"ประชา-ภราดร" ใต้ป่วนหนักฝีมือ "วัยรุ่นเห็นต่าง - กลุ่มก่อกวน"
สิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนเริ่มที่ราววันที่ 30-31 ก.ค.2556 นับตั้งแต่วันนั้นสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ร้อนแรงขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด
31 ก.ค.ระเบิดรวดเดียว 5 จุด 1 ส.ค.ไม่ได้เบาลง แต่กลับหนักขึ้น คือระเบิด 6 จุด เริ่มมีการโจมตีทางยุทธวิธี คือ จุดชนวนระเบิดก่อนแล้วใช้อาวุธสงครามยิงถล่มซ้ำ
2 ส.ค.ระเบิดอีก 7 จุด ยิง 2 จุด และวางเพลิงเผาโรงงาน ห้างร้านรวม 13 จุด ต่อเนื่องวันที่ 3 ส.ค.ซึ่งเป็นวันเสาร์ วันหยุดราชการ แต่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ยังทำงาน กระจายกันวางระเบิดอีกอย่างน้อยๆ 3 จุด
หลายคนบอกว่าไม่ต้องนับสถิติความรุนแรงของเดือนรอมฎอนปีนี้แล้ว แม้จะเป็นปีที่ตัวแทนรัฐบาลไทยทำความตกลงยุติเหตุรุนแรงกับกลุ่มบีอาร์เอ็นก็ตาม เพราะแค่วัดกันด้วยความรู้สึก สถานการณ์ในภาพรวมก็ไม่ได้ดีขึ้นกว่ารอมฎอนปีก่อนๆ
ช่วงเวลาแห่งความสับสนอลหม่าน ย่อมมีคำถามมายมายพุ่งเข้าหาฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น
ตลอดหลายวันที่ผ่านมา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าทีมพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายครั้งเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ชายแดนใต้
"ทีมข่าวอิศรา" ตัดบางช่วงบางตอนที่เป็นไฮไลท์มาให้ได้อ่านกัน เพราะอาจเป็นการชี้อนาคตของสถานการณ์และแนวโน้มของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
ที่สำคัญจะได้รู้กันว่าฝ่ายความมั่นคงไทยทั้งฝ่ายประจำและการเมืองนั้น ทำการบ้านกับปัญหาชายแดนใต้มากน้อยแค่ไหน
"ประชา" สั่ง สมช.ถามบีอาร์เอ็น
พล.ต.อ.ประชา ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ส.ค.หลังเกิดเหตุเผาโรงงานและสถานประกอบห้างร้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 13 จุดว่า ได้ให้ พล.ท.ภราดร ไปประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดเพื่อประสานไปยังผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพของมาเลเซีย (ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งมาเลเซีย) เพื่อให้สอบถามไปยังบีอาร์เอ็นว่าเป็นการกระทำของใครกันแน่ เป็นผู้ก่อกวนหรือขบวนการ ซึ่ง สมช.น่าจะประมวลผลเสร็จและสามารถส่งไปทางผู้อำนวยความสะดวกได้ภายในวันนี้ หลังจากนั้นไม่นานคงทราบผล
"ผมได้พูดคุยกับทางเลขาฯ สมช.แล้ว ให้สอบถามไปว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ถี่ยิบมากเกินไป ทั้งๆ ที่ได้มีการพูดคุยกันแล้ว เป็นฝีมือของใครกันแน่ ซึ่งเราต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ขณะนี้รอความชัดเจนจากทางบีอาร์เอ็นก่อนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ใครทำ ใช่บีอาร์เอ็นหรือไม่ หรือเป็นกลุ่มก่อกวนกลุ่มอื่น มันอาจจะไม่ใช่ทางกลุ่มขบวนการของเขาทำก็ได้ อาจเป็นกลุ่มก่อกวนที่ไม่ประสงค์จะให้การเจรจาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยก็ได้"
