กฤษฎีกา ชี้ บอร์ด พอช. ไม่มีอำนาจตามกม. จ่ายเงินชดเชย- ตอบแทนเลิกจ้าง “ผอ.”
กฤษฎีกา ชี้ บอร์ด พอช. ไม่มีอำนาจตามกม. จ่ายเงินชดเชย- ตอบแทนเลิกจ้าง “ผอ.” ระบุชัดขัดมติครม. องค์การมหาชนไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้
ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือ เรื่อง การจ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้าง ให้แก่ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ตามที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ทำเรื่องขอหารือ
โดยระบุว่า ที่ผ่านมาเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างได้จ่ายค่าตอบแทนกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้แก่ผู้อำนวยการมาโดยตลอด ก่อนจะถูกทักท้วงจากสำนักงาน ก.พ.ร. ว่า องค์การมหาชนไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้ผู้อำนวยการ ตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จึงได้ขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ใน 2 ประเด็น คือ
1. คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนใช้ดุลยพินิจพิจารณาแล้วเห็นควร จ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้แก่ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์) ซึ่งดำรงตำแหน่งจะครบวาระตามสัญญาจ้างในวันที่ 15 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา โดยจะใช้อำนาจตามมาตรา 20 (8) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 อนุมัติให้จ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างแก่ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้หรือไม่
2. ดุลยพินิจและการดำเนินการของคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนตามข้อ 1. จะขัดกับมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 หรือไม่
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว มีความเห็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การใช้อำนาจของคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนตามมาตรา 20 (8) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะใช้อนุมัติให้จ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้แก่ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนไม่ได้ เพราะเป็นการใช้อำนาจกระทำการเกินขอบวัตถุประสงค์ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
ดังนั้น คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจึงไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 20 (8) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 อนุมัติให้จ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้แก่ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้
ประเด็นที่สอง เห็นว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนโดยกำหนดให้องค์การมหาชนไม่จำต้องจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้แก่ผู้อำนวยการ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ นั้น
เนื่องมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้เคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนไว้แล้ว ว่า ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ประกอบกับ (3) แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งกำหนดมิให้ใช้บทบัญญัติหมวด 11 ตั้งแต่ มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ องค์การมหาชนที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชน
ด้วยเหตุนี้ มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนให้ถูกต้องตามที่กฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน และกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ทำสัญญาจ้างรายนี้ แต่เมื่อการจะจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างมิได้มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือตามผลแห่งสัญญาจ้างแต่อย่างใด
การที่คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะใช้ดุลยพินิจจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างดังกล่าวภายหลังมติคณะรัฐมนตรี นอกจากไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจแล้ว ยังเป็นการขัดกับมติคณะรัฐมนตรี
ดังนั้น การที่คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเห็นควรอนุมัติให้จ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้แก่ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย