"ศรีสุวรรณ" ชี้จุดจับตาปาหี่ประชาพิจารณ์โครงการน้ำ 3.5 แสนล.
คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต สอนการรับฟังความคิดเห็น ชี้เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองแบบประชาธิปไตย วอนอย่าทำให้แค่จบ ผ่าน เพียง "พิธีกรรม" ด้านภาคปชช. จ.ปทุมธานี ทวงคืนวิถีชุมชนเดิม
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับภาคีเครือข่ายประชาชนคนปทุมธานี และสภาองค์กรชุมชน จังหวัดปทุมธานี จัดงานเสวนาวิชาการผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง ประจำปี 2556 ในหัวข้อ "3.5 แสนล้าน เงินกู้ หรือเงินฉัน.ท์" แก้วิกฤติน้ำได้จริงหรือ ณ ห้องประชุม7-100 อาคารหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต โดยก่อนเข้างาน มีกิจกรรมให้มีการลงชื่อร่วมเป็นหนึ่ง เพื่อปลุกจิตสำนึกต่อต้านคอร์รัปชั่น
จากนั้น รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ประธานกล่าวเปิดงาน และบรรยายพิเศษ ตอนหนึ่งถึงโครงการบริหารจัดการน้ำที่ใช้เงินมหาศาลว่า หัวใจสำคัญของโครงการ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจ ใช้เงินอย่างคุ้มค่าจะต้องมีความโปร่งใส และแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ไม่มีนอกมีใน แต่หากรัฐบาลปกปิดข้อมูลจะส่งผลให้อยู่อย่างปกติสุขได้ยาก
รศ.สังศิต กล่าวว่า ที่สำคัญการบริหารโครงการนั้น รัฐบาลต้องนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ ไม่โกหก ไม่ปกปิด ให้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ให้ข้อมูลที่ช้ากว่าความเป็นจริง ไม่ให้ข้อมูลเพียงบางส่วน แต่ถ้ารัฐบาลทำนั่นหมายถึงรัฐบาลขาดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ
"การศึกษาผลกระทบของโครงการฯ ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นและฟังเสียงของประชาชนก่อน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองแบบประชาธิปไตย ต้องผ่านการปรึกษาหารือกับประชาชนที่เกี่ยวข้อง ต้องฟังเสียงสะท้อน แต่หากการรับฟังความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์ เป็นเพียง "พิธีกรรม" หรือขั้นตอนที่ทำให้จบลง ผมถือเป็นการล๊อคสเปก และไม่เรียกประชาพิจารณ์ รวมทั้งไม่ถือเป็นกระบวนการประชาธิปไตยด้วย" คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “3.5 แสนล้าน เงินกู้ หรือเงินฉัน.ท์ แก้วิกฤติน้ำได้จริงหรือ" โดยเริ่มจากนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เวลาจะสร้างอะไรสิ่งสำคัญคือต้องคำนึกถึงสิ่งแวดล้อม ดูเรื่องสิ่งแวดล้อมให้คุ้มค่า มีการถ่วงดุล ตรวจสอบ และไม่จำเป็นต้องใช้เงินกู้ก็ได้ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
ส่วนการจะมีเขื่อนแม่วงก์หรือไม่มีนั้น นายศศิน กล่าวว่า ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม เนื่องจากในพื้นที่ยังแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ ทำไมรัฐบาลต้องรีบปั้นโครงการขึ้นมา ความคุ้มทุนของการสร้างมีเพียง 1.01 % เท่านั้น
ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ข้อมูลที่เป็นเท็จมาโดยตลอด ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม การที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย มาด้วยการเลือกตั้ง พร้อมที่จะดำเนินการไปตามเสียงข้างมากของประชาชน แต่พอได้อำนาจแล้วกลับ Top down policy คิดเอง เออเอง ทำเอง
“วันนี้เป็นปัญหาที่ผมทนไม่ได้ และฝากเตือนนักวิชากรที่รับงานไปทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ ถ้าไม่อยากเป็นสุนัขหัวเน่า ก็ไปทำ ผมรู้ว่ามีขั้นตอนบางอย่างที่จะนำไปสู่สิ่งที่ผิดกฎหมาย จะมีกระบวนการจัดตั้งคนไปฟังความเห็น” ศรีสุวรรณ กล่าว
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวอีกว่า โครงการ 3.5 แสนล้านบาทเพื่อการบริหารจัดการน้ำ เป็นสิ่งที่ประชาชนเจ้าของประเทศ เจ้าของภาษี ต้องได้ทราบรายละเอียดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร ขณะนี้รัฐบาลพยายามสร้างภาพมาโดยตลอดว่า ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งไม่ถูกต้อง อีกทั้งมีตัวอย่าง "อนุสาวรีย์วิบัติ" เกิดขึ้นแล้วใน จ.ปทุมธานี สิ่งที่ทำป้องกันน้ำท่วมไม่ได้เลย อีกทั้งยังทำลายวิถีชีวิต ทำลายวัฒนธรรมประเพณีของคนในชุมชน หากวันนี้รัฐบาลทำตามที่กฎหมายกำหนดก็จะไม่คัดค้านเลย
ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า นักวิชาการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศในโครงการ3.5 แสนล้านบาท พบว่า 84% รู้ดีว่าโครงการ 3.5 แสนล้านเป็นเรื่องที่จำเป็น เมื่อถามต่อว่า ท่านคิดว่า3.5 แสนล้านบาท จะมีการคอรัปชั่นหรือไม่ 80% เชื่อว่า มีโอกาสโกงสูงมากรวมทั้งเชื่อว่าจะเกิดความเสียหายอย่างมาก
และเมื่อถามถึงขั้นตอนหรือโครงการนี้ ใครเป็นตัวก่อปัญหา พบว่า ประชาชนมองว่า อันดับ 1 คนรับผิดชอบโครงการคือต้นตอ 2.การกำหนดนโยบายโกงตั้งแต่เริ่ม และ3. วิธีการกำหนดสเปกหรือคุณสมบัติของการประมูลมีกลไกคอรัปชั่น
ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ กล่าวด้วยว่า โครงการที่ไม่โปร่งใสกำลังสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับประเทศ การเอาชนะโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และนักการเมืองมักห่วงผลประโยชน์ของตัวเอง เห็นได้จาก โครงการฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วมงบฯ 1.2 แสนล้านบาทที่ผ่านไปแล้วนั้น มีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก เพราะยังไม่มีการรับฟังเสียงของภาคประชาชน จนประชาชนคัดค้านไม่ให้ความร่วมมือ เป็นระยะๆ รวมถึงชี้ช่องของการทุจริต
"อยากถามว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หาก 5 ปีทำไม่เสร็จ จะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรให้ความสำคัญ เช่น อาจไม่จำเป็นต้องอนุมัติวงเงินทั้งก้อน หรือการจัดซื้อจัดจ้างให้อนุมัติทีละส่วน ทีละโครงการ แล้วดูว่าคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ เพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรในโครงการต่อไป รวมทั้งง่ายต่อการตรวจสอบด้วย"
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของการเสวนา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชน จ.ปทุมธานีที่อยู่บริเวณคันกั้นน้ำ ได้แสดงความกังวลหากเกิดน้ำท่วมแล้วน้ำล้นทะลักเข้ามาประชาชนจะอยู่อย่างไร พื้นที่หมู่บ้านริมคลองก็สูญเสียทัศนียภาพจากการสร้างคันกั้นน้ำ วัฒนธรรมวิถีชุมชนชีวิตที่อยู่กันมาเป็น 100 ปีหายไป โดยอยากให้ทางรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาหารือแล้วหาทางแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้