อดีตเลขาฯ ปปท. ฉะมองไม่เห็นทางสำเร็จ รบ.จัดอีเว้นท์ ปราบคอร์รัปชั่น
ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เผยข้อตกลงคุณธรรมเสี่ยงถูกดอง หน่วยงานรัฐรอคำสั่งนายกฯ วางนโยบายแผนต้านทุจริต ด้าน "พ.ต.อ.ดุษฎี" สะท้อนปัญหาขรก.ทำดีถูกย้าย ฉะแนวทางปราบปรามคอร์รัปชั่นรบ. มีแต่จัดอีเว้นท์-ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน
(นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์, ดร.มานะ นิมิตรมงคล, นายภาส ภาสสัทธา, พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ)
เมื่อเร็วๆ นี้ในเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง "บทบาทภาคประชากรสังคมกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น" ภายใต้โครงการวิจัย "คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชั่น" ที่จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี พันตำรวจเอกดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมเสวนา
พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า ช่วงที่ทำงานตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้เน้นการติดตาม ปราบปราม 3 ด้าน ได้แก่ 1.ทุจริตภาษี 2.ทุจริตงบประมาณ งบจัดซื้อจัดจ้าง และ 3.ทุจริตทรัพยากรธรรมชาติ การครอบครอง ออกเอกสารสิทธิ์มิชอบ และเมื่อทุจริตมากๆ ก็เกิดภัยพิบัติ ตามด้วยทุจริตงบภัยพิบัติ เป็นเงินกู้ที่นำมาใช้บรรเทาทุกข์พี่น้องประชาชน
"รัฐบาลอาจมองว่า ผมประสบความสำเร็จแล้วเลยให้คนอื่นเข้ามาทำงานแทน แล้วให้ผมนั่งอยู่วงนอกดูว่า มาถูกหรือผิด แต่จนขณะนี้ผมคิดว่า หากทำอย่างผมคงไม่สำเร็จ เพราะทำไปรัฐบาลก็ให้ออกมานั่งดูเฉยๆ เมื่อนั่งดูคนอื่นทำ ผมก็เห็นว่า การต่อสู้กับทุจริตคอร์รัปชั่นกลับใช้วิธีจัดงานอีเว้นท์ (Event) ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะไม่ทุจริต รวมถึงการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน (Call Center) มาแก้ทุกปัญหา ทั้งหมดมองไม่เห็นหนทางสำเร็จได้เลย"
พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวถึงข้าราชการน้ำดี เชื่อว่า ยังมีอีกมากในประเทศไทย เพราะจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เรื่องที่ประชาชนสะท้อนมาว่า เดือดร้อนมากที่สุด ได้แก่ โครงการรับจำนำ ประกันราคาพืชผล และงบภัยพิบัติ ซึ่งสะท้อนชัดว่ารากหญ้ารู้สึกอย่างไร
"หากภาคประชาสังคมมีพลังและสร้างให้รัฐบาลตระหนัก หาทางแก้ไข โดยเฉพาะประเด็นปัญหา ความเสี่ยงที่อาจเกิดการคอร์รัปชั่นของหน่วยงานรัฐที่มีผู้แจ้งข้อมูล ดีกว่าให้เกิดการตรวจสอบกันเองภายในกระทรวง ที่ท้ายที่สุดผู้ให้ข้อมูลจะถูกตั้งคณะกรรมการสอบเสียเอง เช่นกรณีที่เคยเกิดขึ้น"
ข้อตกลงคุณธรรมเสี่ยงถูกดอง
ขณะที่ดร.มานะ กล่าวในบทบาทภาคเอกชนว่า ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำลังร่างมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยึดหลักคิดจะไม่ลงทุน หรือเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ให้การสนับสนุนผู้ที่เกี่ยวข้องหรือกระทำการคอร์รัปชั่น และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้ทำข้อตกลงคุณธรรม กับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.กระทรวงการคลัง โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง 2.กระทรวงคมนาคม โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ชี้แจงว่าจะเริ่มต้นจากโครงการซื้อรถเมล์ NGV 3,000 คัน มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท และ 3.ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ที่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการนัก
