ข่าวปลด ฮัสซัน ตอยิบ
มีข่าวที่เปิดจากสื่อหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง และกลายเป็นประเด็นไถ่ถามวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางมาหลายวัน คือข่าวการปลด นายฮัสซัน ตอยิบ จากประธานสภาบีอาร์เอ็น ซึ่งจะส่งผลสะเทือนต่อการเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพกับทางการไทยด้วย
ในข่าวอ้างว่า สะแปอิง บาซอ กับ มะแซ อุเซ็ง ซึ่งอยู่ในโครงสร้างของสภาบีอาร์เอ็น ไม่พอใจผลการพูดคุยเพราะไม่มีผลอะไรเป็นรูปธรรมเลยสักข้อ โดยเฉพาะเรื่องหยุดยิงช่วงรอมฎอน ทำให้นายฮัสซันหมดเครดิต นำไปสู่การถูกปลด
ข่าวยังบอกอีกว่า นายฮัสซัน คือประธานสภาบีอาร์เอ็น ส่วน สะแปอิง อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยา เป็นเลขาธิการ และมี มะแซ อุเซ็ง ผู้ต้องหาคดีปล้นปืนของทางการไทยเป็น รมว.กลาโหม
ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 6 ส.ค.ยังมีข้อมูลทางเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งว่า นายฮัสซันถอดใจขอถอนตัวจากคณะพูดคุยสันติภาพแล้ว...
ผมถูกถามเรื่องนี้ค่อนข้างมากจากหลากหลายบุคคล อาจเป็นเพราะติดตามข่าวภาคใต้มานาน ส่วนตัวยอมรับตามตรงว่าฟันธงไม่ได้ว่าจริงหรือไม่ แต่พอจะวิเคราะห์ได้ในบางมิติ จึงขอหยิบมาคุยให้ฟังในคอลัมน์นี้ด้วย
เรื่องนี้เป็นประเด็นค่อนข้างอ่อนไหว เพราะจริงๆ แล้ว "หน่วยข่าวไทย" ไม่ได้มีข้อมูลชัดเจนอะไรนักในเรื่อง "สภาองค์กรนำ" ของบีอาร์เอ็น หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า "ดีพีพี" โดยข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคงต่างหน่วยยังไม่ค่อยตรงกันด้วยซ้ำ
เริ่มจากข้อมูลสาย พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาค 4 ที่ได้พูดคุยกับแนวร่วมก่อความไม่สงบระดับต่างๆ มาหลายพันคน ข้อมูลของ พล.อ.สำเร็จ ระบุว่า โครงสร้างของดีพีพี มีประธานสภา และกรรมการฝ่ายต่างๆ รวม 7 ฝ่าย มี สะแปอิง บาซอ ผู้นำจิตวิญญาณคนสำคัญเป็นเลขาธิการ รวมจำนวนกรรมการในดีพีพีทั้งหมดก็ 9 คน การตัดสินใจใช้ระบบฉันทามติ ไม่มีใครเสียงใหญ่ที่สุด
ส่วนข้อมูลจากหน่วยข่าวมี 2 สูตร คือ สูตรการจัดรูปแบบองค์กรเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์จีน (บีอาร์เอ็นก่อตั้งในยุคที่ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่กระจายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) สูตรนี้คนที่นั่งเก้าอี้ "เลขาธิการ" จะมีความสำคัญที่สุด (เหมือนเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ซึ่งหากเป็นสูตรนี้ สะแปอิง บาซอ จะนั่งเป็นเลขาธิการ กับอีกสูตรหนึ่งเป็นการจัดรูปแบบองค์กรเหมือนปกติทั่วไป ประธานคณะกรรมการ หรือ บอร์ด จะมีอำนาจสูงสุด หากเป็นสูตรนี้ สะแปอิง จะอยู่ในตำแหน่งประธานบอร์ดบีอาร์เอ็น
ที่น่าสนใจคือไม่มีใครรู้ว่า ฮัสซัน ตอยิบ อยู่ตรงไหนของโครงสร้างกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือไม่ปรากฏชื่อ มะแซ อุเซ็ง อดีตครูโรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส อยู่ในโครงสร้างเลย ทั้งๆ ที่หน่วยข่าวไทยยุคต้นสงครามไฟใต้วาดภาพเอาไว้ว่าเป็น "หัวหน้าทีมปล้นปืน" ครั้งมโหฬารกว่า 400 กระบอกไปจากค่ายปิเหล็ง เมื่อ 4 ม.ค.2547 และมีตำแหน่งเป็นถึงผู้นำฝ่ายทหารในสภาองค์กรนำ แต่ข้อมูลการข่าวยุคปัจจุบันกลับยืนยันตรงกันว่าไม่พบชื่อ มะแซ อุเซ็ง
จริงๆ แล้ว ฮัสซัน ตอยิบ อาจไม่มีตำแหน่งแห่งหนอะไรในสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็นเลยก็ได้ เพราะ สุณัย ผาสุก จากฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย เคยบอกว่านายฮัสซันเป็น "คนเดินสาร" ระหว่างโต๊ะเจรจากับสภาดีพีพี หากเป็นเช่นนี้แล้วจะปลดจากอะไร เพราะไม่ได้มีอำนาจอะไร การตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับดีพีพี
ส่วนที่ว่าแกนนำบีอาร์เอ็นสายเหยี่ยว (ในสภาองค์กรนำ) และบรรดานักรบรุ่นใหม่ในพื้นที่อาจไม่พอใจบทบาทของนายฮัสซันที่เจรจากับรัฐบาลไทยนั้น ถ้าข้อมูลนี้เป็นความจริง พวกสายเหยี่ยวไม่เอาเจรจาก็น่าจะพอใจกับสถานการณ์ใต้ที่กำลังป่วนหนัก และที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นว่าบีอาร์เอ็นเพลี่ยงพล้ำอะไรตรงไหนจากโต๊ะเจรจา พอเหตุรุนแรงเกิดขึ้นมาก็โทษรัฐไทย
ทราบว่าเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ส.ค. นายฮัสซันได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นมุสลิมจากชายแดนใต้ โดยเจ้าตัวพูดถึงสถานการณ์ภาพรวมในพื้นที่ และยืนยันว่าตนเองยังเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่าโต๊ะเจรจาครั้งนี้มีมาเลเซียเป็น "เจ้าภาพใหญ่" ฉะนั้นการจะเปลี่ยนตัวหรือไม่ น่าจะต้องถาม นาจิบ ราซัก ก่อนกระมัง
นี่คือข้อมูลที่พอจะตอบได้ ณ เวลานี้ กับข่าวการปลดนายฮัสซัน ตอยิบ!
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายฮัสซัน ตอยิบ เมื่อครั้งแถลงท่าทีและข้อเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ YouTube