พบเด็กชาติพันธุ์ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ กลัวการมาร.ร. ต้นเหตุสื่อสารกับครูไม่รู้เรื่อง
ปลดล็อค “ครูถิ่น” สอนคู่ “ครูไทย” ด้วย “ทวิภาษา”แก้ปัญหาเด็กชายขอบอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สพฐ.แนะ 7 กลยุทธ์ช่วย “เด็กชายชาติพันธุ์ – ครูชายขอบ”
เมื่อเร็วๆนี้ ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดเวทีเสวนาเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 : ผู้นำการเรียนรู้สู่สังคมพหุวัฒนธรรม โดยมีดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นประธานเพื่อนำเสนอ นวัตกรรม “ทวิภาษา” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกคิดค้นเพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ในกลุ่มเด็กไทยชาติพันธุ์ โดยมีกรณีศึกษาจากโรงเรียนบ้านพุย ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ที่เด็กทั้งโรงเรียนเป็นกะเหรี่ยงโปว์ 100% และโรงเรียนวัดวังก์วิเววังการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนมอญ “ใช้ภาษามอญ” ในชีวิตประจำวัน พร้อมด้วยเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้จากทั่วประเทศร่วมงาน
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สำรวจข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนพื้นที่แนวชายแดน 30 จังหวัด 45 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่า มีโรงเรียนจำนวน 90 แห่ง ที่ใช้ “ภาษาในชีวิตประจำวัน” เป็นภาษาชาติพันธุ์ ภาษาแม่ ภาษาบ้าน กว่า 30 ภาษา บางโรงเรียนมีการใช้ภาษาที่แตกต่างกันถึง 3 ภาษา ทำให้เกิดปัญหาผลสัมฤทธิ์การศึกษาตกต่ำ และปัญหาเด็กหลุดออกกลางคัน
"เมื่อภาษาเป็นที่มาในการรู้จักตัวเอง รู้จักอัตลักษณ์ท้องถิ่น เป้าหมายของการรู้ภาษา จึงไม่ใช่เพียงแค่การอ่านออกเขียนได้ แต่ภาษานั้นเป็นเครื่องมือที่จะนำสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ให้เกิดความปรองดองท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรมไทย ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลาย 10 กลุ่ม ซึ่งบางครั้งการศึกษาก็ทำให้เราลืมไปว่า เรามีพี่น้องที่ต่างชาติพันธุ์ ต่างศาสนา แต่เป็นคนไทยด้วยกัน ฉะนั้นการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรม “ทวิภาษา” เบื้องหลังคือเราได้เรียนรู้ความต่างในเรื่อง “พหุวัฒนธรรม” จากเพื่อนร่วมชาติ ผมเชื่อว่า สังคมที่มีสีสันที่หลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองได้ เพียงแค่เริ่มจากการเรียนรู้ใหม่ร่วมกันของคนไทยทุกคน”
นายชวลิต โพธิ์นคร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู ตัวแทนจากสพฐ. กล่าวว่า สิ่งที่ทวิภาษาต้องการหลักๆคือ 1.ต้องการรักษาภาษาที่เป็นอัตลักษณ์ของคนชาติพันธุ์ให้คงอยู่และเพิ่มมูลค่าด้วยการสอนภาษาไทยเพิ่มเติม 2.ใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร และ3.เพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ 7 องค์ประกอบหลักคือ 1.ครูต้องลุกขึ้นมาเรียนรู้ด้วยตนเอง 2.จำเป็นต้องมีครูถิ่นเป็นครูพี่เลี้ยง 3.ค้นหาวิธีการให้ครูชนเผ่าที่เรียนในระดับสูงแล้วกลับมาสอนในท้องถิ่น 4.หาแหล่งทุนสนับสนุนในพื้นที่ 5.ใช้ระบบ ICT ช่วยเหลือในเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้ด้านภาษา 6.เขตพื้นที่เป็นคนช่วยประสานส่งต่อ และ 7.แก้ปัญหาการโยกย้ายครูทุก 2 ปี และแก้ปัญหาครูผู้ช่วยเต็มที่ แต่ไม่มีครูตำแหน่งจริง
นางปิยพัทธ์ มีอ่วม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพุย อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีนักเรียนเป็นกะเหรี่ยงโปว์ 100% กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ คือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ กลัวการมาโรงเรียน เพราะสื่อสารกับครูไม่รู้เรื่อง ครูก็เกิดความท้อแท้เพราะสอนอย่างไรก็ไม่เข้าใจ พอถึง 2 ปีก็ขอย้าย แต่พอได้รู้จักนวัตกรรมทวิภาษา ผลที่เห็นชัดคือ เด็กกะเหรี่ยงอ่านหนังสือได้ทั้งภาษาไทย และภาษาถิ่น กล้าแสดงออกมากขึ้น รู้จักเรียนรู้วัฒนธรรมของเพื่อนเผ่าชาติพันธุ์อื่นๆ โดยใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสาร ทำให้ครูมีความสุขมากขึ้นเพราะสอนเด็กเข้าใจ ส่งผลให้ชุมชนเห็นประโยชน์ที่ลูกหลานได้รับว่า จะทำให้ไม่ทิ้งอัตลักษณ์ถิ่น ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่เขารู้จากประสบการณ์เดิมเพื่อก้าวไปสู่การพบกับประสบการณ์ใหม่ เด็กจะคิดได้ว่า เมื่อเขาไปอยู่ในชุมชนใหม่เขาจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตรอบตัวได้ โดยมีครูถิ่นเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การเข้าใจภาษาไทยที่เข้มแข็งมากขึ้น ตั้งแต่ระดับอนุบาล
น.ส.จันทร์สุดา ปุณณะการี ครูถิ่นชาวมอญ โรงเรียนวัดวังก์วิเววังการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า เมื่อเวลาเราเป็นครูนั้น เราต้องพยายามศึกษาวัฒนธรรมตัวเองเป็นอย่างมาก เพื่อให้เด็กเข้าใจและรักวัฒนธรรมตัวเอง โดยเฉพาะเด็กเล็กเขาก็อุ่นใจที่ได้พูดภาษาเดียวกับเขา เขาก็จะมากระซิบกับเราซึ่งบางทีเราก็สะเทือนใจ เพราะเป็นประโยคง่ายๆ แต่สื่อสารกับครูไทยไม่ได้ “พวกหนูเรียนมาจบม.6 แม้มีคนเข้ามายื่นโอกาส ที่ดีกว่า แต่หากเราคว้าโอกาสนั้นไว้เพื่อตัวเอง ต่อไปวัฒนธรรมมอญอาจจะไม่หลงเหลือ เราพยายามบอกเขาว่า เป็นเด็กไทยเชื้อสายมอญก็เก่งได้ เขาก็จะเริ่มปรับทัศนคติ จากแก่ก่อนพาไปแข่งที่ไหนให้ใส่ชุดมอญแล้วอาย เสร็จงานก็รีบเปลี่ยนชุด แต่พอครูเริ่มต้นให้เด็กดูให้เขารักวัฒนธรรมถิ่นมากขึ้น”
{youtubejw}Lar-R0fD7gE{/youtubejw}