ยันไม่ต้องล้มโต๊ะเจรจา
พล.ต.อ.ประชา ย้ำว่า แม้จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น แต่การเจรจาต้องเดินหน้าต่อไป
"ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ถึงขั้นต้องล้มเจรจา เพราะการเจรจาเป็นหนทางเดียว เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการยุติปัญหาความขัดแย้ง ไม่มีปัญหาใดที่จบลงด้วยอาวุธ มันต้องจบลงบนโต๊ะเจรจาด้วยการพูดคุยทั้งนั้น ส่วนระยะเวลา เนื้อหา ก็คงต้องรอความพร้อมระยะหนึ่ง"
พล.ต.อ.ประชา ยืนยันว่า หากเทียบเหตุการณ์ก่อนรอมฎอนกับช่วงนี้ถือว่าเหตุเกิดน้อยมาก จะเอาสถิติมาให้สื่อมวลชนดู เมื่อก่อนเกิดมากกว่านี้หลายเท่า และเมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามโยงถึงกลุ่มบีอาร์เอ็น พล.ต.อ.ประชา ก็บอกว่า อย่าเพิ่งไปโทษบีอาร์เอ็น เราต้องถามก่อนว่าเป็นการกระทำของใคร
"มันมีกลุ่มอื่นที่ก่อความรุนแรงในพื้นที่ อย่างกลุ่มก่อกวน กลุ่มที่ไม่ประสงค์จะให้การเจรจาบรรลุผล ซึ่งกลุ่มก่อกวนก็ทราบกันดีว่า 4-5 คนก็ก่อกวนได้แล้ว เผาตรงนั้น ระเบิดตรงนี้ ทำกันได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียจะต้องถามบีอาร์เอ็นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นการกระทำของบีอาร์เอ็นหรือไม่ ถ้าใช่บีอาร์เอ็น ก็ต้องถามต่อว่าทำเพราะอะไร ซึ่งถ้าเป็นการกระทำของบีอาร์เอ็นจริง เขาจะไม่ปฏิเสธ เขาจะบอกมาเลย" และว่าหากเป็นบีอาร์เอ็นกลุม่ย่อย ก็ต้องเจรจากันใหม่ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้
ป้องสุดตัว-ห้ามสมมติกล่าวหาบีอาร์เอ็น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มองประเด็นที่มีบางฝ่ายเตือนว่าบีอาร์เอ็นหลอกไทยหรือไม่ คือต่อหน้าก็รับปากดีทุกอย่าง แต่ลับหลังทำอีกอย่าง พล.ต.อ.ประชา กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "รอให้เขาเจรจาก่อน อย่าเพิ่งไปสมมติ รอให้เขาเจรจากันก่อน อย่าไปสมมติว่าจะอย่างโน้นหรือจะอย่างนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไหร่จะสงบถ้าคุณมัวไปสมมติๆ อย่างนี้ และถ้าเขาไม่ได้ทำล่ะ จะไปสมมติว่าเขาทำได้อย่างไร"
เมื่อซักว่า ถ้าบีอาร์เอ็นไม่ได้ทำแล้วกลุ่มไหนทำ พล.ต.อ.ประชา ตอบสวนทันทีว่า "กลุ่มก่อกวน เป็นกลุ่มก่อกวนที่ไม่อยากให้เกิดความสงบในพื้นที่ ไม่อยากให้มีการเจรจาสำเร็จ เป็นกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มยาเสพติดก็มี กลุ่มของเถื่อนก็มี สารพัดกลุ่ม"
"ภราดร" อ้างกลุ่มเห็นต่างมีไม่เยอะ แต่มีศักยภาพ
