เปิดมุมมอง...พัฒนาข้าวไทยอย่างไรให้ "ตอบโจทย์" ชาวนา
"ข้าว" ถือเป็นอาหารหลักเเละเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทย อาชีพนี้น่าจะทำให้ชาวนาไทยร่ำรวยเเละมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
หากเเต่ความจริงเเล้วกลับตรงกันข้าม ดังนั้นเพื่อสร้างความยั่งยืนเเก่ชาวนาในอนาคต การระดมเเนวคิดจากฐานรากสู่รบ.จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ดูเหมือนความมุ่งหวังของอธิบดีกรมการข้าวอย่าง ‘นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ’ ที่จะเกษียณอายุราชการในก.ย.นี้ ต่อการผลักดันนโยบายการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน เพื่อชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น ได้เริ่มเห็นประกายแสงรูปธรรมมากขึ้นจากที่เคยรำไร ๆ เพราะด้วยรัฐบาลลุกขึ้นมารับลูก เดินหน้าปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งใหญ่ หลังเจอพิษร้ายเข้าเส้นเลือด ‘โครงการรับจำนำข้าว’
หนึ่งในนั้นคือการทุ่มงบประมาณภาครัฐทำสปอตโฆษณาเชิญชวนให้ชาวนาหันมายึดหลัก "3 ต้องทำ 3 ต้องลด" เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวเป็นแกนหลัก ออกอากาศผ่านทางช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ มีมือขวานายกปูอย่าง ‘นายวราเทพ รัตนากร’ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระโดดมารับตำแหน่งพรีเซนเตอร์
อย่างไรก็ตาม แม้ชาวนาบางคนจะไม่ค่อยเข้าใจสูตรดังกล่าวมากนั้น แต่ความสำเร็จจากการนำร่องของ 26 หมู่บ้านลดต้นทุนการผลิตตั้งแต่ปี 2554 พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถลดรายจ่ายเบ็ดเสร็จได้สูงถึง 2,000 บาท/ตัน โดยเฉพาะข้าวนาปรังจากต้นทุนปกติ 8,371 บาท/ตัน หากใช้สูตร 3 ต้องทำ 3 ต้องลดแล้ว จะเหลือต้นทุนเพียง 6,490 บาท/ตันเท่านั้น
นี่ยังไม่นับรวมผลงานเด่น ๆ ของกรมการข้าวที่มองการณ์ไกลนำหน้าความคิดรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว แม้อาจจะสะดุดบ้างด้วยขาดงบประมาณที่อธิบดีหวังจะได้ 10,000 ล้านบาท/ปี เพื่อพัฒนาแบบครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าว ส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต หรือเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวใหม่ จะไม่ได้ดั่งใจหวัง แต่ยังมุ่งมั่นชูไทยเป็นหนึ่งเรื่องข้าวต่อไป
“ผมเองอยู่ในกรมการข้าว เรารับผิดชอบภาคการผลิตโดยดูแลชาวนามาตลอด และติดตามสถานการณ์ทุกด้าน แต่ยังพบชาวนาเกิดปัญหามากมาย ดังนั้นทิศทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องจะต้องมองไปที่ความยั่งยืน” คำกล่าวของนายชัยฤทธิ์ในการเปิดประชุมระดมความคิด ‘ตอบโจทย์ชาวนา...ตอบโจทย์ประชาชน’ บทบาท กลไก และแนวทางเสริมสร้างประสิทธิภาพชาวนาให้พึ่งพาตนเองได้
จากนั้นจึงเปิดฟลอร์ให้ตัวแทนชาวนานำเสนอแนวคิดเพื่อการจัดการแบบยั่งยืนก่อนจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
‘ปัญญา ใคร่ครวญ’ วอนรบ.จัดระบบที่ดิน-น้ำ หวังเอื้อประโยชน์ทำนา
ปัญญา ใคร่ครวญ ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า อดีตชาวนาอยู่กับไร่กับนาอย่างมีความสุข เรียกว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว โดยไม่ต้องหวังพึ่งหน่วยงานภาครัฐ แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาขึ้นมากมาย ด้วยสาเหตุเราไม่เคยพึ่งตนเอง สุดท้ายถูกคนบางกลุ่มจับชาวนาเป็นตัวประกัน
“เราได้แค่คอย ขอ รอ เพื่อให้ใครมาดลบันดาล รอแล้วรอเล่า เหลือรุ่นเราทำนาจะมัวขออยู่อีกทำไม ควรลงมือทำเลย โดยปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์” ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ กล่าว และว่าชาวนาไทยยังคงคุ้นชินกับการทำนาปุ๋ยเคมี เพราะไม่มั่นใจว่าหากทำแบบอินทรีย์ในผืนนาเช่าแล้ว เจ้าของที่ดินอาจยึดคืนไปทำเองได้ เมื่อพบว่าดินบริเวณดังกล่าวดี จึงถือเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม แม้การทำนาแบบอินทรีย์จะประสบผลสำเร็จยาก เนื่องจากต้องใช้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ แต่ยืนยันได้ว่าทุกคนสามารถทำได้ ยกตัวอย่างการขับเคลื่อนในกลุ่มตนเองตั้งเป็นกองทุนตั้งแต่ปี 2543 ด้วยเงินตั้งต้นเพียง 1,200 บาท จนปัจจุบันมีเงินงอกเงยสูงถึงกว่า 2 ล้านบาท เพราะมีการบริหารไร่นาที่ดีและแปรรูปผลิตผลเอง ที่สำคัญเมื่อตลาดทราบว่ากลุ่มมีผลิตผลอินทรีย์ต่างมาซื้อเพื่อนำไปบริโภค และเกิดการขยายตลาดไปสู่กลุ่มธุรกิจอาหารสุขภาพด้วย
