กรมข้าวหนุนวิจัยปรับปรุงพันธุ์ –ตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา หวังแก้ปัญหายั่งยืน
กรมข้าวหนุนวิจัยปรับปรุงพันธุ์-ตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา หวังแก้ปัญหายั่งยืน ชี้เหตุชลประทานอีสานไม่ถึง 10% ทำผลผลิตข้าวไทยต่ำ สภาที่ปรึกษาศก. เสนอครม. หาแนวทางลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้เกษตรกร ครอบคลุม ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ
วันที่ 7 ส.ค. 56 กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ร่วมกับสมาคมชาวนาข้าวไทย จัดประชุมระดมความคิด ‘ตอบโจทย์ชาวนา...ตอบโจทย์ประชาชน’ บทบาท กลไก และแนวทางเสริมสร้างประสิทธิภาพชาวนาให้พึ่งพาตนเองได้ ณ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาของชาวนาอย่างยั่งยืน มีดังนี้ 1.ต้องรวมตัวเครือข่ายชาวนาและศูนย์ข้าวชุมชน 2,160 ศูนย์ ยกระดับเป็นสหพันธ์ชาวนาแห่งประเทศไทยให้ได้ 2.ต้องวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อการแข่งขันในตลาดโลก เพราะเชื่อว่าการวัดคุณภาพข้าวในอนาคตแพ้ชนะขึ้นอยู่กับงานวิจัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการเซ็นสัญญาข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการวิจัยของไทยแล้ว และมีการดำเนินงานคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ที่จะมาแทนที่ข้าวหอมมะลิ เพื่อหนีเวียดนามที่พยายามชิงความเป็นหนึ่งด้านข้าวหอมของโลก อีกทั้งวันที่ 19 ส.ค. 56 จะประกาศรับรอง 5 สายพันธุ์ข้าวชนิดใหม่อีกด้วย
3.ส่งเสริมให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต โดยกรมการข้าวได้นำร่องมาตั้งแต่ปี 54 ใน 26 หมู่บ้านทั่วประเทศ ภายใต้หลักการ 3 ต้องทำ 3 ต้องลด ซึ่งพยายามให้ความรู้กับชาวนาในท้องถิ่น แต่ยังขาดงบประมาณในการสนับสนุนเพื่อลดต้นทุนการผลิตจากรัฐบาล 4.ต้องเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวใหม่ ซึ่งเท่าที่จำได้ไทยมีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวพร้อมกันทั้งประเทศราวปี 2520 เพื่อจะส่งเสริมให้มีสายพันธุ์ข้าวที่ดีมากขึ้น ดังนั้นมองว่าหากมีการล้างท่อทั้งประเทศอีกครั้งหนึ่ง ภายใน 3-5 ปีนี้จะสามารถเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ได้ทั้งหมด เพราะต้องยอมรับว่าตามหลักวิชาการข้าวหอมมะลิในภาคอีสานไม่ใช่สายพันธุ์แท้อีกแล้ว
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวอีกว่า 5.ต้องยกระดับคุณภาพข้าว ตราบใดที่ชาวนายังขายข้าวเปลือกให้โรงสีอยู่จะเสียเปรียบได้ ดังนั้นจะต้องส่งเสริมให้มีการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ใช้ทำเครื่องสำอาง ยารักษาโรค และเครื่องใช้ต่าง ๆ และสุดท้าย 6.ต้องตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนาไทย เพื่อสร้างหลักประกันให้ชาวนามีบำเหน็จบำนาญ มีความมั่นคงในชีวิต และตอบโจทย์ให้คนรุ่นใหม่หันมายึดอาชีพทำนา ซึ่งขณะนี้ได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
“จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุต้นทุนการผลิตเฉพาะข้าวนาปรังอยู่ที่ 8,371 บาท/ตัน ขณะที่หมู่บ้านตัวอย่างของกรมการข้าวมีต้นทุนเพียง 6,490 บาท/ตัน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าหากดำเนินงานตามแผน 3 ต้องทำ 3 ต้องลด จะสามารถลดต้นทุนได้ตันละ 2,000 บาท” นายชัยฤทธิ์ กล่าว และยังชี้แจงถึงสาเหตุปริมาณผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยต่ำ เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน มีลักษณะเป็นดินทราย และมีระบบชลประทานเพียง 10% นอกจากนี้สายพันธุ์ข้าวส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวคัดพื้นเมืองที่ให้ผลผลิตน้อย แต่ให้ราคาสูง คือ พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าวเหนียว กข.6 จึงสามารถชดเชยกันได้ พร้อมยืนยันว่ามิได้มาจากการขาดเทคโนโลยีหรือพันธุ์ข้าวแต่อย่างใด
ขณะที่การประชุมเพื่อพิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศ.) นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสาระสำคัญแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวอย่างยั่งยืนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครอบคลุมมิติ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิต ด้านการตลาด และด้านการบริหารจัดการโครงสร้างการแบ่งปันรายได้ โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมกลไกด้านการตลาดให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ และบริหารจัดการแบ่งปันรายได้ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“ที่ประชุมเห็นพ้องว่าในแต่ละด้านนั้นมีเนื้อหาและรายละเอียดค่อนข้างมาก เช่น ด้านการผลิต มีประเด็นการบริหารจัดการพื้นที่ปลูกข้าว อาทิ การจัดพื้นที่การทำนาให้เพียงพอ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการออก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม โฉนดที่ดินทำกิน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจัดที่ดิน ทำกินให้เกษตรกรตามรายภูมิภาค การเร่งผลักดันการออกโฉนดชุมชน การจัดโซนนิ่งกำหนดพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งการดำเนินงานจึงเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน” ปลัดก.เกษตรฯ กล่าว และว่าจึงมีมติมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรไปดำเนินการแยกแยะเนื้อหาและประเด็นในเรื่องต่างๆ เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด เพื่อเสนอเรื่องนั้น ก่อนขอความเห็นหรือข้อเสนอแนะส่งกลับมายังก.เกษตรฯ อีกครั้งภายใน 10 วัน
นายชวลิต กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้กรมการข้าวร่วมดูในรายละเอียดของแต่ละประเด็น รวมถึงความเชื่อมโยงกับเรื่องของยุทธศาสตร์ข้าวด้วย ซึ่งภายหลังที่ได้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกหน่วยงานครบถ้วนแล้ว ก.เกษตรฯ จะจัดเวทีเสวนาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวอย่างยั่งยืนอีกครั้ง โดยจะเชิญกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ภาคราชการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมการประชุม เพื่อให้ได้ข้อสรุปของแนวทางการทำงานและการแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวที่ชัดเจน ก่อนเสนอเรื่องต่อครม. เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน .