วันตรุษอีฎิ้ลฟิตรีที่ไร้"อิหม่ามยะโก๊ป" กับชุดรายอเพื่อเด็กๆ ที่ (เคย) ถูกลืม
"ละหมาดรายอในปีนี้ แม้พวกเราจะมีผู้นำละหมาดก็จริง แต่ไม่มีผู้นำที่ยิ่งใหญ่เหมือนปีก่อนๆ" เป็นเสียงของ อาเดร์นาน ยามา วัย 65 ปี ผู้ดูแลทำความสะอาดมัสยิดกลางปัตตานี ที่เอ่ยถึงการละหมาดในวันตรุษอีฎิ้ลฟิตรีปีแรกที่ต้องขาดอิหม่ามยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลาง ที่หลายคนให้ความเคารพนับถือ เพราะเขาถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตไปก่อนรายอเพียงไม่กี่วัน
การละหมาดของพี่น้องมุสลิมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีในวันรายอ ทั้งบรรยากาศและจำนวนผู้คนอาจไม่แต่ต่างจากปีก่อนๆ มากนัก แต่ความต่างที่สังเกตได้อย่างชัดเจนคือ สีหน้าและรอยยิ้มบนใบหน้าของผู้คนที่มีให้เห็นน้อยกว่าปีที่ผ่านๆ มา
นายอาเดร์นาน บอกว่า ทุกๆ ปีตอนละหมาดในวันตรุษอีฎิ้ลฟิตรี จะมีเสียงอิหม่ามยะโก๊ปก้องกังวานเป็นที่คุ้นชินของผู้คนที่มาละหมาด แต่ปีนี้เสียงก้องกังวานนั้นได้หายไปแล้ว หลายยังคงรู้สึกเสียใจและสลดกับการสูญเสียอิหม่ามไป
"แม้วันนี้ไม่มีอิหม่ามยะโก๊ป แต่เชื่อว่าหลายคนคงจดจำสิ่งดีๆ ที่อิหม่ามได้ทำเอาไว้ให้กับทุกคน" ผู้เฒ่าที่ใช้ชีวิตผูกพันกับมัสยิดกลางปัตตานีบอก
ขณะที่ ฟิกรี หนุ่มมุสลิมชาวกัมพูชา ลูกศิษย์ที่มาร่ำเรียนอยู่กับอิหม่ามยะโก๊ปเป็นเวลากว่า 5 ปี เล่าว่า ในวันที่เกิดเหตุกับอิหม่ามรู้สึกตกใจมาก และยังรู้สึกเสียใจจนถึงทุกวันนี้ คิดว่าไม่น่าจะมาเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับคนดีๆ และเป็นผู้ที่หลายคนเคารพนับถืออย่างอิหม่ามยะโก๊ป
"แม้วันนี้ไม่มีอิหม่ามแล้วก็ตาม แต่คำสอนของอิหม่ามที่สอนผมมาตลอด 5 ปี ผมยังจดจำได้ทุกอย่าง และจะยึดถือคำสอนอิหม่ามเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป"
ชาวบ้านทั้งชายและหญิงอีกหลายคนที่ไปละหมาดในวันตรุษอีฎิ้ลฟิตรีที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ตอบเป็นเสียงเดียวกันหมดเมื่อถูกถามถึงการสูญเสียอิหม่ามยะโก๊ปว่า เสียใจที่อิหม่ามจากไป และไม่น่าเกิดเรื่องแบบนี้กับอิหม่าม
เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่แม้ไม่ได้เผยความรู้สึกออกมา แต่แววตาและสีหน้าที่นิ่ง เงียบ สงบ ก็พอจะบอกแทนได้ เพราะมันสวนทางกับบรรยากาศที่น่าจะเป็นในวันตรุษอีฎิ้ลฟิตรี...
