ดึง"มือเก๋า สมช."เสริมทัพเจรจา หน่วยข่าวชงลดระดับ"พูดคุย"
แม้ถึงนาทีนี้จะยังไม่มีความชัดเจนว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นยังมีเจตจำนงพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทยอีกต่อไปหรือไม่ เพราะมีข่าวลือออกมาหนาหูว่ามีความแตกแยกกันภายใน สายเหยี่ยวไม่เอา นายฮัสซัน ตอยิบ แล้ว หนำซ้ำยังมีคลิปอ้างคำแถลงมติของสภาซูรอ (สภาที่ปรึกษาอาวุโส) ออกมาสำทับว่าจะไม่พูดคุยสานเสวนากับรัฐไทยอีกตลอดไปก็ตาม
แต่สิ่งที่ปรากฏค่อนข้างชัดเจนแล้วแต่ยังไม่ค่อยเป็นข่าวก็คือ คณะพูดคุยฝ่ายไทยได้มีการปรับองค์ประกอบภายในกันพอสมควร โดยที่ยังมีความเชื่อมั่นว่าการพูดคุยกับกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ จะดำเนินต่อไป...
ดึง "มือเก๋า" เสริมทัพ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่การพูดคุยเริ่มเปิดสู่สาธารณะเมื่อ 28 ก.พ.2556 คณะพูดคุยฝ่ายไทยถูกมองว่าไม่มีความพร้อม แถมสมาชิกในทีมส่วนใหญ่ยังเป็นประเภท "มือใหม่หัดขับ" โดยเฉพาะ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุย และเป็นผู้ลงนามในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น
ผลงานตลอด 5 เดือนที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ฝ่ายไทยไม่ได้ "เป็นต่อ" หรือ "ได้เปรียบ" บีอาร์เอ็นแต่อย่างใด คำถามจากสังคมในท่วงทำนอง...ไปคุยกับเขาทำไม ไปเป็นลูกไล่เขาหรือไม่...เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางเสียงปืนเสียงระเบิดที่ยังคงดังต่อเนื่องไม่เว้นช่วงรอมฎอนที่มีข้อตกลงหยุดยิง
ขณะที่ทีมงานของ พล.ท.ภราดร ที่ใช้สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพก็ล้วนเป็นทีมงานส่วนตัวจากนอก สมช. และส่วนใหญ่เป็นนายทหาร ขณะที่ทีมงานเก่าๆ ประเภท "มือเก๋า" ที่มีประสบการณ์และร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาชายแดนใต้มาหลายปีกลับถูกกันออกนอกวง
สาเหตุสำคัญเป็นเพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในสายของ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. หอกข้างแคร่ของรัฐบาลชุดนี้ เพราะถูกเด้งไปตบยุงเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำความผิดอะไร
เมื่อสถานการณ์ของโต๊ะพูดคุยสันติภาพชักจะไปไม่ไหว ทำให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หนึ่งในแกนนำของคณะพูดคุย เริ่มแทรกตัวเข้าไปมีบทบาท
"ระยะหลัง พ.ต.อ.ทวี เริ่มหันมาใช้งานคนใน สมช.เดิมที่เคยทำงานภาคใต้มาก่อน จึงเห็นชื่อของ นายสมเกียรติ บุญชู อดีตรองเลขาธิการ สมช. (ยุคนายถวิล) ไปนั่งเป็นที่ปรึกษาของ พ.ต.อ.ทวี และยังเป็นที่ปรึกษาของคณะทำงานส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนปี 2556 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย" แหล่งข่าวในวงพูดคุยสันติภาพระบุ
แหล่งข่าวคนเดียวกัน ยังบอกด้วยว่า ล่าสุดทาง ศอ.บต.ได้ขอให้ พล.ท.ภราดร มอบหมายให้ นายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สมช. ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจงานภาคใต้เป็นอย่างดี เข้าไปช่วยทำงาน โดย พ.ต.อ.ทวี ได้ต่อสายตรงไปยัง พล.ท.ภราดร เพื่อขอตัวนายดนัยด้วยตัวเอง ทำให้ พล.ท.ภราดร จำต้องยินยอม ซึ่งเท่ากับเป็นการลดบทบาทบุคคลที่ตนเองวางตัวเอาไว้
ที่สำคัญในระยะหลัง ทีมงานที่ใช้ประสานงานกับบีอาร์เอ็น และมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ก็เป็นทีมงานของ ศอ.บต.และตำรวจสันติบาลเป็นหลัก ซึ่งทั้งสองส่วนล้วนอยู่ภายใต้การกำกับของ พ.ต.อ.ทวี
ไม่ปรับต้องลดระดับพูดคุย
