ศึกษากระบวนทัศน์ ‘ปรองดอง’ -ความเกลียดชัง สู่การใช้ความรุนแรงในสังคมไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาเพื่อนำเสนอร่างรายงานการวิจัยในโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว.ช่วงที่ 2 ปีที่ 3 สันติวิธีและความรุนแรงในสังคมไทย : ความรู้ ความลับ และความทรงจำ "พื้นที่สันติวิธี/หนทางสังคมไทย" โดย ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล นำเสนอ(ร่าง)รายงาน เรื่อง "เมื่อใดที่การแสดงความเกลียดชัง กลายเป็นการใช้ความรุนแรง" ซึ่งในการศึกษายึดหลักคิดเบื้องต้นว่า
ในสังคมการเมืองหนึ่งๆ สมาชิกสามารถ 'แสดง' ความเกลียดชังได้ ตราบที่ไม่นำไปสู่ 'การใช้' ความรุนแรง...
4 ปัจจัยความเกลียดชัง สู่การใช้ความรุนแรง
จากการตั้งข้อสังเกตกรณีความรุนแรงในเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยรอบหลายปีที่ผ่านมา ดร.ชาญชัย พบว่า มี ปัจจัย 4 ระดับ ที่บ่งชี้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงนั้นๆ กำลังเข้าใกล้สภาวะการใช้ความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ได้แก่
1.ระดับโครงสร้างและวัฒนธรรมที่มีการแบ่งลำดับช่วงชั้นที่ชัดเจนในสังคม หลักปกครองโดยกฎหมายอ่อนแอ มีความรุนแรงที่สนับสนุนโดยรัฐ มีการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล และมีการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง ขณะที่ตลาดเสรีทางความคิดถูกปิดลง สถาบันหลักไม่สามารถทำงานได้ รวมถึงหลักการอยู่ร่วมกันถูกกร่อนเซาะ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ค่อนข้างเห็นได้ทั่วไปในหลายๆ สังคมที่ 'ไม่ปกติ' และเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่สุดที่ทำให้สถานการณ์สามารถพัฒนาไปได้อย่างหนักแน่น
2.ระดับแบบแผนพฤติกรรมของผู้ใช้ความรุนแรง ซึ่งมีปัจจัย ได้แก่ ทุกปัญหาของสังคม "ถูกเหมา" รวมเป็นความผิดของคนกลุ่มหนึ่ง มีการสร้างวาทกรรมว่าต้องปกป้องตนเองจากกลุ่มนั้น เส้นแบ่งความเป็นพลเรือนและไม่เป็นพลเรือนของกลุ่มเป้าหมายถูกทำลายลงในฐานะศัตรูทั้งกลุ่ม
รวมถึงมีการลดทอนความเป็นมนุษย์ สร้างภาพประทับและผลิตแนวคิดชาตินิยม ความขัดแย้งถูกนำเสนอแบบ "ชนะขาด-แพ้หมด" และความขัดแย้งในอดีตถูกรื้อฟื้นมาชำระ ขณะที่จำนวนผู้ตายถูกเพิ่ม-ลดตามเป้าหมายของฝ่ายตน มีการวางแผนจัดโครงการสร้างอำนาจในกลุ่มผู้ลงมือ การเกลียดชังแยกขั้วถูกทำให้เข้มข้นผ่านสื่อ อีกทั้งมีกลุ่มที่พร้อมใช้ความรุนแรง ปัจจัยเหล่านี้เป็นสัญญาณแรกๆ ที่สถานการณ์เริ่มออกตัว และมีแนวโน้มที่เป็นไปได้จะพัฒนาไปสู่ความรุนแรง
3.ระดับ speech act ของฝ่ายที่จะลงมือ ประกอบด้วยปัจจัย 1.มีผู้ส่งสารที่ทรงอิทธิพล การส่งสารด้วยวาทศิลป์ที่ร้อนแรง 2.ผู้ส่งสารแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจเรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติการบางอย่าง 3.ผู้รับสารสามารถตีความเข้าใจสิ่งที่ผู้ส่งสารสื่อ และอยู่ในพิสัยความสามารถที่จะลงมือทำ รวมถึงรู้สึกคล้อยตามว่า ควรลงมือ ซึ่งหากเกิดขึ้นนับเป็นสัญญาณอันตรายมากที่ต้องเตรียมพร้อมเต็มพิกัด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้
4.ระดับอารมณ์ในสถานการณ์ ประกอบด้วย 4 ประการ ได้แก่ ความกลัว ความตื่นตระหนกล่วงหน้า ความตึงเครียด และการบันดาลโทสะ ก่อนที่ 'การแสดง' ความเกลียดชัง จะกลายร่างเป็น 'การใช้' ความรุนแรงขนานใหญ่นั้น มักจะต้องมีการเผชิญหน้ากันระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายก่อน สภาวะเช่นนี้ ถือเป็นหน้าด่านสุดท้าย ที่เรายังพอที่จะสามารถหยุดยั้งไม่เกิดความรุนแรงได้ แม้ว่าสถานการณ์อาจกลับไปอยู่ในระดับที่สาม ซึ่งพร้อมจะพัฒนาขึ้นมาสู่ระดับที่สี่นี้อีกเมื่อใดก็ได้
ท้ายที่สุด ดร.ชาญชัย ระบุด้วยว่า ผลการศึกษานี้ ไม่พบว่า 'ความเกลียดชัง' นำไปสู่ 'ความรุนแรง' เพียงแต่ผลักไปอยู่ในสนามแข่งขันที่เกิดการเผชิญหน้าเท่านั้น ซึ่งในแต่ละสถานการณ์มักมี 'ขนนก' หรือมีมือที่ 3 คอยผลักและกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ซึ่งต่างจากกรณีของต่างประเทศ เช่นในาธารณรัฐรวันดาที่ความเกลียดชังนำไปสู่ความรุนแรงได้
กระบวนทัศน์ 'ปรองดอง' ระดับผิวเผิน
ขณะที่ (ร่าง) รายงานของ ดร.ศิวัช ศรีโภคางกุล เรื่อง "อ่านกระบวนทัศน์ปรองดองของสังคมไทย : เปรียบเทียบความพยายามปรองดองในต่างแดน"
โดยมีการศึกษาตั้งแต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ถึงช่วงเวลาปัจจุบันก่อนที่จะมีการเปิดอภิปราย พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปรองดองและนิรโทษกรรมในรัฐสภา
ดร.ศิวัช พยายามอ่าน 'กระบวนทัศน์' ของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย กระทั่งพบว่า ระดับการมองโลกของแต่ละภาคส่วนในสังคมยังคงถกเถียงกันภายใต้ระดับที่ 'ผิวเผิน' อย่างยิ่ง แต่ละภาคส่วนมีโลกทัศน์ที่มองไปข้างหน้าตาม 'สายตาของตนเอง' อย่างเคร่งครัด
จนกระทั่งทำให้ความเข้าใจเรื่องการปรองดองนั้นถูกลดทอนความหมายและคุณค่าอันไม่เป็นผลดีใดๆ ต่อการปรองดองของสังคมไทยในภายภาคหน้าเลย...