราค้นข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2551-ปัจจุบัน ปตท.สผ. ได้รับรางวัลในการบริหารจัดการและการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล จากองค์กรในประเทศไทยและต่างประเทศหลายรางวัลด้วยกัน
ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีการชี้แจงในเว็บไซต์ถึงกรณีที่มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนเกี่ยวกับแปลงสำรวจ MD-7 และ MD-8 ในอ่าวเมาะตะมะ สหภาพเมียนมาร์ว่า
"ปตท.สผ.ขอปฎิเสธเกี่ยวกับความไม่โปร่งใส และยืนยันว่า ไม่มีการให้สินบนเกี่ยวกับการได้สิทธิในแปลงสำรวจดังกล่าว และขอชี้แจงว่าทางบริษัทฯได้มีการเจรจาเกี่ยวกับแปลงสำรวจ MD-7 และ MD-8 มาตั้งแต่ต้นปี 2553 และเมื่อต้นปี 2556 คณะรัฐมนตรีของสหภาพเมียนมาร์ได้อนุมัติสิทธิการสำรวจในแปลงดังกล่าวให้กับ ปตท.สผ. ก่อนที่สหภาพเมียนมาร์จะมีการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจปิโตรเลียมในทะเลในกลางปี 2556 ซึ่งทั้งสองแปลงตั้งอยู่ในทะเลลึก และเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับแปลงสำรวจอื่น ๆ ในทะเลอันดามันฝั่งไทยที่ ปตท.สผ.มีการสำรวจอยู่แล้ว ซึ่งสามารถประสานการดำเนินการร่วมกันได้ ทั้งนี้ แปลงสำรวจ MD-7 และ MD-8 ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน จึงยังไม่ทราบว่ามีปริมาณน้ำมันและก๊าซฯ อยู่หรือไม่ หรือมากน้อยเพียงใด
ตลอดการดำเนินธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในสหภาพเมียนมาร์กว่า 20 ปี และในฐานะที่เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ปตท.สผ. มีแนวทางการบริหารงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน"
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/decharut.sukkumnoed?fref=ts