สื่อต่างชาติฟันธง ไม่ระบายสต๊อก ตัว "ฆ่า" จำนำข้าว รบ.ปู
'สมพร อิศวิลานนท์' ชี้ชัด ปีหน้ายังฝืนเดินหน้าจำนำข้าวต่อ เชื่อภาระหนี้พุ่งสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ขณะที่สื่อต่างชาติฟันธง ไม่เร่งระบายสต๊อกจะเป็นตัวฆ่า นโยบายนี้เอง
ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศราว่า ในระยะ 1-2 เดือนนี้ สื่อมวลชนด้านเศรษฐกิจของหลายประเทศให้ความสนใจ มาสอบถามข้อมูลและลงพื้นที่เพื่อติดตามโครงการรับจำนำข้าวในประเทศไทยจำนวนมาก อาทิ Newsweek Economist และ Bloomberk ที่ต่างมองประเด็นเดียวกัน คือ การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง สร้างประชานิยมทางการเมือง ในแบบนโยบายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงเหตุผลที่รัฐบาลไม่ยอมระบายข้าวในสต็อก
"เป็นเรื่องที่แปลกจนน่าเป็นห่วง เหตุใดขณะนี้สื่อต่างชาติจึงพร้อมใจกันเข้ามา และให้ความสนใจเรื่องโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในช่วงนี้เป็นพิเศษ รวมถึงตั้งประเด็นในทิศทางเดียวกันเช่นนี้ พวกเขายกตัวอย่างในกรณีของเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เคยมีนโยบายลักษณะนี้ คือการที่รัฐบาไปอุดหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์จนเกิดอาการย่ำแย่"
นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองฯ กล่าวอีกว่า สื่อต่างประเทศดังกล่าว ต่างเห็นตรงกันการลงทุนเช่นนี้ไม่ยั่งยืนและไม่มีทางหาเงินมาอุดหนุนได้ตลอด ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการไม่ระบายข้าวออกจากสต็อกก็จะเป็นตัวที่ "ฆ่า" โครงการนี้เอง รวมถึงการดึงทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ในโครงการนี้ จนทำให้การลงทุนของประเทศด้านอื่นๆ ที่ควรได้รับการพัฒนา ตายก่อน เช่น ด้านการศึกษา และสาธารณสุข ที่จะพัฒนาและสร้างไม่ทันบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างชะงักงันเพื่อให้รัฐบาลดึงทุกอย่างมาเดินหน้านโยบายจำนำข้าวต่อไป
ดร.สมพร กล่าวต่อว่า หากในปีหน้ารัฐบาลเดินหน้าโครงการต่อ ภาระหนี้ประเทศจะสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ยิ่งหากเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวจะส่งผลในหลายๆ ด้านตามมา เหล่านี้คือ ประเด็นที่สื่อต่างชาติจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งการมองในลักษณะนี้ไม่เป็นผลดีนัก
"หลายประเทศที่ต้องนำเข้าข้าวจากไทยต่างพยายามช่วยเหลือตัวเองจากภาวะที่ผันผวนของราคาข้าวในตลาดโลก เขามองว่าการที่ไทยมีนโยบายจำนำข้าวที่เอาแต่ประโยชน์เข้าประเทศ โดยไม่สนใจประเทศอื่นๆ ทำให้ต้องปรับตัว โดยการขยายการผลิตในประเทศเอง" ดร.สมพร กล่าว และว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีนักศึกษาจากต่างประเทศมาสัมภาษณ์และถามถึงเหตุใดไทยจึงไม่ระบายข้าวออก
จากสต็อกที่มีอยู่มาก ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า การอุดหนุนในราคาสูงเมื่อระบายจะต้องขาดทุน ยิ่งเก็บไว้นานต้นทุนยิ่งสูงและขาดทุนมากขึ้น ดังนั้นเป็นไปได้อย่างไรที่ไทยเก็บข้าวไว้ปีกว่าๆ โดยที่ไม่มีกลไกใดๆ มารับรองนโยบาย คำถามเหล่านี้ตนไม่สามารถตอบได้
ส่วนการส่งออก ณ ปัจจุบัน ดร.สมพร กล่าวว่า จากการประเมินล่าสุด ตัวเลขเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2556 การส่งออกข้าว 2.98 ล้านตัน ซึ่งลดลง 10% เปรียบเทียบจากรอบระยะเวลาเดียวกันกับเมื่อปีที่แล้ว สะท้อนชัดว่าตลาดข้าวที่ไทยเคยมีได้หายไป โดยเหตุหลักจากการดึงราคาในประเทศ ส่วนกระแสข่าวเรื่องการตกค้างของสารเมทิลโบรไมล์ในข้าวนั้นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ระบายข้าวไม่ได้ เพราะประเทศที่นำเข้าค่อนข้างมั่นใจในมาตรฐานข้าวไทยที่ไม่เคยมีปัญหา และไม่พบสารปนเปื้อน สิ่งที่เขาปรับตัวมีเพียงตรวจรับอย่างเข้มงวดขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการประมูลข้าวในโครงการรับจำนำของรัฐบาลล่าสุด ดร.สมพร กล่าวด้วยว่า เท่าที่ติดตามและได้พูดคุยกับหลายบริษัทส่งออก ไม่มีใครกล้าเข้าไปประมูล เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่มีการเปิดให้เอกชนเข้าดูข้าวก่อน มีเพียงบริษัทที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลเป็นพิเศษเท่านั้นที่รู้ และมักจะชนะประมูลข้าวไปในที่สุด
อ่านข่าวจากสื่อต่างประเทศ
Thailand Needs to Invest in People, Not Rice