กางสถิติรอมฎอนปีนี้เหตุรุนแรงไม่ลด แต่ยอดสูญเสียลดฮวบ
หน่วยงานความมั่นคงได้สรุปสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียตลอดช่วงเดือนรอมฎอนปี 2556 เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า พบว่าในแง่เหตุการณ์มีจำนวนมากขึ้น แต่ความสูญเสียลดลงอย่างเห็นได้ชัด
การจัดทำสถิติเชิงเปรียบเทียบดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่าข้อตกลงลดเหตุรุนแรงร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ จากโต๊ะพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2556 และคำแถลงของ ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพ บรรลุเป้าหมายหรือไม่ เพียงใด
ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แยกสถิติออกเป็น 4 มิติ เทียบกันในช่วงเดือนรอมฎอนของปี 2555 กับปี 2556 ได้แก่
1.เหตุรุนแรง
รอมฎอนปี 55 มีเหตุรุนแรงทุกประเภท 65 เหตุการณ์
รอมฎอนปี 56 มีเหตุรุนแรงทุกประเภท 69 เหตุการณ์
สรุป เพิ่มขึ้น 4 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 6.15
2.อาชญากรรมทั่วไป
รอมฎอนปี 55 มีอาชญากรรมเกิดขึ้น 36 เหตุการณ์
รอมฎอนปี 56 มีอาชญากรรมเกิดขึ้น 42 เหตุการณ์
สรุป เพิ่มขึ้น 6 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 16.67
3.ก่อกวน
รอมฎอนปี 55 มีเหตุก่อกวนทั้งสิ้น 5 เหตุการณ์
รอมฎอนปี 56 มีเหตุก่อกวนทั้งสิ้น 154 เหตุการณ์
สรุป เพิ่มขึ้น 149 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 2,980
4.เหตุปะทะ
รอมฎอนปี 55 มีเหตุปะทะทั้งสิ้น 2 ครั้ง
รอมฎอนปี 56 มีเหตุปะทะทั้งสิ้น 1 ครั้ง
สรุป ลดลง 1 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 50
ส่วนตัวเลขความสูญเสียตลอดช่วงเดือนรอมฎอน เปรียบเทียบระหว่างปี 2555 กับปี 2556 สรุปได้ดังนี้
1.เสียชีวิต
รอมฎอนปี 55 มีผู้เสียชีวิตรวม 32 ราย
รอมฎอนปี 56 มีผู้เสียชีวิตรวม 23 ราย
สรุป ลดลง 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.13
2.บาดเจ็บ
รอมฎอนปี 55 มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 86 ราย
รอมฎอนปี 56 มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 82 ราย
สรุป ลดลง 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.65
3.แยกตามกลุ่มอาชีพ
- ตำรวจ รอมฎอนปี 55 เสียชีวิต 7 นาย บาดเจ็บ 11 นาย ขณะที่รอมฎอนปี 56 เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 6 นาย
- ทหาร รอมฎอนปี 55 เสียชีวิต 7 นาย บาดเจ็บ 41 นาย ขณะที่รอมฎอนปี 56 เสียชีวิต 7 นาย บาดเจ็บ 61 นาย
- ครู รอมฎอนปี 55 ไม่มีทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ขณะที่รอมฎอนปี 56 เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 5 ราย
- ผู้นำท้องถิ่น รอมฎอนปี 55 เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 1 ราย ขณะที่รอมฎอนปี 56 บาดเจ็บ 1 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
- ผู้นำศาสนา รอมฎอนปี 55 เสียชีวิต 1 ราย ขณะที่รอมฎอนปี 56 เสียชีวิต 1 รายเช่นกัน
- ประชาชน รอมฎอนปี 55 เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 33 ราย ขณะที่รอมฎอนปี 56 เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 9 ราย
ระเบิดเยอะแต่ไม่มี "คาร์บอมบ์"
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วิเคราะห์ว่า จากการติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนปี 2556 (10 ก.ค. ถึง 7 ส.ค.) พบว่าสถานการณ์ความรุนแรงยังคงดำรงอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปรากฏเหตุการณ์ทั้งสิ้น 69 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็นการลอบวางระเบิดต่อเป้าหมายเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ทหาร สอดคล้องกับการติดป้ายผ้าและพ่นสีสเปรย์ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีข้อความในทำนองขับไล่ทหารออกจากพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ในเดือนรอมฎอนปีนี้ไม่มีเหตุระเบิดประเภท "คาร์บอมบ์" หรือรถยนต์บรรทุกระเบิด ในเขตเมืองหรือเขตเศรษฐกิจอันจะ ก่อความเสียหายในวงกว้าง ซึ่งแตกต่างจากเดือนรอมฎอนปี 2555 ที่เกิดคาร์บอมบ์ในเขตเมือง ทั้งใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2555 และโรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2555
เป้าหมายอ่อนแอลดฮวบ
