ความสุขเล็กๆ ของเด็กๆ วันรายอ กับแฟชั่น "สวย-หล่อ" ของชายหญิงมุสลิม
เทศกาลฮารีรายออีฎิ้ลฟิตรี หรือ รายอปอซอ ของพี่น้องมุสลิมชายแดนใต้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวที่สมควรบันทึกไว้ โดยเฉพาะความรู้สึกของเด็กๆ ที่ได้ร่วมสัมผัสวันหยุดและเทศกาลแห่งความสุขสนุกสนานครั้งสำคัญในรอบปี
หากเทียบอารมณ์และบรรยากาศในวันรายอกับเทศกาลของคนไทยพุทธ น่าจะมีอารมณ์ใกล้เคียงกับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีทั้งพิธีกรรมทางศาสนาและกิจกรรมรื่นเริงผสมผสานกันไป คนส่วนใหญ่กลับไปเยี่ยมบ้านและเยี่ยมเยียนกันเสมือนหนึ่งวันรวมญาติ และหลายคนยังใช้เทศกาลนี้ในการตั้งปณิธานบางอย่างในชีวิต หรือเป็นหมุดหมายของการเริ่มต้นทำสิ่งดีๆ
เช้าตรู่ของวันรายอ เด็กๆ จะพร้อมใจกันตื่นเช้ากว่าทุกวันด้วยความตื่นเต้นเพื่อจะเดินไปมัสยิดกับพ่อแม่และคนในครอบครัว ระหว่างทางเด็กๆ แทบจะต้องแวะทุกบ้าน เพราะผู้ใหญ่มักเรียกให้ไปรับแจกเงิน กว่าจะเดินไปถึงมัสยิดก็สาย ราวๆ 7 โมงครึ่ง ทั้งๆ ที่หากเป็นวันปกติระยะทางระหว่างบ้านกับมัสยิดเดินแค่ไม่กี่นาทีก็ถึงแล้ว
จากนั้นเวลาประมาณ 8-9 โมง ผู้ใหญ่ก็จะทำพิธีละหมาดที่มัสยิด ส่วนเด็กๆ ก็จะเตรียมตัวรอรับเงินบริจาคอีกรอบช่วงที่ผู้ใหญ่ละหมาดเสร็จ จากนั้นก็จะพากันกลับบ้านเพื่อรอต้อนรับผู้มาเยือน บางบ้านถือเอาวันนี้เป็นวันรวมญาติไปในตัว
คอรีเยาะ เงาะตาลี เด็กหญิงวัย 9 ขวบ บอกว่า รู้สึกดีใจมากเมื่อวันรายอมาถึง มีความสุขที่ได้ไปมัสยิด ได้เห็นผู้ใหญ่ไปมัสยิดเยอะๆ เห็นแล้วชอบ เพราะที่มัสยิดทุกคนจะยิ้มและมีความสุข ทำให้เด็กๆ อย่างเธอมีความสุขไปด้วย
"อยากให้วันรายอมีเวลายาวนานกว่านี้ ทุกคนจะได้มีความสุขนานๆ อยากให้ทุกคนมีความสุข ชอบที่ได้ยินเสียงทุกคนขอโทษและบอกอภัยซึ่งกันและกัน เพราะถ้าทุกคนไม่โกธรกันก็จะไม่มีการทะเลาะกัน และปัญหาก็จะไม่มี"
คอรีเยาะ บอกด้วยว่า วันรายอปีนี้ขอดุอาจากอัลลอฮ์ว่า ขอให้ตัวเองได้ทำสิ่งที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา จะได้เป็นคนดีของทุกคน จะเชื่อฟังพ่อแม่ ไม่เกเร และตั้งใจว่าปีนี้จะช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านให้มากกว่าเดิม จากเดิมที่มีหน้าที่กวาดบ้านก่อนไปโรงเรียน เมื่อกลับจากโรงเรียนตอนเย็นก็มีหน้าที่เก็บเสื้อผ้าที่แม่ตากเอาไว้มาพับเก็บใส่ตู้ และวันเสาร์อาทิตย์ก็ต้องไปช่วยแม่เก็บขี้ยาง แต่ปีนี้ตั้งใจจะช่วยแม่เอาแพะออกจากคอกและถอนหญ้าใต้ต้นพริกที่แม่ปลูกหลังบ้านด้วย แม่จะได้ไม่ต้องเหนื่อย
"หนูจะพยายามช่วยแม่ประหยัดเงินด้วยการกินแต่ของที่มีประโยชน์ ไม่กินขนมที่ไม่มีประโยชน์ เพราะถ้าเรากินของมีประโยชน์ จะทำให้เราอิ่มนาน ร่างกายแข็งแรง เงินที่เหลือก็เอาไปเก็บใส่กระปุกได้ สำหรับเงินที่หยอดกระปุกได้จะเตรียมไว้สำหรับซื้อเสื้อผ้าใหม่รายอปีหน้า แม่จะได้ไม่ต้องทำงานหาเงินมาซื้อเสื้อผ้ารายอให้" คอรีเยาะบอก
