ขั้นตอนยุ่งยาก! ผู้สูงอายุ เสนอปลดล็อกจ่ายเงินค่าฌาปนกิจศพ 2,000 บาท
รองเลขาธิการผู้สูงอายุฯ เสนอตั้งองค์กรอิสระ สังกัดพม. ทำงานเฉพาะด้านผู้สูงอายุ ขณะที่ตัวแทนผู้สูงอายุ แนะร่างกม.ฉบับใหม่ควรมีตัวแทนจากหน่วยงานท้องถิ่น พร้อมจี้รบ.เร่งแก้ปัญหาเงินค่าฌาปนกิจศพ 2 พันบาท
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และมูลนิธินิคม จันทรวิทุร จัดเวทีสาธารณะ “เรื่องแนวทางการพัฒนากฎหมายสวัสดิการสังคมเพื่อผู้สูงอายุ" ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โดยมี นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
จากนั้น ภายในงานมีการอภิปรายถึงแนวทางการพัฒนากฎหมายโดย นางอุบล หลิมสกุล รองเลขาธิการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) กล่าวถึงการทำงานเรื่องผู้สูงอายุว่า ควรมีองค์กรที่เป็นอิสระ อยู่ในกระทรวงพัฒนาความมั่นคงและสังคมมนุษย์ โดยเป็นองค์กรที่ทำงานเฉพาะด้านผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานแยกในแต่ละจังหวัด เพียงมีแต่ตัวแทนทำหน้าทีประสานงานเท่านั้น
ส่วนพ.ร.บ.ผู้สูงอายุที่อยู่ในขั้นตอนร่างนั้น นางอุบล เสนอให้เลขาธิการมาจากการสรรหา เพราะจะได้ทำหน้าที่เฉพาะ มีความเข้าใจในการทำงาน
"เรามีมาตรการ แต่ไม่ค่อยได้ปฏิบัติ ปัญหาของการใช้กฎหมายจะมีผลต่อเมื่อประชาชนเกิดการเรียกร้องสิทธิ ซึ่งบางคนไม่ทราบถึงสิทธิของตัวเองต้องให้คนอื่นบอก ดังนั้นจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องสอดแทรกความรู้ในเรื่องสิทธิของผู้สูงอายุให้กับทุกองค์กร รวมถึงการใช้สื่อให้การเผยแพร่ข้อมูล เรื่องการเตรียมตัวให้ประชาชนทุกคนมีความรู้เรื่องผู้สูงอายุ รวมถึงการสร้างให้ชมรมผู้สูงอายุที่มีอยู่ในประเทศมีความเข้มแข็ง รู้จักสิทธิของตนเอง บอกกันปากต่อปาก"
ด้านตัวแทนผู้สูงอายุภาคประชาชน เสนอให้ร่างพ.ร.บ.ผู้ส่งอายุฉบับใหม่บรรจุให้มีตัวแทนจากท้องถิ่นเข้าเป็นร่วมเป็นกรรมการ เพราะบุคคลเหล่านี้มีความใกล้ชิดกับคนในชุมชนและจะได้เรียกร้องสิทธิให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่ตัวเองได้
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการให้มีการแก้ไขมากที่สุด ก็คือ ขั้นตอนที่ยุ่งยากของการจ่ายเงินค่าฌาปนกิจศพ 2,000 บาท ที่กว่าจะเบิกได้ ญาติผู้สูงอายุบางคนต้องเสียค่าเดินทาง มากกว่าเงินค่าฌาปนกิจศพ ทั้งติดขัดขั้นตอนการเรียกร้องสิทธิ์ พร้อมกันนี้มีการเสนอให้สวัสดิการนี้ มอบให้ท้องถิ่นดูแล เนื่องจากมีทะเบียนราษฎร์เองอยู่แล้ว เช่น หากผู้สูงอายุเสียชีวิต ท้องถิ่นควรจะเซ็นรับรองและให้ท้องถิ่นออกเงินไปก่อน จากนั้นทำเรื่องเบิกภายหลัง เป็นต้น