‘โฆสิต’ ห่วงผลข้างเคียงนโยบายการคลังกระทบดุลบัญชีเดินสะพัด ซ้ำรอยฟองสบู่แตก
'โฆสิต' ชี้การใช้นโยบายคลังกระตุ้น ศก.ไม่ยั่งยืน แนะปรับโครงสร้างควบคู่ ฉะการบริหารจัดการไม่มีวินัย หนุนเกิด พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ ด้านดร.ทนง ห่วงรวบรัดโครงการผ่านกลไกสภา เป็นความเสี่ยงที่น่ากลัว
วันที่ 2 สิงหาคม ในงานสัมมนาวิชาการ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2556 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ณ ห้องนภาลัยบอลรูม โรงแรมดุสิตธานี มีการเสวนาเรื่อง "ความเสี่ยงทางการคลัง : ความท้าทายเชิงนโยบาย" โดยมี ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันและประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมเสวนา
อปท.จุดอ่อนระบบการคลังของไทย
ดร.สมชัย ฉายภาพความเสี่ยงทางการคลังในปัจจุบันว่า ความเสี่ยงที่ต้องจับตามากที่สุดคือ การไม่รู้สถานะทางการเงินการคลังของตนเองว่าเป็นอย่างไร ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นทุกย่อมหญ้าทั้งรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การทำนโยบายการคลังที่มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ระยะสั้นต้องพยายามให้มีภาระหรือผลกระทบน้อยที่สุด หากเป็นนโยบายที่มีภาระอย่างรุนแรง จะกระทบทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวของความเสี่ยงประเทศ
"หากเป็นนโยบายที่มีความเสี่ยงจะต้องปรับแผน ปรับมาตรการให้สอดประสานกัน ยกตัวอย่าง การที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเอกชนยังอ่อนแอ รัฐบาลก็จะขาดทุน และเมื่อเป็นนโยบายที่สร้างให้เอกชนเข้มแข็งขึ้นรัฐบาลก็จะขาดทุนไปเรื่อยๆ นี่เป็นตัวอย่างของการทำนโยบายที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาก็สะท้อนชัดว่าการไม่รู้สถานะทางการเงินการคลัง หนี้สินและทรัพย์สินที่แท้จริง ทำให้การดำเนินนโยบายทางการคลังสุ่มเสี่ยง"
ดร.สมชัย กล่าวถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ เป็นส่วนที่กระตุ้นรายจ่าย แต่หากใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย บริหารงานติดลบก็ทำให้รัฐบาลขาดทุนได้ อปท.จึงเป็นจุดอ่อนของระบบการคลังของไทย ที่หากไม่ได้รับการปฏิรูปทั้งโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างรายได้ รายจ่าย ก็จะเป็นความเสี่ยงทางการคลังอีกข้อหนึ่ง
ประการที่สองที่ ดร.สมชัย เห็นว่าเป็นความเสี่ยงทางการคลังคือ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น การที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยไม่รู้ล่วงหน้า การประมาณการรายได้ผิด และประการที่สาม คือ ความเสี่ยงจากความไม่ยั่งยืนทางการคลัง เช่น การมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประการที่สี่ ความอ่อนแอของโครงสร้างทางการคลัง ต้องคำนึงว่า โครงสร้างภาษี มีปัญหาหรือไม่ ต้องปรับอย่างไร รายได้ต่อจีดีพี โครงสร้างงบประมาณ รายจ่ายประจำ การชำระหนี้ การลงทุนมีความเหมาะสมหรือไม่
ย้ำชัดภาพฟ้อง รัฐไม่มีวินัยการคลัง
ด้านนายโฆสิต มองภาพระยะยาวว่ามี 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.ความเสี่ยงด้านภาพรวมทางเศรษฐกิจ ที่มีตัวอย่างการใช้นโยบายการเงินการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจ หรือทำโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จีนและญี่ปุ่น แต่ก็ยังไม่มีต่อการเจริญเติบโตที่ชัดเจนนัก แต่ไม่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการหนุนการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนหรือไม่
"สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติม หรือเรียกว่า 'ลูกศรดอกที่ 3' ได้แก่ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศไทย หากใช้นโยบายการเงินการคลังโดยไม่ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเติบโตอาจไม่ยั่งยืน เราควรปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ผู้รับจ้างผลิตเปลี่ยนเป็นผู้เสนอขายสินค้าของตนเองได้ในตลาด แก้ประสิทธิภาพผู้คนผ่านการศึกษา วิจัย ฝึกอบอรม ค้นคว้าทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี ที่จะทำให้ประสิทธิภาพคนสูงขึ้น คนเก่งขึ้น เงินเดือนสูงขึ้น ที่จะมีผลทางตรงต่อระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน"
