สถิติเจาะลึกความสูญเสียห้วงรอมฎอน-เจรจา กับ 3 ปัจจัยหนุนตัวเลขสวย!
ยังคงมีปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องสำหรับข้อมูลสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่มีข้อตกลงลดเหตุรุนแรงร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ
สถิติที่ประกาศออกมาแล้ว หลักๆ เป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปภาพรวมก็คือเหตุรุนแรงและอาชญากรรมทั่วไปในแง่จำนวนไม่ได้ลดลง ทว่ายอดผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
รอมฎอนปี 56 ประชาชนสูญเสียน้อยสุด
ล่าสุดหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงได้รวบรวมสถิติเจาะลึกลงไปในประเด็นความสูญเสีย เปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาเลยทีเดียว เริ่มจากตัวเลขผู้เสียชีวิตห้วงเดือนรอมฎอนตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2556 (แต่ละปีตรงกับปฏิทินสากลคนละเดือนกัน)
ปี 2547 จำนวน 24 ราย แยกเป็นประชาชน 15 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 7 ราย
ปี 2548 จำนวน 35 ราย แยกเป็นประชาชน 12 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 11 ราย
ปี 2549 จำนวน 34 ราย แยกเป็นประชาชน 41 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 9 ราย
ปี 2550 จำนวน 61 ราย แยกเป็นประชาชน 41 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 16 ราย
ปี 2551 จำนวน 40 ราย แยกเป็นประชาชน 30 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 10 ราย
ปี 2552 จำนวน 41 ราย แยกเป็นประชาชน 24 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 17 ราย
ปี 2553 จำนวน 33 ราย แยกเป็นประชาชน 18 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 15 ราย
ปี 2554 จำนวน 37 ราย แยกเป็นประชาชน 28 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 10 ราย
ปี 2555 จำนวน 32 ราย แยกเป็นประชาชน 14 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 17 ราย
ปี 2556 จำนวน 23 ราย แยกเป็นประชาชน 9 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 13 ราย
ทั้งนี้ ตัวเลขที่แยกเป็นประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ไม่นับรวมผู้เสียชีวิตที่มีสถานะอื่น เช่น ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น เป็นต้น
บทสรุปของตัวเลขสถิติชุดนี้ก็คือ ยอดผู้เสียชีวิตช่วงรอมฎอนเฉพาะที่เป็นประชาชนลดต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐแม้จะไม่ต่ำที่สุด แต่ก็อยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับรอมฎอนปีก่อนหน้า
ยอดตายตามกลุ่มอาชีพ ทหารพุ่ง-ชาวบ้านฮวบ
นอกจากนั้นยังมีการเก็บตัวเลขสถิติเฉพาะผู้เสียชีวิตในห้วงเวลาที่มีการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น (มี.ค.2556 นับถึง 9 ส.ค.2556) เทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปีอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2547 โดยแยกผู้เสียชีวิตตามกลุ่มอาชีพด้วย พบว่า
ปี 2547 มีผู้เสียชีวิตรวม 56 ราย แยกเป็นตำรวจ 28 นาย ทหาร 4 นาย ประชาชน 24 ราย
ปี 2548 มีผู้เสียชีวิตรวม 116 ราย แยกเป็น ตำรวจ 18 นาย ทหาร 8 นาย ประชาชน 90 ราย
ปี 2549 มีผู้เสียชีวิตรวม 146 ราย แยกเป็นตำรวจ 22 นาย ทหาร 9 นาย ประชาชน 115 ราย
ปี 2550 มีผู้เสียชีวิตรวม 330 ราย แยกเป็นตำรวจ 26 นาย ทหาร 59 นาย ประชาชน 245 ราย
ปี 2551 มีผู้เสียชีวิตรวม 107 ราย แยกเป็นตำรวจ 18 นาย ทหาร 10 นาย ประชาชน 79 ราย
ปี 2552 มีผู้เสียชีวิตรวม 112 ราย แยกเป็นตำรวจ 6 นาย ทหาร 20 นาย ประชาชน 86 ราย
ปี 2553 มีผู้เสียชีวิตรวม 114 ราย แยกเป็นตำรวจ 11 นาย ทหาร 16 นาย ประชาชน 87 ราย
ปี 2554 มีผู้เสียชีวิตรวม 110 ราย แยกเป็นตำรวจ 10 นาย ทหาร 21 นาย ประชาชน 79 ราย
ปี 2555 มีผู้เสียชีวิตรวม 133 ราย แยกเป็นตำรวจ 14 นาย ทหาร 24 นาย ประชาชน 95 ราย
ปี 2556 มีผู้เสียชีวิตรวม 117 ราย แยกเป็นตำรวจ 12 นาย ทหาร 56 นาย ประชาชน 49 ราย
บทสรุปของตัวเลขชุดนี้คือ ห้วงพูดคุยสันติภาพปี 2556 มีประชาชนเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงน้อยที่สุดตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา มากกว่าปี 2547 เพียงปีเดียว และยังลดลงกว่าปี 2555 ถึงเกือบครึ่ง คือ 46 ราย แต่ที่น่าสังเกตคือการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นของทหารถึง 56 นาย เป็นอันดับ 2 เทียบกับทุกปีของ 9 ปีไฟใต้ เป็นรองเพียงปี 2550 เพียงปีเดียว ซึ่งมีทหารเสียชีวิตถึง 59 นาย
จับตา 3 ปัจจัยเสริมหนุนตัวเลขสวย
แม้หลังการริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพและข้อตกลงลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนจะทำให้ยอดผู้สูญเสียโดยเฉพาะที่เป็นประชาชนลดจำนวนลง แต่ก็มีการบ้านที่ต้องไปวิจัยเจาะลึกกันต่อว่าสาเหตุที่ยอดคนตายลดลงเป็นเพราะอะไร เพราะน่าจะมีปัจจัยเสริมอีกหลายปัจจัย เช่น
1.ผู้ก่อความไม่สงบเปิดตัวว่าคือกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว และยังเปิดหน้าสำหรับกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ด้วย ฉะนั้นการโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ (ประชาชนทั่วไป คนแก่ เด็ก สตรี) ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการถูกประณามและลดทอนความชอบธรรมทั้งในพื้นที่และสังคมโลก จึงเป็นสภาพบังคับให้ผู้ก่อความไม่สงบโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับนายฮัสซันต้องปรับเป้า เน้นโจมตีเฉพาะเป้าหมายแข็งแรงเท่านั้น นั่นเท่ากับมูลเหตุของปัญหายังคงอยู่ เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการแสดงอาการเท่านั้น
2.เจ้าหน้าที่กับผู้ก่อความไม่สงบรู้เท่าทันยุทธวิธีกันมากขึ้น แม้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบใช้วิธีรบแบบกองโจรอย่างไม่เปิดเผยตัวมาตลอด แต่เมื่อรบกันมาร่วม 10 ปี ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มจับทางได้บ้าง สมาชิกฝ่ายก่อการก็ถูกจับกุมไม่น้อย ประกอบกับการใช้ทหารพราน และอาสารักษาดินแดน (อส.) ซึ่งเป็นคนพื้นที่ ทำให้จับสังเกตความเป็นไปได้ดี รู้จักสภาพพื้นที่ และทำให้การข่าวดีขึ้น สามารถป้องกันเหตุรุนแรงได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองที่สร้างความเสียหายขนาดใหญ่ เช่น เทศบาลนครยะลา
3.ประชาชนทั่วไปเองก็เริ่มปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น เพราะสถานการณ์ยืดเยื้อมานานนับสิบปีแล้ว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กราฟแท่งแสดงยอดผู้เสียชีวิตในห้วงเดือนที่มีการพูดคุยสันติภาพ คือ มี.ค.ถึง 9 ส.ค.2556 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีอื่นๆ ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ปี 2547 พบว่ายอดผู้เสียชีวิตลดลงเกือบต่ำที่สุดในรอบ 9 ปีไฟใต้