ฟุรกอน หะยีบากา เด็กน้อยวัย 6 ขวบ เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า ปีนี้ได้ไปดูดวงจันทร์ที่บูเก๊ะปาเระ (ศาลาชมดวงจันทร์ อ.ยะหา จ.ยะลา) ก่อนจะออกบวช (เริ่มถือศีลอด) โดยไปกับพี่ชาย รู้สึกดีใจและมีความสุขที่ได้ไปดูดวงจันทร์เอง และปีนี้ได้ปอซอด้วย (ถือศีลอด) ได้อ่านอัลกุรอานเหมือนเป็นผู้ใหญ่เลย
ส่วนวันรายอปีนี้ไม่ได้ซื้อเสื้อผ้าใหม่ เพราะแม่ไม่มีเงิน แต่ก็ยังรู้สึกมีความสุขที่เห็นคนอื่นมีชุดใหม่ แม้เราไม่มีเงินก็ไม่ท้อ ไม่เป็นไร แม่บอกว่าปีหน้าแม่จะตัดยางซื้อให้
"ไม่มีชุดใหม่ก็รายอได้ ไม่มีใครห้ามเลย ตั้งใจว่าจะเก็บเงินที่ได้รับบริจาคปีนี้ใส่กระปุ่กเพื่อซื้อชุดรายอของปีหน้า สิ่งที่ดีใจที่สุดในปีนี้คือได้ไปดูดวงจันทร์ สนุกดี ได้ของแจกจาก ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และยังได้กินข้าวเนื้อผัดที่อร่อยที่สุด ผู้ใหญ่ก็ใจดี เอาน้ำเอาของมาให้เด็กๆ รู้สึกมีความสุขมาก โดยเฉพาะตอนที่ได้นั่งรถตำรวจขึ้นบูเก๊ะปาเระ (ภูเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลาชมดวงจันทร์) มีความรู้สึกเท่มาก โต้ขึ้นอยากเป็นตำรวจ ชอบชุดเขา เท่ที่สุดเลย"
ฮายาตี มามะ สาวรุ่นวัย 15 ปีจาก อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี บอกว่า ปีนี้ได้ไปเยี่ยมญาติที่ อ.ยะหา จ.ยะลา รู้สึกดีใจมากเพราะไมได้ไปเยี่ยมกันหลายปีแล้ว ญาติก็ใจดี ต้อนรับเป็นอย่างดี อาหารที่เตรียมไว้ก็พิเศษทั้งหมด มีของกินเยอะมากและอร่อยทุกอย่าง
ขณะที่ มูนา ดาเล็ง เยาวชนสาววัย 20 ปีจาก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส บอกว่า ปีนี้ที่บ้านเชือดวัว 1 ตัวสำหรับเลี้ยงญาติทุกคนที่แวะมาเยี่ยมที่บ้าน เพราะปีนี้ญาติๆ ที่ไปทำงานมาเลเซียกลับมาเกือบครบ พ่อกับแม่ก็เลยซื้อวัวเชือดเพื่อฉลอง
"รู้สึกมีความสุขเพราะทำให้ได้รู้ว่าตัวเองมีญาติเยอะมาก มีทั้งที่อยู่ใน จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ดีใจที่ญาติเยอะ เวลาไปไหนจะได้มีคนดูแลเรา" มูนาบอก
ดังที่เด็กๆ หลายคนเล่าว่าเทศกาลรายอเป็นเทศกาลที่คนมุสลิมนิยมสวมเสื้อผ้าใหม่ แถมยังต้องสีสันสดใส ฉะนั้นช่วงใกล้เทศกาลรายอ บรรยากาศการจับจ่ายซื้อของจึงคึกคักมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะที่ จ.ปัตตานี เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
บริเวณเยื้องมัสยิดกลางปัตตานี คือ ตลาดนัดเทศบาลเมือง เป็นตลาดใหญ่ศูนย์รวมร้านจำหน่ายเสื้อผ้า เปิดขายทุกวันจันทร์ พฤหัสบดี และเสาร์ เป็นตลาดหนึ่งที่ได้รับความนิยม มีลูกค้าไปเลือกซื้อหาเสื้อผ้า รองเท้ากันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะหมวกกะปิเยาะห์ ผ้าโสร่งหญิง-ชาย ฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิม) เสื้อโต๊บ (เสื้อสำหรับชายมุสลิม) ชุดละหมาด และกระเป๋า ซึ่งมีให้เลือกกันหลากหลายรูปแบบตามแต่ปัจจัยในกระเป๋าสตางค์
อดุลย์ ฮิสาเฮาะ หนุ่มมุสลิมเจ้าของร้านขายโสร่งนำเข้าจากอินโดนีเซีย บอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มักเลือกซื้อไปเป็นของขวัญให้พ่อ สามี ลูกชาย และญาติผู้ชาย
