วัฒนธรรมชักดาบเงินกู้กยศ. สะเทือนแรง!! คุณธรรมความรับผิดชอบเด็กไทย
จากกรณีปัญหานักศึกษากู้เงินเรียน แล้วไม่ชำระหนี้คืน นับวันจำนวนผู้กู้ยืมคิดจะไม่จ่ายเงินคืนกองทุนเมื่อจบการศึกษามีมากขึ้นทุกวัน สาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร ทางออกมีหรือไม่ สำนักข่าวอิศรา พาไปพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ผู้มีส่วนผลิตบัณฑิตไทยออกมาสู่สังคม
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตคณะกรรมการกองทุนกยศ. มองถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แบ่งจำนวนนิสิตนักศึกษาเป็น 2 ส่วน คือ
1.จบแล้วไม่มีงานทำจึงไม่ใช้คืน และ2.กลับอีกกลุ่มหนึ่งจบมามีงานทำ และชำระหนี้คืนมาบางส่วน หลังจากนั้นก็ไม่ใช้คืน เพราะคิดว่า ไม่ใช้คืนก็ไม่เป็นไร
“ในช่วงที่ผมยังเป็นคณะกรรมการกองทุนกยศ.อยู่ มีคนที่ไม่ชำระเลย 23% คนที่ชำระคืนบางส่วนและเลิกชำระ ประมาณ20% ซึ่ง ในแต่ละปีนับมูลค่าเงินที่ไม่ชดใช้คืนประมาณ49%”
สำหรับผู้ที่ค้างชำระหนี้เกินเวลาที่กำหนด อดีตกรรมการ กยศ. เล่าว่า เวลากยศ.ฟ้องก็ชนะ แต่นักศึกษาไม่มีเงินจ่ายต้องไปบังคับคดี ไปดำเนินคดีกับนักศึกษาที่ไม่มีเงิน และไม่มีทรัพย์ให้ยึด
ฉะนั้น ปัญหานโยบายที่เกิดขึ้น คือ รัฐบาลเข้าใจว่า เมื่อนักศึกษาเข้าเรียนแล้วการศึกษาจะช่วยให้นักศึกษามีงานทำ มีความรู้การศึกษาดีและมีรายได้จะทำให้สามารถชำระหนี้คืนได้ตามกำหนด นอกจากนี้ในหลายๆสถาบันการศึกษาที่ต้องการให้มีเด็กมาเรียนเยอะๆ ต่างก็มีการโฆษณากู้เงินให้นักศึกษาเข้ามาเรียนฟรีได้เลย สถาบันจะจัดการกู้ให้เอง กับกรณีดังกล่าว ศ.ดร.สมบัติ ให้ทัศนะว่า ควรให้สถาบันการศึกษานั้น มารับผิดชอบโครงการนี้ ปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็ก รุ่นน้องจะได้มีโอกาสกู้ด้วย
“ปัญหาใหญ่ของรัฐบาล คือ ตอนนี้มีบางกลุ่มไปร้องเรียนนักการเมืองอยากจะให้ปลดหนี้ ซึ่งมีการคัดค้านเพราะจะกระทบคนกับคนที่ชำระไปแล้ว ซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ ถ้าจะไม่ฟ้องก็ต้องแก้ไขกฎหมาย เพราะถ้ากยศ.ไม่ฟ้องถือว่า บกพร่องต่อหน้าที่ แต่พอต้องฟ้องก็ไม่ได้ผลอะไร”
มีตัวอย่างที่น่าสนใจในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เน้นความรับผิดชอบ จะมีการตั้งชำระเงินคืนของผู้กู้ ไม่มีข้อยกเว้น มีการติดตามจนกว่าจะชำระหนี้แล้วเสร็จ ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องคุณธรรมความรับผิดชอบ ที่อดีตกรรมการ กยศ. มองเห็นว่า “รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายให้ชัดเจน เพราะในขณะนี้มหาวิทยาลัยให้ความรู้แต่ไม่ให้คุณธรรมจริยธรรม บัณฑิตจบมาก็โกงเงิน เป็นความล้มเหลวเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ต้องมอบหมายหน่วยงานของการกู้เงินให้บอกนักศึกษา สอนให้มีจิตสำนึก ต้องรู้ว่ากู้ กู้ต้องชดใช้”
“ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยไม่สนใจ ไม่ได้ใส่ใจปลูกฝังขอแค่มีนักศึกษามาเรียนก็พอ ดังนั้นสถาบันต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น และถือเป็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัย คนที่โกงมีมากพอสมควร ดังนั้นการศึกษาไม่ควรผลิตคนประเภทนี้ออกไปสู่สังคม”
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีความเห็นเหตุที่เงินกู้กยศ. ที่มีนักศึกษาหรือนิสิตจำนวนหนึ่งกู้ไปแล้วไม่คืน เนื่องจากตัวผู้กู้ไม่ได้คำนึงถึงว่า ในอนาคตจะมีรุ่นน้องมากู้ต่อ และหากไม่คืนจะสร้างภาระให้กับทางรัฐบาลและส่งผลให้รุ่นน้องอาจขาดโอกาสในการกู้