เขายังฝากถึงรัฐบาลด้วยว่า ชาวนาไม่อยากเห็นโครงการรับจำนำให้ราคาข้าวดี เพราะชาวนาสามารถกำหนดราคาและแปรรูปผลิตผลเองได้ แต่อยากเห็นรัฐบาลใส่ใจในการจัดระบบที่ดิน ระบบชลประทาน และอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการทำนาที่ให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างจริงจังมากกว่า
ชาวนาเมืองเพชรชงรัฐหนุนตั้งราคาขาย-แปรรูปข้าวเอง
ระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายศูนย์ชาวนาชุมชน จ.เพชรบุรี มองว่าการทำให้ชาวนาเกิดความยั่งยืนในอาชีพทำนานั้นต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลเป็นหลักที่เป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาข้าวไทยให้ยั่งยืน มิใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ยกตัวอย่างก.เกษตรฯ เดินหน้านโยบายศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ หวังจะนำครัวไทยไปสู่ครัวโลก แต่ปรากฏว่าเมื่อมีโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพข้าวทันที ดังนั้นเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงนโยบายในอนาคต รัฐบาลต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ
“ไม่เคยเชื่อถือนโยบายรัฐบาล ผมจึงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเอง ทำนาไว้บริโภคเอง เหลือจึงนำไปขาย ทั้งนี้ยอมรับว่าการส่งเสริมให้ชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเองเป็นสิ่งที่ดี แต่จะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ต่อยอด ทำให้ชาวนาผลิตแล้วไม่มีตลาดรองรับ สุดท้ายจำเป็นต้องนำไปขายให้โรงสีในราคาปกติแทน ส่งผลให้ศูนย์ข้าวชุมชนเจ๊งหมด”
พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ชาวนาจน แต่พ่อค้าคนกลางรวย เนื่องจากชาวนาต้องขายข้าวคุณภาพให้ตลาดผ่านโรงสีแทนที่จะมีสิทธิตั้งราคาขายและแปรรูปเอง จึงเสนอให้มีการขายแบบคู่ขนาน และหันมาส่งเสริมธุรกิจในรูปแบบสหกรณ์อย่างจริงจัง
‘ชินกร เกรียงยะกุล’ ร้องเสริมความรู้ธุรกิจส่งออกข้าวแก่ชาวนา
“รัฐบาลควรมีโรงสีชุมชนให้ชาวนาบริหารจัดการและแปรรูปส่งออกเองแทนการขายข้าวเปลือกให้โรงสี” ชินกร เกรียงยะกุล ชาวนา อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ กล่าวถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลในการส่งเสริมให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
ก่อนจะกล่าวต่อว่า หากสมมติตนเองทำนาสามารถส่งออกข้าวได้เอง ปัญหารายได้ของชาวนาจะไม่เกิดขึ้นดังเช่นปัจจุบัน เพราะต้องยอมรับว่าชาวนาลืมตาอ้าปากไม่ได้แล้ว ไม่เฉพาะราคา แต่ยังหมายรวมถึงภัยธรรมชาติ และเทคโนโลยีการผลิตด้วย จึงหวังจะให้รัฐบาลหันมาส่งเสริมแนวทางการทำธุรกิจส่งออกบ้าง
ด้านสมบุญ จุมสุวรรณ์ อีกหนึ่งชาวนา อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ เสนอให้ลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยหันมาใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็น และเติมเต็มด้วยวิถีการพึ่งพิงธรรมชาติแทน พร้อมกันนี้จะต้องให้ชาวนาได้สิทธิกำหนดราคาขายแทนรัฐบาล มิเช่นนั้นก็จะถูกพ่อค้าคนกลางโกงได้ดังเช่นปัจจุบันนี้
ขณะที่สวิด แสงตะคร้อ ชาวนา อ.หันคา จ.ชัยนาท เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการรวมตัวขององค์กรชาวนาเพื่อมุ่งหวังให้เกิดสิทธิการต่อรองราคาขายเอง นอกจากนี้จะต้องส่งเสริมให้เกิดการลด ละ เลิกใช้สารเคมีอย่างจริงจัง โดยเปลี่ยนมาใช้น้ำหมักชีวภาพ ขับเคลื่อนภายใต้วิถีเศรษฐกิจพอเพียง
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีข้อเสนอโดยรวมเห็นพ้องกัน โดยประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.จะต้องส่งเสริมให้ชาวนาเกิดการลดต้นทุนการผลิต 2.สร้างองค์ความรู้สู่ความเป็นมืออาชีพทำนา 3.ยกระดับมาตรฐานคุณภาพข้าวไทย เช่น การผลิตข้าวอินทรีย์ 4.ผลักดันให้เกิดตลาดการค้าข้าวเสรี และ 5.รัฐบาลต้องอุดหนุนเงินค่าปัจจัยการผลิต 1,000 บาท/ไร่
.......................................................................
เพียงเท่านี้เชื่อมั่นว่า ‘โครงการรับจำนำข้าว’ คงต้องหลีกทางให้กับแนวคิดข้างต้น เพราะชาวนาไทยมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนแน่นอน แต่ก็ขึ้นอยู่กับหัวเรือใหญ่อย่างรัฐบาลเพื่อไทยที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้เรือแต่ละลำไปสู่ฝั่งฝันหรือไม่? .