ด้าน พล.ท.ภราดร กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ส.ค.ว่า เหตุการณ์ลอบวางเพลิงเป็นฝีมือของผู้ก่อกวนที่มีความเห็นต่างที่ยังมีกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ ตอนนี้เริ่มปฏิบัติการมากขึ้นเพราะเป็นความต้องการของกลุ่มที่ไม่ต้องการไปสู่กระบวนการพูดคุย มีความพยายามจะล้มโต๊ะเจรจา แต่ในหลักปฏิบัติของเราและขบวนการใหญ่ (บีอาร์เอ็น) ยืนยันว่าจะต้องพูดคุยกันต่อไป เนื่องจากกลุ่มที่เห็นต่างมีไม่เยอะ แต่มีศักยภาพในการปฏิบัติการ เพราะเป็นหน่วยปฏิบัติการ
"กลุ่มที่ลงมือยังเป็นกลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มก่อกวนของเขาที่เป็นกลุ่มปฏิบัติการ กลุ่มนี้ยังมีความเห็นไม่ตรงกับผู้ใหญ่ทั้งหมดที่มีการพูดคุยกับเรา ซึ่งในขณะนี้เรายังเชื่อมั่นว่าเป็นกลุ่มย่อยที่อยู่ในกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่เราก็กำลังจะสื่อสารลงไป ขอให้เขายืนยันว่าสุดท้ายแล้วกลุ่มนี้เป็นกลุ่มไหนกันแน่"
ส่วนที่ พล.ต.อ.ประชา สั่งให้ส่งหนังสือไปยังผู้อำนวยความสะดวกนั้น พล.ท.ภราดร บอกว่า ขณะนี้กำลังประมวลรายเอียดอยู่ เพราะจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย
เลขาธิการ สมช. กล่าวอีกว่า ปกติช่วงปลายของเดือนรอมฎอนก็จะมีเหตุรุนแรงถี่ขึ้นอยู่แล้ว ช่วงนี้คณะทำงานส่งเสริมสันติภาพช่วงเดือนรอมฎอน พ.ศ.2556 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตั้งขึ้น กำลังรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อส่งขึ้นมา จะได้ทำหนังสือส่งผ่านผู้อำนวยความสะดวก
รับเองถามไปแต่ไม่เคยได้คำตอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้เวลาเกิดเหตุรุนแรง และฝ่ายไทยได้สอบถามไปยังผู้อำนวยความสะดวก ได้รับคำตอบกลับมาบ้างหรือยัง พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ตอบกลับมา แต่ในทางปฏิบัติเราต้องสื่อสารกลับไปตลอดเวลาและต่อเนื่อง
เมื่อซักว่า เหตุใดขบวนการใหญ่ของบีอาร์เอ็นจึงไม่สามารถช่วยเหลือหรือบรรเทาเหตุรุนแรงได้ เลขาฯสมช.กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามของเราที่จะต้องส่งผ่านไปถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนที่เราต้องรอคำตอบก็เพื่อให้ข้อเท็จจริงเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าสุดท้ายแล้วใครเป็นคนก่อเหตุ คาดว่าจากนี้อีกสักระยะหนึ่งข้อเท็จจริงจะเริ่มชัดขึ้น เพราะที่ผ่านมามีแต่ความคลุมเครือ
ชี้กลุ่มฮัสซันมีปัญหาการบังคับฝ่ายกองกำลัง
เมื่อถามว่า แสดงว่าตัวแทนที่เราไปพูดคุยไม่มีศักยภาพในการประสานงานกับกลุ่มต่างๆ เลขาฯสมช.กล่าวว่า ศักยภาพในการประสาน สื่อสาร และส่งสัญญาณคงจะมี แต่ศักยภาพในการบังคับยังเป็นปัญหาอยู่
ต่อมาในวันเสาร์ที่ 3 ส.ค. เลขาธิการ สมช.ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งว่า ได้ส่งหนังสือสอบถามบีอาร์เอ็นผ่านไปยังผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียแล้ว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก
ขอบคุณ :
1 ภาพจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ www.bangkokbiznews.com
2 ข่าวบางส่วนจากสำนักข่าวเนชั่น