มูลนิธิชีววิถี แถลงโต้ความจริง ‘เมทิลโบรไมด์-โบร์ไมด์อิออน’
หมายเหตุ:ข้อเขียนนี้มิได้มีเจตนาจะทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายใด แต่ประสงค์จะให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถียินดีที่จะร่วมงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกร ผู้บริโภค และประชาชนร่วมกันต่อไป
วันที่ 8 ส.ค. 56 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในฐานะตัวแทนมูลนิธิชีววิถีและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงการณ์ตอบโต้คำแถลงของหน่วยงานภาครัฐ กรณีการตรวจสอบสารรมควันพิษในข้าวสาร มีรายละเอียด ดังนี้
ตามที่หน่วยงานราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายดำรง จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนรายวันและประชาชาติธุรกิจ (29 ก.ค. 56) กล่าวหามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถีให้ข้อมูลผิดพลาดและสับสนระหว่างเมทิลโบรไมด์กับโบรไมด์อิออน (อินออร์แกนิคโบรไมด์) ในข้าวสาร เพราะสารทั้งสองชนิดมีความเป็นพิษแตกต่างกัน และเรียกร้องว่า “แต่เมื่อรู้ว่าให้ข้อมูลผิดพลาดก็ต้องออกมายอมรับผิด ความรับผิดชอบต่อสังคมต้องมี ถ้าใครให้ข้อมูลผิดก็ต้องออกมารับผิดชอบ” เช่นเดียวกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ต่างก็ออกมาระบุคล้ายคลึงกันว่า มูลนิธิทั้งสองแปลข้อมูลผิด อีกทั้งอ้างว่า โบรไมด์อิออนนั้นเป็นสารที่ไม่อันตราย เมื่อซาวข้าวหรือหุงข้าวให้สุกแล้วปริมาณของสารนี้ก็จะหายไปเกือบหมด
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี ขอชี้แจงความจริงต่อประชาชนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1.มูลนิธิมิได้เข้าใจผิดและสับสนระหว่างการวัดค่าเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออน โดยมูลนิธิฯ ตรวจสอบการตกค้างของการรมควันพิษด้วยเมทิลโบรไมด์ โดยตรวจวัดเป็นค่าโบรไมด์อิออนตามค่าเกณฑ์การตกค้างของโคเด็กซ์ (Codex) ซึ่งกำหนดค่าการตกค้างของโบรไมด์อิออนในข้าวสารไว้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm)
ในระหว่างการแถลงข่าว มูลนิธิฯ ได้ชี้แจงให้สื่อมวลชนทราบถึงการกำหนดเกณฑ์การตกค้างของประเทศต่าง ๆ ซึ่งกำหนดการวัดปริมาณการตกค้างสูงสุด (MRL) โดยใช้ค่าของโบรไมด์อิออนทั้งสิ้น มูลนิธิฯ จึงมิได้สับสนหรือเข้าใจผิดระหว่างการวัดค่าเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออน ดังการกล่าวหาของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในคำแถลงเพื่อสื่อสารกับสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเรื่องการตกค้างของสารรมควันพิษนั้น ทั้งมูลนิธิฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานอย. ซึ่งวัดค่าการตกค้างของโบรไมด์อิออนเพื่อวัดการตกค้างของการรมเมทิลโบรไมด์เหมือนกัน ต่างก็ใช้คำแถลงต่อประชาชนว่าเป็นการตกค้างของเมทิลโบรไมด์ (ในรูปของโบรไมด์อิออน) เช่นเดียวกัน ดังตัวอย่างการให้สัมภาษณ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 12 ก.ค. 56 ที่ว่า...
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการตรวจคุณภาพข้าวสารบรรจุถุงและข้าวสารบรรจุกระสอบชั่งแบ่งขาย 33 ตัวอย่าง ล้วนไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฟอสฟีน เชื้อราอะฟลาทอกซิน รวมทั้งเมทิลโบรไมด์ก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งไม่เกิน 50 ppm” เช่นเดียวกับที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เช่น เดลินิวส์ ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ กรมประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ที่เผยแพร่ข่าวดังกล่าวในระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค. 56
มูลนิธิทั้งสองเห็นว่าการให้สัมภาษณ์ของหน่วยงานราชการดังกล่าว มีเจตนาทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรสาธารณะประโยชน์ เพื่อปิดบังความบกพร่องการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐและรัฐบาลในการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาต่อสาธารณชน
2.กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภคว่า การบริโภคข้าวสารที่มีการตกค้างของโบรไมด์อิออนเกินค่ามาตรฐาน 50 ppm นั้นไม่มีความเสี่ยงและไม่เป็นอันตราย
การกำหนดค่าตกค้างได้สูงสุดไม่เกิน 50 ppm ของโคเด็กซ์ (ซึ่งในกรณีอินเดีย จีน อาร์เจนตินา ไต้หวัน ได้กำหนดต่ำกว่านั้น) เป็นการกำหนดค่าการตกค้างใน ‘ข้าวสาร’ หรือ ‘ข้าวสารที่จำหน่ายในร้านค้าปลีก’ (at point of retail sale or when offered for consumption) การที่กรมวิชาการเกษตรซึ่งที่จริงก็ยอมรับว่า ตรวจพบข้าวสารบางยี่ห้อมีโบรไมด์อิออนสูงถึง 77.24 ppm หรือสำนักงานอย. ซึ่งต่อมาก็ยอมรับว่าตรวจพบการตกค้างสูงถึง 94.2 ppm นั้น ยืนยันชัดเจนว่าเป็นค่าที่เกินมาตรฐานการตกค้าง ซึ่งต้องเรียกคืนสินค้าดังกล่าวจากตลาดทันที เพราะเป็นค่าที่เกินมาตรฐานระหว่างประเทศที่ไทยยอมรับ
มิใช่ไปสร้างความเข้าใจผิดเพิ่มว่า เมื่อซาวข้าวสารด้วยน้ำและหุงแล้วสารดังกล่าวจะหายไปเกือบทั้งหมด เพราะค่ามาตรฐานดังกล่าว ได้กำหนดไว้ในรูปข้าวสาร ซึ่งได้ประเมินถึงปริมาณการลดลงเมื่อซาวข้าวหรือปรุงด้วยความร้อนแล้ว และยังคำนึงถึงโอกาสในการบริโภคอาหารประเภทอื่น ๆ ซึ่งมีโอกาสที่มนุษย์จะได้รับโบรไมด์อิออนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
อนึ่ง มูลนิธิฯ เห็นว่า การโน้มน้าวว่าปริมาณการตกค้างที่เกินมาตรฐานไม่อันตราย เพราะเมื่อซาวน้ำหรือหุงแล้วจะเหลือปริมาณสารน้อยมากหรือไม่เหลือเลยนั้น ขัดกับการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ตีพิมพ์การทดลองนั้นในวารสารวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ กล่าวคือ การวิจัยของ Nakamura และคณะ (1993) ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Agricultural and Food Chemistry พบว่าโบรไมด์อิออนที่ตกค้างจากการรมควันในข้าวสาร เมื่อซาวข้าวสารด้วยน้ำแล้วจะยังคงเหลือโบรไมด์ในข้าวสารซาวน้ำ 51.0% และเมื่อหุงเป็นข้าวสวยแล้ว ก็ยังคงมีโบรไมด์ตกค้างเหลืออยู่ถึง 41.2% มิใช่จะสามารถลดลงได้ทั้งหมดหรือเหลือเพียงเล็กน้อยตามที่หน่วยงานของรัฐได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณชน
การที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อ้างว่าการที่โคเด็กซ์กำหนดปริมาณสูงสุดที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยใน 1 วัน (ADI) คือ 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวผู้บริโภค 1 กิโลกรัม ดังนั้น “ผมน้ำหนัก 90 กิโลกรัม สามารถรับโบรไมด์อิออนได้ 90 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ผมต้องกินข้าวสารถึง 90 กิโลกรัมต่อวัน” จึงจะเป็นอันตราย เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดและไม่เข้าใจหลักการความปลอดภัยเรื่องอาหารเนื่องจากอันตรายของโบรไมด์อิออนจะเกิดผลกระทบในระยะยาว ดังนั้นค่า Maximum residue levels (MRL) ที่โคเด็กซ์กำหนดจึงอยู่ที่ไม่เกิน 50 ppm (มิลลิกรัมโบรไมด์อิออนต่อข้าวสาร 1 กิโลกรัม) ซึ่งถ้าเกินก็ไม่ปลอดภัย (ส่วนค่า ADI) ที่กล่าวอ้างนั้นเป็นเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดค่า MRL อีกทอดหนึ่งมิใช่นำมาเปรียบเทียบเช่นนั้น
3.อันตรายของโบรไมด์อิออน เมื่อเปรียบเทียบกับเมทิลโบรไมด์แล้ว ซึ่งมีความเป็นพิษสูงและงานศึกษาล่าสุด พบว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง (Barry KH et al. Methyl bromide exposure and cancer risk in the Agricultural Health Study. Cancer Causes Control. 2012 June ; 23 (6):807-818) แต่การศึกษาผลกระทบของโบรไมด์อิออนถือว่ายังมีข้อจำกัดอยู่ โดยประเด็นที่เริ่มมีการอภิปรายและถกเถียงกันมากขึ้น ได้แก่ ในทางทฤษฎีการได้รับโบรไมด์ในปริมาณมาก อาจเข้าไปทดแทนไอโอดีน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ (Velicky J et al. The Effect of Bromide on the Ultrastructure of Rat Thyrocytes,2004.) เป็นต้น
การพบความเป็นอันตรายของโบรไมด์อิออนมากขึ้นทำให้นักวิจัยบางกลุ่ม (van Leuween et al.1983) เสนอให้โคเด็กซ์ลดค่า ADI ของโบรไมด์ลงจาก 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักผู้บริโภคเป็น 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
4.ปัญหาการใช้สารรมควันพิษที่กระทบต่อการส่งออก อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้กล่าวอ้างว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งข้าวไปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไม่เคยถูกตีกลับ เพราะพบสารตกค้างแม้แต่ครั้งเดียว (มติชนรายวัน 1 ก.ค. 2556) ไม่เป็นความจริง เนื่องจากเมื่อปี 2537 สวีเดนได้ตรวจพบสารอินออร์แกนิคโบรไมด์เกินค่ามาตรฐานระหว่างประเทศ โคเด็กซ์ ในข้าวไทย 12 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 90 ตัวอย่าง เป็นผลให้ข้าวไทยถูกปฏิเสธการนำเข้าสวีเดนในส่วนที่ตรวจพบเกิดค่าที่กำหนด (วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 40 ฉบับที่ 2 หน้า 176)
ปัญหาการใช้สารรมควันพิษนอกเหนือจากการส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะแนวโน้มเมื่อเปรียบเทียบการพบโบรไมด์ตกค้างในข้าวสารเจ้าระหว่างปี 2538-39 เฉลี่ยเพียง 0.75 ppm เท่านั้น (วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อ้างแล้ว) ในขณะที่วิเคราะห์ล่าสุดที่ทำโดยมูลนิธิทั้งสองมีการพบการตกค้างเฉลี่ยสูงกว่าเดิมถึงสิบเท่าตัว
5.หน่วยงานของรัฐ ควรเร่งดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนมีอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง พัฒนากลไกการติดตามคุณภาพอาหารอย่างมีระบบ มีส่วนร่วม โปร่งใส และเชื่อถือได้