ชี้ “ทหารเรือ-อาสาสมัคร-ขรก.- นักข่าว”กลุ่มเสี่ยงเกิด “มะเร็ง” ปัญหาน้ำมันดิบรั่ว
ชี้ “ทหารเรือ-อาสาสมัคร - ขรก.- นักข่าว ”กลุ่มเสี่ยงเกิด “มะเร็ง” จากปัญหาน้ำมันดิบรั่ว - ผู้เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรค ออกโรงจี้ "ผู้บริหาร ปตท." แสดงความรับผิดชอบ ตั้งกองทุนเยียวยาสุขภาพ ระยะยาว 10 ปี
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 พญ.ฉันทนา ผดุงทศ แพทย์เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการเยี่ยวยาด้านสุขภาพ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง แต่งตั้งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสารพิษ ในเหตุการณ์น้ำมันดิบ ของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า จากการลงพื้นที่สำรวจกลุ่มบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีกลุ่มบุคคล จำนวน 4 กลุ่ม อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสารพิษที่อยู่ในน้ำมันดิบ
คือ 1. กลุ่ม ทหารเรือและอาสาสมัคร 2. พนักงาน ปตท. ที่ปฏิบัติงานอาสาสมัครอยู่หน้าหาดที่ปนเปื้อนน้ำมันดิบ 3. อาสาสมัครของ ปตท. อาทิ พนักงานฝ่ายบุคคล และฝ่ายบัญชีของ ปตท. รวมถึงข้าราชการและนักข่าว ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณที่ปนเปื้อนน้ำมันดิบ และ 4. ประชาชนในพื้นที่อื่นๆ นอกอ่าวพร้าวและประชาชนบนเกาะเสม็ด
พญ.ฉันทนา กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดได้แก่ ทหารเรือและอาสาสมัคร ในจังหวัดระยอง ที่ลงไปในทะเลและสัมผัสกับน้ำมันดิบโดยตรง
กลุ่มเสี่ยงรองลงมา ได้แก่ พนักงานของ ปตท. ที่ปฏิบัติงานอาสาสมัครอยู่หน้าหาด เพราะแม้คนกลุ่มนี้ไม่ได้เอาตัวไปแช่ แต่ก็สัมผัสกับทรายที่ปนเปื้อนน้ำมันดิบอยู่หน้าหาด
ส่วนกลุ่มที่ 3 คือ อาสาสมัครของ ปตท. อาทิ พนักงานฝ่ายบุคคล และฝ่ายบัญชีของ ปตท. ที่อยู่รอบนอกบริเวณชายหาด ที่แม้ไม่ได้อยู่หน้าหาด แต่ก็สูดรับสารพิษ รวมถึงข้าราชการและนักข่าวที่ลงไปทำข่าวในพื้นที่ด้วย
ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือประชาชนในพื้นที่อื่นๆ นอกอ่าวพร้าวและประชาชนบนเกาะเสม็ด ที่แม้จะเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่มอื่น แต่ก็ควรต้องได้รับการยืนยันจากกรมควบคุมมลพิษว่ามีสารพิษในอากาศหรือไม่
“สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในทางการแพทย์ สำหรับกลุ่มบุคคลทั้ง 4 คือ ความเสี่ยงจากสารพิษในน้ำมันดิบที่มีชื่อว่า BENZENE ( เบนซีน) สูตรเคมีคือ C 6 H 6 หรือไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารอันตรายที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเกิดการแปรสภาพเป็นสารก่อมะเร็ง โดยผู้ที่ได้รับสารพิษจะแสดงอาการใน 2 ระยะ คือระยะเฉียบพลัน เมื่อสูดดมปริมาณมากจะรู้สึกเวียนศีรษะ ระคายผิว ระคายตา”
พญ.ฉันทนา กล่าวต่อไปว่า ส่วนระยะยาว ผู้ที่สัมผัสและสูดดมก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและสารชนิดนี้จะไปกดไขกระดูก ทำให้กระดูกฝ่อ
“ในทางการแพทย์ แม้สูดเข้าไปครั้งเดียว บางคนก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งได้ บางคนก็ไม่เป็น เพราะร่างกายคนเราภูมิต้านทานต่างกัน การจะตรวจให้แน่ใจว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจที่ติดตามผลต่อเนื่องไปนับ 10 ปี” พญ.ฉันทนา กล่าว
แพทย์เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรค กล่าวย้ำว่า แต่การดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ ต้องไม่ใช่ทำแค่ตอนนี้ เพราะมะเร็งใช้เวลา เป็น 10 ปี ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่ ปตท.ต้องรับผิดชอบ มี 2 ส่วน ในระยะสั้น คือ กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ต้องได้รับการตรวจอนุพันธ์ของเบนซีน ถ้าคนใดพบสูงต้องตรวจเลือดเพิ่มเติม โดยต้องนัดตรวจร่างกายทุก 3 เดือน จนครบ 1 ปี เมื่อครบ 1 ปี แล้ว ก็ตรวจต่อเนื่องไปทุกปี เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี
“ส่วนการดูแลระยะยาว 10 ปี ปตท. ต้องรับผิดชอบโดยอาจจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาสุขภาพ เพื่อการรักษาในระยะยาวต่อไป ซึ่งเราได้ขึ้นทะเบียนผู้ที่ได้รับการตรวจไว้แล้วทุกคน ”
แพทย์เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรค ยังกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุข จ. ระยอง อยู่ระหว่างการตรวจหาสารอนุพันธ์เบนซีนในร่างกายของกลุ่มเสี่ยง โดยตรวจไปแล้วสามกลุ่มแรก ส่วนกลุ่มสุดท้าย ยังไม่ได้ตรวจ เนื่องจากต้องรอผลตรวจยืนยันจากกรมควบคุมมลพิษ ว่ามีสารพิษปนเปื้อนในอากาศในระดับที่อันตรายหรือไม่ ซึ่ง ปตท. ควรเข้ามารับผิดชอบค่าตรวจรักษาพยาบาลของอาสาสมัครและประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด
แพทย์เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรค รายนี้ ยังระบุด้วยว่า ในวันที่ 6 สิงหาคม นี้ จะหารือ กับตัวแทน ปตท. เกี่ยวกับการแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบและเสี่ยงต่อการรับสารก่อมะเร็งอย่างละเอียดอีกครั้ง