"ปีที่แล้วขายดีมากที่สุดเทียบกับหลายปีที่ขายมา แต่ปีนี้ยังได้ไม่ถึงครึ่งของปีที่แล้ว อาจเป็นเพราะค่าครองชีพสูงขึ้น ของก็แพงขึ้น ลูกค้าจึงซื้อเท่าที่จำเป็น ซ้ำลูกค้ายังต่อราคาเยอะ แต่ภาพรวมยังถือว่าโอเคอยู่ ขายได้เรื่อยๆ ขายตามตลาดนัดทั้งนราธิวาส ยะลา และปัตตานี"
ฮาลีเมาะห์ อุมา เจ้าของร้านอีบายะห์ อาบูฮานาน ตรงสี่แยกถนนกลาพอ กลางเมืองปัตตานี เป็นร้านนำเข้าชุดอีบายะห์ (ชุดยาวสีดำสำหรับหญิงมุสลิม) จากมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และจากมาเลเซีย เธอเล่าว่าช่วงใกล้รายอลูกค้าเต็มทุกวัน ที่นี่เป็นสาขา 2 เปิดมาเกือบ 2 เดือน โดยนำเข้าชุดอีบายะห์จากมักกะฮ์ที่เนื้อผ้าคุณภาพดี ลวดลายถูกใจลูกค้าบ้านเรามาขาย ราคาตั้งแต่ 1,200-3,500 บาท รวมฮิญาบด้วย ราคาขึ้นกับแบบและลาย ส่วนร้านสาขา 1 เป็นชุดนำเข้าจากมาเลเซีย ราคาย่อมเยากว่า
"ชุดอีบายะห์แม้ราคาจะสูงแต่สวมใส่ได้ตลอดและใส่ได้ทุกโอกาส เพียงแต่นำไปประยุกต์ให้เข้ากับงานนั้นๆ"
ใกล้กับร้านอีบายะห์ อาบูฮานาน เป็นร้าน ดีน่า-ชิค (DEENA CHIC) ขายฮิญาบทั้งแบบพันและแบบสวม เป็นฮิญาบที่ไม่เหมือนตลาดทั่วไป เพราะนำเข้าผ้าจากเกาหลีใต้และจีน อีกทั้งเจ้าของร้านยังออกแบบเอง และขายกันในสนนราคาที่เป็นเจ้าของกันได้ไม่ยาก
ซูดีนา ดายะ เจ้าของร้านฮิญาบเก๋ๆ บอกว่า ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก ยิ่งช่วงใกล้วันรายอยิ่งต้องเปิดร้านตั้งแต่เช้าเพื่อต้อนรับลูกค้าที่เข้ามาเลือกซื้อกันตลอดทั้งวัน
"ร้านเราแบ่งเป็น 2 ร้านย่อย เน้นขายฮิญาบ ร้านหนึ่งเป็นแบบผ้าพัน ราคาร้อยเดียวทุกผืน ลูกค้าจะเป็นวัยรุ่นและคนทำงานเยอะ ส่วนอีกร้านอยู่ติดกันเป็นแบบสวม ลูกค้าจะเป็นผู้ใหญ่และคนทำงานที่ชอบแบบดูดี ราคาไม่แพง ตั้งแต่ 280-450 บาท เนื้อผ้าและลายไม่เหมือนที่อื่น เพราะเรานำเข้าผ้าจากเกาหลีกับจีน ตัดเย็บด้วยช่างมุสลิมที่มีนบุรี (กรุงเทพฯ)"
ซูดีนา บอกว่า ตลาดสินค้าแฟชั่นมุสลิมยังไปได้ไกล เพราะผู้หญิงชอบแต่งตัวและเลือกซื้อของถูกใจ ปีหน้าจะขยับขยายร้านเพื่อเปิดขายชุดอีบายะห์ด้วย
"แฟชั่นมุสลิมยังมีโอกาส เพราะมีแบบใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ลูกค้าก็ตอบรับดี เจ้าอื่นก็ขายกันโอเค ผู้หญิงมีกำลังซื้อเยอะ ในปัตตานีเองมีเยอะมาก การมีหลายร้านหลายแบบทำให้ลูกค้าได้มีตัวเลือก ร้านเรามีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่กลัวการก๊อปปี้ (ลอกเลียนแบบ) เพราะเขาจะหาเนื้อผ้าได้ไม่เหมือนเรา"
เป็นเรื่องราวดีๆ ของเทศกาลรายอที่บันทึกเอาไว้ ด้วยหวังเป็นพลังให้ทุกชีวิตได้โลดแล่นต่อไปบนวิถีทางแห่งตน...
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 คอรีเยาะ (คนซ้าย ชุดสีชมพู)
2 ฟุรกอน
3-5 บรรยากาศช่วงเช้าวันรายอ
6-8 การจับจ่ายซื้อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายก่อนเทศกาลรายอ (ภาพทั้งหมดโดย เลขา เกลี้ยงเกลา และ นาซือเราะ เจะฮะ)