“บางคนไม่เข้าใจระบบโครงการที่แท้จริงว่า กู้แล้วต้องใช้คืน ขั้นตอนการดำเนินการเป็นอย่างไรไม่ทราบ เนื่องจากไม่มีการอธิบายอย่างละเอียด รวมถึงการพูดถึงความสำคัญให้นักศึกษาตระหนักและเข้าใจว่าเงินที่กู้ไปนั้นต้องคืน มันมีประโยชน์ต่อรุ่นน้องที่จะมากู้ต่อ”
อีกทั้ง สิ่งที่ไม่ควรละเลยตั้งแต่ต้น นั่นก็คือ เจ้าหน้าที่จะต้องอธิบายอย่างละเอียดให้นักศึกษาเข้าใจ เห็นความสำคัญของเงินที่กู้ไป แต่หากชี้แจงชัดแจ้งให้เข้าใจแล้ว ยังไม่ชำระหนี้คืนอีก อธิการบดี มธบ. บอกว่า อย่างนั้นเรียกเจตนาทุจริต พร้อมแนะวิธีในการแก้ปัญหาให้แบ่งเป็น ในช่วงเริ่มต้นของการกู้จะต้องมีการแนะนำและสร้างความเข้าใจให้นักศึกษาเห็นว่า เงินที่กู้ไปนั้นเป็นเงินที่มีคุณค่า มีคุณค่าต่อรุ่นน้องในอนาคตที่ต้องการจะเรียน มีคุณค่าในการพัฒนาประเทศ หากไม่ชำระคืนจะส่งผลกระทบต่อผู้กู้ในช่วงต่อไป และให้ผูกรายชื่อของผู้กู้เข้าในระบบเครดิตยูโร หากไม่ชดใช้ภาระหนี้ก็มีประวัติหนี้เสียและไม่สามารถดำเนินกู้ซื้อบ้านหรือรถได้
ในส่วนของภาคเอกชนนั้น ทางรัฐบาลก็ต้องขอความร่วมมือไม่ให้รับนักศึกษาหรือนิสิตที่มีภาระหนี้แล้วไม่ชดใช้คืน ด้วยการตรวจสอบจากหมายเลขบัตรประชาชน โดยทำข้อมูลผูกกับระบบไว้ ที่ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงชื่อเพื่อหลบหนี แต่เลขบัตรประชาชนไม่เปลี่ยนแน่นอน
สุดท้าย คือ ห้ามให้นิสิตที่มีภาระผูกผันหนี้ที่ไม่ชดใช้เงินกู้ กยศ.สมัครสอบราชการ เพราะถือว่าคนที่จะมาเป็นราชการต้องไม่โกง
ทั้งหมดทั้งมวลของข้อเสนอที่อธิการบดี มธบ. บอกมาข้างต้นนั้นก็ต้องให้เวลานักศึกษาเตรียมตัวล่วงหน้าด้วย อาจจะ 1- 2 ปี แต่หากคนใดที่ยังเพิกเฉย ก็ดำเนินการขั้นเด็ดขาดได้
สุดท้าย ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพรฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กในปัจจุบันขอให้มองดูบริบททางสังคมด้วยว่า ทุกวันนี้เราจะเห็นมีโพลล์ต่างๆ ออกมาเป็นระยะๆ เกี่ยวกับการปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น แม้จะมีเปอร์เซ็นสูงเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่คนในสังคมไทยกลับรู้สึกว่า“มันปกติ รู้สึกเฉยๆ ไม่มีใครเดือดร้อน” จึงไม่แปลกที่เด็กกู้เงินเรียนแล้วมีความรู้สึกว่า คืนหรือไม่คืนก็ไม่เป็นอะไร เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสภาพแวดล้อมของการยอมรับได้ในสังคม คือเป็นสังคมที่ยอมรับคนที่ทุจริตจนกลายเป็นมารตฐานหนึ่งในสังคม และก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมชักดาบ เพราะรู้สึกว่าโกงไปไม่ผิดใครๆก็โกง
ผศ.ดร.วิรัช มองย้อนไปในอดีตด้วยว่า การจะทุจริตในกลุ่มนักการเมืองทำอะไรต้องหลบๆซ่อนๆ แต่ทุกวันนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ทุกวันนี้โจ่งแจ้ง โดยเฉพาะกับตัวอย่างดีๆ ก็ไม่มีให้เด็กเห็น นั่นจึงเป็นบ่อเกิดของการทุจริตโดยไม่รู้ตัว
ฉะนั้น การแก้ปัญหากับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่ต้องช่วยกันปลูกฝัง
สำหรับมหาวิทยาลัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในฐานะที่เป็นคนผลิตบัณฑิตออกไปสู่สังคมก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปในระบบการเรียนการสอน ปลูกฝังให้เด็กเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับนักศึกษา
และท้ายสุด คนในสังคมเองก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนและต้องไม่เพิกเฉยต่อการทุจริต ไม่ว่ากรณีใดๆ...