กิจกรรมในวันรายอ ซึ่งคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานเรียกกันติดปากว่า "รายอปอซอ" นั้น ไม่ได้มีแค่ละหมาดในช่วงเช้าอย่างพร้อมเพรียง แต่ภาพที่เห็นกันจนชินตาก็คือ ภาพมุสลิมะฮ์ (ผู้หญิงมุสลิม) สลามและขอมาอัฟ (ขอโทษ) ให้แก่กัน ขณะที่มุสลิมีน (ผู้ชายมุสลิม) ก็สวมกอดกัน ขออภัยซึ่งกันและกันในสิ่งที่อาจจะเคยล่วงเกินกันไว้ทั้งกาย วาจา และใจ
เสียงหัวเราะ ทักทาย ให้สลาม เกิดขึ้นตลอดทางที่เดินไปมัสยิด ทุกคนล้วนสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ สีสด และสะอาด หลังเสร็จจากการละหมาดร่วมกันที่มัสยิดของแต่ละชุมชนในช่วงเช้าแล้ว ก็พร้อมใจไปเยี่ยมกุโบร์ (สุสาน) พร้อมขอดุอาและรำลึกให้แก่ผู้ล่วงลับ
จากนั้นจึงเป็นการเดินทางไปเยี่ยมเยียนกัน ซึ่งแต่ละบ้านจะมีอาหารคาวหวานไว้คอยต้อนรับผู้มาเยือน สัญลักษณ์ของวันรายอปอซอที่ขาดไม่ได้คือ "ตูป๊ะ" หรือ ข้าวเหนียวที่ห้อด้วยใบกะพ้อแล้วนำไปนึ่งหรือต้มให้สุก ทุกบ้านจะมีตูป๊ะเคียงในสำรับ เข้าไปเยือนบ้านไหนก็จะมีสำรับอาหารมาต้อนรับกันอิ่มหนำ เพียงสองสามบ้านที่ไปเยือนก็อิ่มท้องแล้ว
อาหารที่เลี้ยงกันในวันรายอที่ชายแดนใต้ นอกจากตูป๊ะยังมีหลากหลายเมนู เช่น ขนมปังอาหรับ ข้าวหมกอาหรับ ข้าวต้มมัด ขนมจีน ตาแป (ข้าวเหนียวหมักยีสต์หรือข้าวแช่) กะโป๊ะทอด (ข้าวเกรียบทอด) และอีกมากมาย
ย้อนกลับไปช่วงก่อนถึงวันรายอปอซอ พี่น้องมุสลิมจะหอบลูกจูงหลานไปเลือกซื้อหาเสื้อผ้า ฮิญาบ หมวกกะปิเยาะห์ รองเท้า และผ้าละหมาด จากร้านรวงต่างๆ ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ ภาพลูกค้าเข้าไปยืนเบียดเสียดเลือกซื้อของจนแน่นร้านมีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ เม็ดเงินสะพัดทั่วพื้นที่มากโขทีเดียว
ทว่าอีกมุมหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีเด็กด้อยโอกาสและยากจนอีกเป็นจำนวนไม่น้อย พวกเขาอยากฉลองวันรายอเฉกเช่นคนอื่นๆ หากแต่ปัจจัยในการดำรงชีวิตไม่เอื้ออำนวยให้เป็นไปตามฝัน ทำให้หลายองค์กรและหลายหน่วยงานในพื้นที่หันมาให้ความสำคัญ ด้วยการจัดกิจกรรมมอบชุดรายอและชุดละหมาดให้กับเด็กๆ และเยาวชนกลุ่มนี้
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมที่มีหน้าที่ช่วยบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยของเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี โดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล เป็นสถานที่ควบคุมเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ โดยมีเด็กและเยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่เป็นจำนวนมาก ทางกรมพินิจฯจึงมอบหมายให้สถานพินิจฯแต่ละแห่งจัดซื้อชุดแต่งกายและชุดละหมาด ตลอดจนหมวกกะปิเยาะห์ และผ้าปูละหมาด มอบให้เด็กและเยาวชนมุสลิมที่อยู่ในความควบคุมดูแลของสถานพินิจฯ ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 ด้วย
พิธีมอบจัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธาน
วา เด็กหนุ่มมุสลิมจาก จ.ยะลา ที่เข้ามาอยู่ในสถานพินิจฯปัตตานี เป็นเวลา 3 เดือนจากโทษที่ได้รับ 2 ปีในคดีทำร้ายร่างกาย บอกว่า เมื่อเข้ามาอยู่ในสถานพินิจฯ ทำให้ได้ละหมาดครบทุกครั้ง ถือศีลอดครบเดือน นับเป็นเรื่องดีต่อชีวิต
"ตอนอยู่ข้างนอกก็เที่ยวไปวันๆ หาเรื่องคนอื่น เมื่อถึงคราวทำร้ายร่างกายเขาทำให้ต้องมารับโทษในนี้ แต่ที่นี่ทำให้ผมคิดได้ว่าสิ่งที่เคยทำมาล้วนไม่ดี จึงปรับปรุงตัวเอง ได้ละหมาดครบ ถือศีลอดครบ เพื่อนก็ชวนทำในสิ่งที่ดี รู้สึกดีใจมากที่ได้รับชุดรายอในวันนี้ อยากออกไปขอโทษพ่อกับแม่ที่เคยทำผิด อยากขอโอกาสให้มีวันลดโทษให้เร็วขึ้น ผมพร้อมออกไปเป็นคนดีของสังคม ทำงานช่วยเหลือพ่อแม่และตั้งใจเรียนต่อเพื่ออนาคตของตัวเอง"
ฟา สาวน้อยมุสลิมะฮ์วัย 16 ปีมาจาก จ.ยะลาเช่นกัน เธอเพิ่งเข้ามาอยู่ในสถานพินิจฯได้เพียง 1 เดือนด้วยคดียาเสพติดที่เธอยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่เป็นของเพื่อนซึ่งได้รับการประกันตัวออกไป ส่วนคดียังฟ้องร้องกันอยู่
"ตอนนั้นเราอยู่ในเหตุการณ์ก็โดนไปด้วย อยู่ที่บ้านช่วยยายขายข้าวยำ เรียนจบแค่ ป.3 ไม่ได้เรียนต่อ พ่อแม่มีลูกทั้งหมด 8 คน เขาไปทำงานที่มาเลเซียเอาน้องไปด้วย 4 คน เหลืออยู่กับยาย 4 คน เมื่อต้องมาอยู่ในนี้ น้าก็ต้องไปช่วยยายขายของ อยู่ที่นี่สบายดี เขาดูแลดี ทำให้คิดอะไรได้หลายอย่าง ได้ละหมาดครบ คิดถึงบ้าน อยากกลับไปวันรายอเพราะพ่อแม่กลับมา แต่เมื่ออยู่ในนี้ไม่รู้ว่าเขาจะมาเยี่ยมหรือเปล่า อยากกลับไปขอโทษพ่อกับแม่"
ด้านองค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กรอย่าง บ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชน สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ หรือ DEEP PEACE ได้ร่วมกันจัดหาทุนสนับสนุนเพื่อซื้อชุดรายอและข้าวของที่จำเป็นในวันรายอมอบแก่เยาวชนด้อยโอกาสและยากจนเช่นกัน
เด็กชายและหญิงจำนวน 15 คนจากบ้านบางปลาหมอ ชุมชนรูสะมิแล และชุมชนใกล้เคียงในเขต อ.เมืองปัตตานี ได้รับสิ่งของจากน้ำใจขององค์กรดังกล่าวนี้ แววตาของเด็กๆ ขณะได้เลือกและรับชุดรายอใหม่นั้น เป็นแววตาที่ยากเกินอธิบาย แม้ราคาของแต่ละชิ้นไม่มาก แต่เปี่ยมด้วยน้ำใจจากผู้บริจาคที่ตั้งใจมอบโอกาสแก่พวกเขา
มัณฑนา แท่นบำรุง ผู้ดูแลและประสานงานบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชนในปัตตานี บอกว่า เด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ทั้งยากจนและด้อยโอกาส ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชน ดูแลมาอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้บริจาคเงินเพื่อชื้อชุดรายอจำนวนหนึ่ง ทำให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่น
"อยากให้สังคมมีส่วนร่วมดูแลพวกเขาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออุ้มชูเยาวชนเหล่านี้ให้มีโอกาสในทุกด้านเหมือนเด็กคนอื่นๆ ด้วย" มัณฑนา กล่าว
เป็นเรื่องดีๆ จากพื้นที่ปลายสุดด้ามขวานในช่วงเทศกาลฮารีรายอ...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1, 2 และ 4 บรรยากาศช่วงเช้าของวันรายอที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
3 หนุ่มมุสลิมสวมกอดขออภัยแก่กัน
5-7 เด็กๆ ด้อยโอกาสที่ได้รับแจกชุดรายอ