‘ดร.ยงยุทธ’ ชี้ไทยเข้าสังคมผู้สูงวัย รับภาระสวัสดิการสูง จี้รบ.หานโยบายรองรับ
ดร.ยงยุทธ แนะต้องมีนโยบายรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ชี้ต้องพัฒนาสังคม-การเมืองเร่งด่วน ห่วงรับภาระสวัสดิการสูง กระทบปัญหาการเงิน ด้านดร.สักรินทร์ เสนอทบทวนโยบายเปิดตลาดวิชาชีพ-ขยายช่วงอายุวัยเกษียณ
(เรียงจากซ้าย ดร.สักรินทร์ นิยมศิลป์,ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ )
วันที่ 8 สิงหาคม ชมรมนักข่าวอาเซียน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำโครงการการบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชน เรื่อง "ประชากรอาเซียน ความเปลี่ยนแปลง และความท้าทายของภูมิภาค" ณ อาคารสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรเข้าสู่ยุคผู้สูงวัย ซึ่งท้าทายต่อการพัฒนาประเทศและอาเซียนในด้านต่างๆ โดยมี ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ นักวิจัยและอาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ร่วมบรรยาย
ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า มองในระยะยาวอาเซียนกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยสมบูรณ์ ที่มีสัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่า 14% และ "สังคมสูงวัยสุดยอด" ที่มีสัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่า 20% เช่นในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ไทย ประชากรวัยสูงอายุเริ่มมากขึ้น สัดส่วนประชากรตามกลุ่มอายุของไทยในปี 2556 วัยเด็กต่ำกว่า 15 ปี เริ่มถดถอย เหลือประมาณ 19% วัยแรงงาน 15-64 ปี มี 71.4% ส่วนวัย 65 ปีขึ้นไป มี 9.9% อย่างไรก็ตาม ประชากรในประเทศไทยจะวนเวียนอยู่ที่ 65 ล้านคน
ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า เนื่องจากประชากรแต่ละวัยในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จากระดับการพัฒนาและนโยบายของแต่ละประเทศที่เชื่อมโยงกับภาวะเจริญพันธุ์ และการเติบโตของประชากร ทำให้ประเทศในอาเซียนยังสามารถใช้แรงงาน ถ่ายเทแรงงานระหว่างกันได้ โดยอัตราประชากรแรงงานไทยที่ย้ายออกไปประเทศปลายทางอย่าง ซาอุดิอารเบีย ไต้หวัน เมียรมาร์ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย กว่า 340,000 คน และมีประชากรแรงงานจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และฟิลิปปินส์ เข้ามาทำงานในไทย
"การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยสิ่งที่ประเทศไทยต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน ได้แก่ ด้านสังคม อิสรภาพ เสถียรภาพ และทางการเมือง ส่วนสิ่งที่ต้องปรับปรุง ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม อิสรภาพ ภาพลักษณ์และการคอร์รัปชั่น และเมื่อประชากรวัยแรงงานน้อยลง เรื่องที่ต้องระมัดระวังคือปัญหาหารเงิน เนื่องจากภาระสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น มีผลให้อาจต้องเพิ่มการเก็บภาษี เรื่องเหล่านี้รัฐต้องมีนโยบายที่รองรับ"
จี้รัฐทบทวนโยบายเปิดตลาดวิชาชีพ-ดึงแรงงานฝีมือ รับสังคมผู้สูงวัย
ขณะที่ดร.สักกรินทร์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว และจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ประมาณ ปี 2563 และจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ประมาณปี 2573 คาดว่า ในปี 2583 อาเซียนจะมีประชากร 728 ล้านคน หรือร้อยละ 8 ของประชากรโลก 9,000 ล้านคน สัดส่วนประชากรวัยเยาว์จะลดลงจากร้อยละ 26 เป็นร้อยละ 19 สัดส่วนประชากรวัยแรงงานจะลดลงจากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 67 สัดส่วนประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 15
"สำหรับประเทศไทยผลที่เกิดขึ้น ในปี 2556 อัตราเกื้อหนุนระหว่างประชากรวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุ ในปี 2556 อัตรา 7.2 ปี 2563 อัตรา 5.4 ปี 2573 อัตรา 3.5 และปี 2583 อัตรา 2.5 (ดังตารางข้างต้น)" ดร.สักกรินทร์ กล่าว และว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานจะทวีมากขึ้น จากปัจจุบันขาดแคลนอยู่แล้ว ในอนาคตอาจต้องเพิ่มการจ้างแรงงานวิชาชีพเพิ่มมากขึ้นด้วย
"โดยเฉพาะในปี 2573 และ 2583 รัฐต้องทบทวนโยบายเปิดตลาดวิชาชีพและดึงแรงงานฝีมือเพิ่มมากขึ้น และการปรับตัว อาจต้องเพิ่มช่วงอายุของวัยเกษียณจากเดิม 60 ปี ให้โอกาสทำงานมากขึ้น หากต้องการจะทำ เช่นในฝรั่งเศส อเมริกา และเยอรมัน กำลังขยายการเกษียณอายุกรทำงาน กลุ่มคนเหล่านี้มีประสบการณ์ มีความรู้สะสมยังสามารถเป็นทุนยมนุษย์ที่สำคัญได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องคิดหาบทบาทให้"
ดร.สักกรินทร์ กล่าวต่อว่า แม้ปัจจุบันไทยเปิดรับแรงงานต่างชาติอยู่แล้ว แต่ในอุตสาหกรรมบางภาคส่วนยังไม่เพียงพอ ยิ่งในอนาคตภาครัฐจะมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ เกิดขึ้น ยิ่งจะต้องหาแรงงานใหม่ จากประเทศอื่น โดยพิจารณาอุปสงค์ อุปทานในประเทศให้เพียงพอ
"หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนระบบให้สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังมาถึง จะเกิดผลกระทบต่อการเงิน การคลัง และสังคม การใช้จ่ายของประเทศจะเพิ่มขึ้น รัฐบาลอาจต้องเก็บภาษีสูงขึ้น ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า คนวัยเกษียณอาจได้เงินไม่ครบที่ได้จ่ายไป หมายความว่าจะขาดทุน ขณะนี้จึงต้องคิดว่าแผนรองรับ เช่น หนุนให้เกิดการออมระหว่างบุคคล เพื่อให้สามารถเลี้ยงตนเองได้ในยามวัยเกษียณ และในด้านสังคม ควรจะเพิ่มกลไกระบบชุมชนเพื่อผู้สูงวัย ให้สามารถดูแลอย่างทั่วถึง เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องปรับแนวคิดกันใหม่"
โดยเฉพาะในด้านพหุสังคม ดร.สักกรินทร์ เห็นว่า ควรมีนโยบายพหุสังคม ที่ปรับทัศนคติคนไทยต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะคนไทยในเขตเมืองที่มีทัศนคติเชิงลบ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเองทั้งด้านการศึกษา และการทำงาน ไม่ถูกเบียดบังในระบบ หรือสิทธิต่างๆ
อ่านเอกสารประกอบการบรรยายเพิ่มเติม