การปรับโครงสร้างภายในของคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยท่ามกลางความอ่อนไหวและข่าวลือรุมเร้า สอดคล้องกับการประเมินของหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยที่ส่งสัญญาณถึงรัฐบาลว่าอนาคตของกระบวนการพูดคุยส่อเค้ามืดมน ต้องเร่งปรับยุทธวิธีเป็นการด่วน
"หากการพูดคุยสันติภาพยังดำเนินไปเช่นนี้ ควรใช้เป็นเครื่องมือในระดับยุทธวิธีเพื่อพิสูจน์ทราบแกนนำ เครือข่าย ความต้องการ หรือหาทางออกที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับกลุ่มก่อความไม่สงบเท่านั้น แต่ไม่ควรใช้เป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ เพราะอาจนำไปสู่การต้องยอมให้สิทธิ์ปกครองตนเอง หรือข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อเขตอำนาจและอธิปไตยของประเทศ" เป็นบทประเมินตอนหนึ่งของหน่วยงานความมั่นคงดังกล่าว
พร้อมเสนอว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดบทบาท หน้าที่ของหน่วยงานหรือคณะบุคคลที่จะทำหน้าที่พูดคุยสันติภาพให้ชัดเจน และจำกัดให้มีเพียงหน่วยงานหรือคณะบุคคลชุดเดียวในการทำงานเพื่อป้องกันความสับสน
อย่างไรก็ดี จากการประเมินที่ผ่านมายังพบว่า ข้อดีประการหนึ่งของการพูดคุยสันติภาพแบบเปิดเผยรอบนี้ก็คือ ทำให้ได้พบความจริงว่า โครงสร้างภายในของบีอาร์เอ็นมีความขัดแย้งกันอย่างหนัก และแตกแยกออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ปัญหาคือรัฐบาลไทยจะหยิบฉวยจุดอ่อนความแตกแยกนั้นมาใช้เป็นประโยชน์ได้มากแค่ไหน
เพราะหากไม่สร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญของปัญหา โอกาสที่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะก้าวไปสู่ความสงบย่อมเป็นไปได้ยาก ขณะที่ "ฉากทัศน์" หรือ scenario ของปัญหาชายแดนใต้ในอีก 5 ปีข้างหน้าที่วิเคราะห์โดยหน่วยงานความมั่นคงหน่วยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาของสถานการณ์แม้จะมีความเป็นไปได้ 4 รูปแบบ แต่ภาพรวมมีแนวโน้มทรงกับทรุด กล่าวคือ
1.รัฐบาลคุมสถานการณ์ได้บางส่วนและประชาชนส่วนใหญ่ยังอยู่กับฝ่ายรัฐ ซึ่งมีสภาพคล้ายๆ กับปัจจุบัน คือยังคงมีการก่อเหตุรุนแรงต่อไป แต่อยู่ในระดับที่รัฐบาลยังสามารถควบคุมได้ และไม่มีรัฐต่างชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศเข้าแทรกแซง
2.รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีแบบยกเครื่องใหม่ รวมทั้งเร่งผลักดันแผนงานและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ประสบผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง
3.สถานการณ์ทวีความรุนแรง อาจเกิดขึ้นได้หากกลุ่มก่อความไม่สงบได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธ กำลังคน เงิน และแหล่งพักพิงจากต่างประเทศหรือกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ จนทำให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการมากขึ้นกว่าเดิม เป็นเหตุให้ฝ่ายรัฐต้องใช้มาตรการเด็ดขาดเข้าปราบปราม ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) กับประชาคมโลกจะเข้าแทรกแซง
4.สถานการณ์บานปลายและขยายออกนอกพื้นที่ เป็นสถานการณ์ต่อเนื่องจากรูปแบบที่ 3 โดยรัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และกลุ่มก่อความไม่สงบได้เพิ่มแรงกดดันต่อฝ่ายรัฐด้วยการขยายปฏิบัติการออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีองค์กรก่อการร้ายระหว่างประเทศหรือประเทศมุสลิมหัวรุนแรงให้การสนับสนุน
ดูจะเป็นภาพอนาคตที่ไร้ความหวัง ท่ามกลางความท้าทายอย่างยิ่งของกระบวนการสันติภาพที่ยังลูกผีลูกคนไม่แพ้กัน!
3 สนามรบยังไม่ได้เปรียบ
หน่วยงานความมั่นคงยังได้ประเมินสถานการณ์ชายแดนใต้ผ่านสนามรบหลัก 3 สนามรบ กล่าวคือ
1.การทำสงครามแย่งชิงประชาชน : กลุ่มก่อความไม่สงบพยายามใช้ความรุนแรงขัดขวางไม่ให้รัฐเข้าถึงประชาชนได้ และทำให้ประชาชนเกรงกลัว ไม่กล้าร่วมมือกับรัฐ รวมทั้งใช้ปัจจัยด้านประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม เป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อรักษาฐานมวลชนและสร้างแนวร่วมรุ่นใหม่
แนวโน้ม : เหตุการณ์ลอบวางระเบิดและการลอบสังหารที่ปรากฏมากขึ้น ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มก่อความไม่สงบยังคงให้ความสำคัญกับสนามรบด้านนี้มากที่สุด ซึ่งในระยะ 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะยังดำรงยุทธวิธีแบบนี้ต่อไป
2.การทำสงครามทางการทูต : สนามรบด้านนี้เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นหลังจากโอไอซีและองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หันมาให้ความสนใจสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ และการเสียชีวิตของผู้นำศาสนาเป็นต้นมา มีความพยายามใช้กรณีการนับจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละปีและการใช้กำลังทหารเด็กเพื่อดึงให้ยูเอ็นเข้าแทรกแซงการแก้ไขปัญหา
แนวโน้ม : ที่ผ่านมารัฐยังสามารถสร้างความเข้าใจกับประชาคมโลกได้ดีมาตลอด แต่กลุ่มก่อความไม่สงบเองก็ประสบผลในการรุกในสนามรบด้านนี้มากขึ้นเช่นกัน เชื่อว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้าฝ่ายรัฐจะประสบปัญหาในการทำสงครามทางการทูตเพื่อช่วงชิงการสนับสนุนจากประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น และปัญหาด้านนี้จะมีความยุ่งยากมากขึ้นเมื่ออาเซียนรวมตัวกันเป็นประชาคมในปี 2558
3.การทำสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบของฝ่ายรัฐ : แม้จะดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐยังมีความได้เปรียบจากการมีอำนาจรัฐ มีกำลังพลและอาวุธที่เหนือกว่า แต่ฝ่ายรัฐต้องตกอยู่ในสภาพตั้งรับด้วยการทำสงครามนอกแบบลอบโจมตีเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะกองกำลังที่ทำหน้าที่คุ้มครองครู พระ และนักเรียน ทำให้ยอดความสูญเสียและบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ฝ่ายรัฐแม้จะสามารถจับกุมแกนนำกลุ่มก่อความสงบได้มากขึ้น แต่กลุ่มก่อความไม่สงบก็สามารถแสวงหากองกำลังทดแทน โดยมีการฝึกสมาชิกรุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงอาจได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อหรือใกล้เคียงกับไทย
แนวโน้ม : ในระยะ 5 ปีข้างหน้านี้น่าจับตา เพราะหากแนวรบด้านนี้รุนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะมีผลต่อแนวรบด้านที่ 1 คือสงครามแย่งชิงประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนหวาดกลัวและตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มก่อความไม่สงบมากขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับ ตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็น คือ นายฮัสซัน ตอยิบ