อดีตอธิการบดี มศว.ชี้ลอกการบ้าน-รายงาน ทุจริตเล็กๆ ก่อปัญหาใหญ่ในอนาคต
ม.ศรีปทุม รุกคืบโครงการบัณฑิตไทยไม่โกง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการคณาจารย์ ด้านรศ.ดร.วิชัย ชี้การให้เกรดอยู่ที่ปลายปากกา จำเป็นต้องสร้างมาตรฐาน อย่าให้เกิดข้อกังขา เอนเอียง พร้อมดีไซน์การสอนให้ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล “บัณฑิตไทยไม่โกง” ณ อาคาร 11 มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
ดร.สิรินธร สินจินดาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวถึงความสำคัญของโครงการว่า ต้องการสร้างคุณธรรม จริยธรรม ให้กระจายในกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน สำนักงานอุดมศึกษาจึงจัดทำโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล “บัณฑิตไทยไม่โกง” โดยขอความร่วมมือให้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเพื่อพัฒนานิสิต
"ม.ศรีปทุมถูกคัดเลือกให้ร่วมโครงการ อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่มีบทบาทพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณธรรมจริยธรรม จึงจำเป็นที่จะต้องหากลไกวิธีการปลูกฝังคุณธรรมให้เกิดขึ้นในการเรียนการสอน ด้วยการจัดกิจกรรมอบรมสอนอย่างไรให้บัณฑิตไม่โกงขึ้น"
จากนั้นมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เทคนิคการสอนอย่างไรให้บัณฑิตไทยไม่โกง” โดย รศ.ดร.วิชัย วงศ์ใหญ่ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงหลักสูตรการเรียนการสอนมักมีการทุจริตเกินขึ้นโดยไม่รู้ตัว บางทีเด็กทุจริตโดยไม่รู้ตัว เช่น การลอกรายงานเพื่อน การลอกการบ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นการทุจริตเล็กๆที่จะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต
“การจะนำเอาคุณธรรม จริยธรรม เข้ามาสอนเด็กนั้นไม่ใช่เมื่อเด็กทำผิดแล้วบอกว่า มันแย่ หรือมันไม่ดี ซึ่งบางทีเด็กโตๆไม่ฟัง แต่เราควรสอนพื้นฐานความดีที่เป็นหลักสากลนั้นมีอะไรบ้าง โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเอามาสอน นักเรียนจะได้รู้สึก ใกล้ตัว สอนให้เขาตระหนักและเห็นความสำคัญกับคุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังให้ตระหนัก ย้ำเตือนไปเรื่อยๆ รวมทั้งผู้สอนต้องบอกว่า คนดีมีคุณธรรมคืออะไร คือคนที่ตรงต่อเวลามีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีวินัยในตนเอง และเสียสละหรือการมีจิตสาธารณะ เชื่อว่า เมื่อเน้นย้ำถึงสิ่งนี้บ่อยๆ เด็กจะซึมซับและปฏิบัติเองและในที่สุดเขาก็จะมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม”
ทั้งนี้ รศ.ดร.วิชัย กล่าวถึงการประเมินการเรียนการสอนของผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัย ก็ต้องไม่ทำให้นิสิตนักศึกษามีข้อกังขาถึงความเอนเอียง หรือความไม่มีมาตรฐาน เช่น การให้เกรดในระดับสถาบันอุดมศึกษาอยู่ที่ปลายปากกาของผู้สอน ต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมกับผู้เรียนทุกคน รวมทั้งตัวผู้สอนนั้นต้องรู้จักการดีไซน์การสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน เพราะยังไม่มีผลวิจัยงานใดที่บ่งบอกได้ว่า การสอนแบบไหนที่ได้ผลดีที่สุด จึงเป็นหน้าที่ของครูผู้ผลิตบัณฑิตทุกคนต้องหาวิธีปรับและดีไซน์การสอนให้มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและตัวนักศึกษา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.วรากรณ์ เสนอ 4 วิธี กำราบบลูกหนี้ กยศ.ชักดาบ ไม่ชำระหนี้