ส่วนการก่อเหตุลอบยิงก็เช่นกัน ห้วงเดือนรอมฎอนปี 2556 เป้าหมายหลักยังคงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเป้าหมายอ่อนแอซึ่งเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์มีเพียง 5 เหตุการณ์เท่านั้น รวมถึงกรณีการลอบยิง นายยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ส.ค.2556 ด้วย แต่กระนั้นในเดือนรอมฎอนปีนี้ได้เกิดเหตุที่คนร้ายใช้ระเบิดเพลิงเพื่อทำลายเป้าหมายในเชิงสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น โรงงาน บริษัท และร้านค้า หลายแห่งเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ส.ค.2556
หากเปรียบเทียบในเชิงปริมาณ พบว่า เดือนรอมฎอนปี 2556 มีสถิติเหตุรุนแรงทุกประเภทอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนรอมฎอนปี 2555 แต่ยังน้อยกว่าในห้วงเดือนรอมฎอนของทุกปีนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
เทียบรอมฎอนปีอื่นความสูญเสียต่ำสุด
ส่วนการเปรียบเทียบในด้านความสูญเสีย พบว่า เดือนรอมฎอนปี 2556 มีผู้เสียชีวิตเพียง 23 คน ซึ่งน้อยกว่าในห้วงเดือนรอมฎอนของทุกปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีข้อสังเกตว่าในเดือนรอมฎอนปีนี้ เป้าหมายทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์ลดลง
นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่เริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ เมื่อ 28 ก.พ.2556 ปรากฎว่ามีประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุลดลง เฉลี่ยวันละ 0.31 คน ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นเป้าหมายเพิ่มขึ้น เฉลี่ยวันละ 0.43 นาย
นักวิชาการห่วงมีแรงกดดันทำตัวเลขต่ำ
ขณะที่ความเห็นของนักวิชาการด้านความมั่นคง มองการจัดทำข้อมูลเชิงสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียโดยภาครัฐในปีนี้อย่างไม่ไว้วางใจนัก เพราะเป็นช่วงที่มีการพูดคุยสันติภาพ และมีข้อตกลงลดเหตุรุนแรง ซึ่งเกิดจากเจตจำนงของฝ่ายการเมือง จึงอาจทำให้การเก็บสถิติตัวเลขบิดเบือนไป แม้จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อติดตามสถานการณ์และสรุปตัวเลขเพื่อแถลงต่อสาธารณะเป็นระยะก็ตาม (หมายถึงคณะทำงานส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอน พ.ศ.2556 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้)
ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่อยากให้รีบแถลงตัวเลข เพราะอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เพราะตัวเลขที่บอกว่าไม่ใช่คดีความมั่นคง บางครั้งอาจจะใช่ก็ได้ ยกตัวอย่าง บางคดีระบุว่าเกี่ยวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็สรุปว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ความจริงแล้วต้องไปไล่ตรวจสอบว่าคนเหล่านี้เป็นสายให้ใคร ถ้าเป็นสายให้ตำรวจแล้วโดนฝั่งตรงข้ามไล่ฆ่า จะบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเป็นคดีที่ผูกโยงกับการเมืองท้องถิ่นได้อย่างไร ทั้งๆ ที่รูปคดีน่าจะเป็นคดีความมั่นคง
"เชื่อว่ามีแรงกดดันจากฝ่ายนโยบายให้มีการออกมาแถลงตัวเลข และแถลงตัวเลขให้ต่ำที่สุด เพราะเรื่องสถิติ ใครจะกล้าแถลงให้เสียหาย ที่สำคัญสถิติมันตกแต่งกันได้ แล้วแต่ว่าใครจะเลือกเผยแพร่ เลือกมอง เลือกเฉพาะเรื่องที่ตัวเองได้ประโยชน์ เรื่องนี้มันละเอียดอ่อน" ดร.ปณิธาน กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวซึ่งเป็นนักวิชาการด้านความมั่นคงอีกรายหนึ่ง แต่ไม่ขอเอ่ยนาม กล่าวว่า จริงๆ เรื่องสถิติไม่ควรรีบประกาศ เพราะต้องพิจารณาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ด้วยจึงจะยืนยันได้จริง ไม่ใช่เกิดเหตุแค่วันสองวันแล้วสรุปว่าเป็นเรื่องส่วนตัวหรือคดีความมั่นคง
"ผมคิดว่าที่ผ่านมามีความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการพูดคุยสันติภาพ อย่างเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นช่วงแรก คนในรัฐบาลออกมาระบุเลยว่าไม่ใช่ฝีมือกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งจริงๆ ไม่ควรพูดเช่นนั้น เพราะจะกลายเป็นพยายามแก้ตัวให้บีอาร์เอ็น ถ้าสังเกตดูเราจะไม่เห็นบีอาร์เอ็นออกมาพูดในรายละเอียดอะไรมากมาย แต่เขาจะพูดเรื่องการต่อรองมากกว่า และตอนนี้เหมือนเขาจะได้เปรียบเราด้วยซ้ำ"
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กราฟฟิกอย่างง่ายแสดงอัตราการเกิดเหตุรุนแรงและความสูญเสียในห้วงเดือนรอมฎอนเปรียบเทียบปี 2556 กับปี 2555