"ภายหลังการทำข้อตกลงคุณธรรม ล่าสุดนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายปราบปรามคอร์รัปชั่น 3 ประการ แต่ไม่เกิดอะขึ้น อย่างกรณีของกระทรวงการคลังก็ดูเหมือนจะถูกเก็บเข้าลิ้นชัก เนื่องจากมีการพูดคุยกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ปัจจุบันได้รับคำตอบเพียงว่า ให้รอร่างระเบียบ ที่นายกฯ ประกาศก่อน" ดร.มานะ กล่าว และว่า นี่คือสาเหตุที่ทำให้ข้อตกลงคุณธรรมชะงัก ไม่ต่างจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ยังมีอุปสรรค ขณะเดียวกันคนในภาครัฐบางกลุ่มที่ขยับตัวเรื่องต่อต้านคอร์รัปชั่นกลับโดนบล็อก โดนขวาง โดนจับตา
ด้านนายประสงค์ กล่าวถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยนับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น ติดตามได้ยากขึ้น จะมีเฉพาะที่เป็นเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเท่านั้น ที่พอจะเป็นหลักฐานให้ตาม หรือมองเห็นร่องรอยบางอย่าง แต่ไม่ใช่การคอร์รัปชั่นโดยตรง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหน่วยงาน หรือองค์กรตั้งขึ้นมากมาย แต่ก็ยังไม่เกิดผล เนื่องจากระบบที่ออกแบบมา ถูกสร้างมาตั้งแต่การกลั่นกรองคนเข้ามา ขั้นตอนการทำงานในแบบองค์กรยังมีปัญหา ซึ่งมีการปรับปรุงเรื่อยมา ยกเว้นสำนักงานอัยการสูงสุดที่ไม่เคยปรับ นับว่าเป็นคอขวดที่สำคัญ
"โครงสร้างองค์กรที่มีปัญหาของหลายหน่วยงานที่ตั้งขึ้นทำให้ทำงานไม่ได้ อย่าง ป.ป.ช.มีเรื่องที่คั่งค้างมาก กระบวนการใช้เวลานาน ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนการที่จะหวังให้ภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาทำงานเรื่องให้ข้อมูลต่อต้านคอร์รัปชั่นต้องเริ่มที่การสร้างศรัทธา เมื่อมีการร้องเรียนกระบวนการต้องรวดเร็ว อย่างที่ฮ่องกง หากมีการร้องเรียน ภายในวันเดียวจะเรียกให้ข้อมูล เก็บพยานหลักฐาน หรือกันไว้เป็นพยาน ส่วนของไทยใช้เวลาหลายปี ทำให้คนหมดศรัทธา หรืออย่างในศาลฎีกามีคดีค้างอยู่กว่า 30,000 คดี นี่เป็นตัวอย่างของระบบการทำงานขององค์กรที่ไม่ตอบสนอง" นายประสงค์ กล่าว และว่า แม้หลายคนจะเห็นว่าการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นแนวทางที่ดี แต่การตัดสิน การลงโทษที่เด็ดขาด มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว จะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
สำหรับประเด็นสื่อมวลชนในปัจจุบัน นายประสงค์ มองว่าจะเห็นได้ว่าสื่อกระดาษ หรือหนังสือพิมพ์กำลังตก ต้องเข้าสู่วงจรธุรกิจ วงการโฆษณา ข่าวสืบสวนแทบจะหาย หากกระทบโครงสร้างทุนหรือรัฐ ส่วนโทรทัศน์ที่กำลังปรับตัว เอาตัวรอดจากการเข้าสู่ระบบใหม่ก็จะไม่เห็นข่าวประเภทนี้เกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย หรือในรูปแบบสำนักข่าว ประเด็นสำคัญๆ หลายเรื่องเริ่มต้นที่โซเชียลมีเดีย แล้วสื่อกระแสหลักค่อยไปติดตามมานำเสนอ เรียกได้ว่า ภูมิศาสตร์ของสื่อเปลี่ยนไป ระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ต่อไปหากช่องทางโซเชียลมีเดียขยายมากขึ้น จะเป็นตัวสื่อสารหลัก แต่ปัญหาคือจะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะประเด็นด้านคอร์รัปชั่นได้อย่างไร รวมถึงให้มีหน่วยวิชาการมาใช้ช่องทางนี้ในการแปลงข้อมูลยากๆ หรือซับซ้อนให้เป็นเรื่องง่ายเพื่อสื่อสารกับประชาชน