‘ส.ศิวรักษ์’ฉายภาพอดีต‘ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุล’ ต้นตำรับอาหารชาววังในแผ่นดินรัชกาลที่ 5
ทุกวันที่ 3 ส.ค. ประวัติศาสตร์ไทยได้เคยบันทึกไว้เป็นวันบำเพ็ญกุศลฉลองชนมายุบรรลุ 80 ปีบริบูรณ์ ของสตรีผู้เพียบพร้อมนามว่า ‘หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล’ (ท่านหญิงใหญ่หรือท่านหญิงจง) พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับหม่อมนวม โรจนดิศ
เพื่อระลึกถึง ปีนี้‘ส.ศิวรักษ์’ ปัญญาชนสยาม” ได้จัดงานเสวนารำลึก 127 ปี ประสูติกาล หม่อมเจ้าจงจิตถนอม ดิศกุล หัวข้อ คนเก่าเล่าเรื่อง ‘กุลสตรีผู้อุทิศตนเพื่อความถูกต้องดีงามของสังคม’ ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร โดยมีผู้สนใจรับฟังอย่างคับคั่ง
‘ส.ศิวรักษ์’ เริ่มต้นฉายภาพว่า ได้รู้จากหนังสือสารสมเด็จของกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงพระราชปรารภถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และมักจะเอ่ยถึงพระนาม ‘หญิงใหญ่’ บ้าง หรือ ‘หญิงจง’ บ้าง เกี่ยวกับอาการประชวรวัณโรคของบุตรสาวที่เริ่มหาย เพราะเสวยกล้วยหักมุกเป็นประจำ
ซึ่งต่อมาได้มีโอกาสเข้าไปพบปะกับ ‘กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร’ ซึ่งในวังจะมีแขกประจำอย่างท่านหญิงใหญ่ร่วมเสมอ จึงค่อย ๆ คุ้นเคยกัน ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชันษาสูงมากแล้ว และถูกเชื้อเชิญให้ไปเฝ้าที่ตำหนักท่าน
“ครั้งแรกที่ไปเฝ้าได้เห็นตำหนักท่านหญิงใหญ่สวยมาก มีลักษณะเป็นเรือนไม้ทั้งหลัง ซึ่งได้รับมรดกตกทอดจากเจ้าจอมมารดาชุ่ม ผู้เป็นพระมารดาของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่พำนักอยู่แต่เดิมจนอสัญกรรม” ปัญญาชนสยาม กล่าว และเล่าถึงอุปนิสัยต่อว่า
"ความจริงแล้วท่านหญิงใหญ่เป็นคนดุ ด้วยได้รับการอบรมจากสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี อย่างเคร่งครัด ทำให้มีความเพียบพร้อมทุกด้าน เรียกว่า หากใครทำความผิด ท่านหญิงใหญ่ทรงตีด้วยไม้หวายไม่ว่าจะมียศถาบรรดาศักดิ์หรือไม่ก็ตาม
แต่เมื่อชราลงก็เริ่มมีจิตใจที่เย็นลงมาก ด้วยเพราะท่านหญิงใหญ่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เรียกว่าจะเสด็จไปทรงธรรมทุกวันพระที่วัดบวรนิเวศวิหาร ไม่เคยทำอะไรเพื่อตนเอง แต่พระองค์ทำเพื่อคนอื่นมากโดยไม่มีความลำเอียง ทำให้น้องชายน้องสาวที่กำเนิดจากแม่เลี้ยง 7 คน ยกย่องท่านหญิงใหญ่ที่สุด"
(ม.จ.จงจิตรถนอม ประทานสัมภาษณ์เเด่ส.ศิวรักษ์)
นอกจากนี้ท่านหญิงใหญ่ยังชื่นชอบการทำอาหารเอง และเป็นต้นตำรับอาหารชาววังในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 โดยสมัยก่อนโต๊ะเสวยต้องเริ่มจากด้วยอาหารฝรั่ง เช่น ไข่รัสเซีย ซุปหอยแมลงภู่ หรือตับเป็ดบดกับสลัด แล้วจึงตามด้วยอาหารไทย มีข้าว น้ำพริก ผักหลน หรือขนมจีน และผลไม้จำพวกชมพู่
ส่วนในฤดูร้อนนั้น ข้าวแช่ถือเป็นอาหารหลัก ท่านหญิงใหญ่จะทำกะปิข้าวแช่เอง ซึ่งรสชาติข้าวแช่แต่ละวังนั้นแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะแข่งกันที่รสชาติกะปิ
“ข้าวแช่วังคลองเตยจะใช้ข้าวเปียกไม่คัด เสวยทุกวันในฤดูร้อนพร้อมเสวยทุเรียนด้วย ส่วนวังวรดิศและบ้านหม้อจะใช้ข้าวขัด ซึ่งท่านหญิงใหญ่ทำเก่งมาก จนสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงชื่นชมว่ารสกลมกล่อม”
เมื่อถามว่าเหตุใดท่านหญิงใหญ่ถึงไม่เสกสมรส ได้รับการอธิบายว่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเลี้ยงพระธิดาเหมือนบุรุษ ฉะนั้นพระธิดาทุกคนล้วนแต่มีความสามารถ ดังนั้นจึงครองตนเป็นโสด เพราะบุรุษสมัยก่อนไม่ชอบสตรีที่เก่งกว่าตนเอง
ปัญญาชนสยาม ยังเล่าอย่างภาคภูมิใจว่าตนเองได้รับผ้านุ่งทรงโจงกระเบนของกรมพระยาดำรงราชานุภาพจากท่านหญิงใหญ่ที่ประทานให้สมัยแต่งงานด้วย ซึ่งเก็บไว้อย่างดีจนถึงปัจจุบัน โดยการนุ่งโจงกระเบนของไทยสมัยก่อนนั้นจะนุ่งเฉพาะชนชั้นสูง หากเป็นสามัญชนธรรมดาจะนุ่งลอยชาย ซึ่งผิดกับฝั่งพม่าที่จะนุ่งโจงกระเบนในสามัญชน และนุ่งลอยชายในชนชั้นสูงแทน
ทั้งหมดนี้คือความระลึกถึงหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล แห่งวังวรดิศ ของ ‘ส.ศิวรักษ์’ ในวันที่ไม่มีท่าน คงเหลือเพียงคุณงามความดีต่อแผ่นดินผู้ปิดทองหลังพระและมีพระกิตติคุณเหลือคณานับเท่านั้น...โดยเฉพาะในแง่การทำอาหารชาววังที่ตกทอดถึงปัจจุบัน...ควรที่จะประจักษ์เผยแพร่คุณงามความดีในแผ่นดินสืบไป .
........................................................................................................................................
ล้อมกรอบ
หมายเหตุ:ข้อมูลด้านล่างเรียบเรียงจากหนังสือ ‘สัมภาษณ์ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุล’ โดย ส.ศิวรักษ์
‘หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล’ เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ในกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับหม่อมนวม โรจนดิศ และพระองค์ยังเป็นนางเสมียนหลวงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ด้วย โดยได้รับการฝึกอบรมวิชาความรู้จากสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ (ทูลกระหม่อมหญิง) มาตั้งแต่ชนมายุ 15 ปี
นอกจากนี้พระองค์ยังมีโอกาสได้ปรุงอาหารตั้งเครื่องเสวยให้กับทั้งรัชกาลที่ 5 พระมเหสีเทวี และพระราชโอรส-ธิดา หลายครั้ง จนได้รับพระราชทานรางวัล และยังทรงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทรงออกงานต้อนรับดุ๊ก โยฮัน อัลเบรชต์ ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันสวิค ประเทศเยอรมัน ในปี 2452 ร่วมกับผู้เป็นพระบิดาด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนไทยรุ่นหลังควรยินดี คือ พระองค์ทรงประทานข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับสมัยรัชกาลที่ 5 แด่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพื่อประพันธ์นวนิยายอมตะ ‘สี่แผ่นดิน’ (แผ่นดินที่ 1) ด้วยนั่นเอง
หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ได้สิ้นชีพิตักษัยเมื่อ 23 ก.ย.2521 พระชันษา 92 ปี ทั้งนี้ถือเป็นองค์แรกในพระโอรส-ธิดาของกรมพระยาดำรงราชานุภาพทั้งหมดที่มีพระชันษายืนยาว .