2.เศรษฐกิจที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐจะส่งผลกว้างขวาง โดยเฉพาะต่อ 'ดุลบัญชีเดินสะพัด' ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าประเทศมีรายได้เพียงพอหรือไม่ หากจะนำเข้าสิ่งที่คิดว่าจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกรณีขาดทุน ก็เป็นสัญญาณอย่างหนึ่ง อย่างที่อินเดีย และอินโดนีเซียกำลังถูกจับตามอง
"การจับจ่ายใช้สอยต้องดูความเหมาะสม แม้จะกู้เงินจากในประเทศ แต่ก็เป็นเงินตราต่างประเทศ เจ้าของเงินคือต่างประเทศ ส่วนนี้ต้องพิจารณาควบคู่กับหนี้สาธารณะ กรณีนี้ศึกษาได้จากปี 2540 เศรษฐกิจฟองสบู่แตก ก็เป็นผลจากเรื่องบัญชีเดินสะพัด"
3.ความเสี่ยงเรื่องการบริหารจัดการ ต้องมีวินัยในการคลัง การใช้จ่าย ยึดหลักเตรียมการเหมาะสม เพียงพอ ถูกต้อง เช่น หากจะลงทุนในโครงการ ก. ต้องผ่านขั้นตอนทั้งการสำรวจ ศึกษาความเป็นไปได้ของแนวคิด ออกแบบเพื่อให้รู้ต้นทุน เอาต้นทุนไปประมวลเพื่อรู้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และหากเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนเหล่านี้สำคัญ เพราะเป็นเรื่องของวินัย
"หากไม่มีวินัยจะเกิดปัญหา สร้างแล้วอาจมีงบไม่พอ งบบานปลาย โครงการล่าช้า มีการคอร์รัปชั่น ได้โครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือสร้างเสร็จแล้วแต่ขาดทุน เรื่องเหล่านี้สามารถศึกษาล่วงหน้าได้ เพราะหากศึกษาภายหลังจะมีปัญหา และเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอีกประการหนึ่ง จริงอยู่ว่าเรามีปัญญาหาเงิน แต่ไม่มีใครใช้เงินโดยไม่รู้ หรือไม่หาข้อมูลให้รู้ว่าใช้แล้วจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ขาดทุนหรือไม่ เป็นเรื่องแปลกที่สิ่งที่เราอยากได้กลับไปจำกัด เช่น การพัฒนาคน พัฒนาความรู้ ซึ่งเป็นส่วนของเงินในงบประมาณหลัก แต่ส่วนที่มีผลข้างเคียงกลับไปกระตุ้น สิ่งที่เราควรได้กลับไม่ได้ ดังเช่นที่มีการตัดทอนงบวิจัยออกไป"
นายโฆสิต กล่าวต่อว่า ภาพที่ฟ้องอยู่ขณะนี้คือการบริหารจัดการที่ไม่มีวินัยทางการคลัง ซึ่งตนดีใจที่จะมี พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ ที่หากระบุว่า ไม่ว่าเงินจากแหล่งไหนก็ต้องใช้วินัยเดียวกันยิ่งจะช่วยได้มากขึ้น จะมีประโยชน์ในวินัยทางการคลัง
ทั้งนี้ ควรกลไกสนับสนุนด้านวิชาการให้สภา และสมาชิกรัฐสภา ให้เป็นกลไกที่เป็นกลาง มีความต่อเนื่อง แม่นยำทางวิชาการ เพื่อในเวลามีกฎหมายเข้ามาจะมีหน่วยให้ข้อมูล ความคิด มิฉะนั้น สภาจะพิจารณาจากคำพูด ไม่ใช่สาระทางวิชาการ
'ทนง' ฉะรัฐรวบรัดทำโครงการ
ขณะที่ดร.ทนง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในภาวะไม่มีการว่างงาน แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่ง 4 ต่ำนี้จะสร้างวิกฤติได้ต่อเมื่อ 'ความสามารถในการผลิตต่ำ' ขณะที่ประเทศอื่นทำได้ ความสามารถในการแข่งขันของไทยจะน้อย และไม่สามารถกู้เงินไปได้ตลอด
"เหตุที่ไม่มีการว่างงาน เนื่องจากการเติบโตต่ำ เป็นความผิดพลาดของเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง ในมิติทางการเงินเกิดซูเปอร์ประชานิยม ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้น เป็นภาระทางการคลังที่ไม่จำเป็น และเป็นภาระระยะยาว ผมจะไม่เสียดายหากการอัดฉีดนี้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยั่งยืน แต่ช่องว่างของรายได้กลับกว้างขึ้น เพราะรักษาประชากรการเกษตรไว้มาก แต่ผลผลิตไม่เพิ่ม ทั้งที่สามารถลดประชากรการเกษตร แต่มีผลผลิตเท่าเดิมได้ เพื่อจัดให้คนที่ลดจากภาคเกษตรมาอยู่ในภาคส่วนอื่นได้ กลยุทธ์เช่นนี้ไม่เกิดขึ้น มีแต่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานงบ 2 ล้านล้าน" ดร.ทนง กล่าว และว่า ส่วนตัวแล้วตนรับไม่ได้ แม้จะเห็นความจำเป็น เนื่องจากเห็นว่าเป็นการผูกมัดทางการคลัง ใช้กระบวนการรัฐสภา โดยยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและประสิทธิภาพการใช้เงินงบประมาณ
"ผมกลัวมาก ที่เรารวบรัดทุกอย่างโดยใช้กลไกรัฐสภา โดยไม่ให้สภาศึกษารายละเอียด มีแต่ความจำเป็นที่ต้องทำ อย่างโครงการบริหารจัดการน้ำ มีบริษัทญี่ปุ่นมาหาผมเยอะ แต่ที่เขาขอถอนตัว เนื่องจากไม่เคยเห็นทีโออาร์ที่ไหนให้ทำโครงการภายใน 7 ปีรวมถึงการศึกษาทุกอย่างทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เวนคืนที่ดินและชดเชย ซึ่งท้ายที่สุดเกรงว่าหากไม่สำเร็จจะเคลมบริษัทไม่ได้ และต้องชดเชยประชาชนเอง มีหลายเรื่องที่พยายามทำอย่างเร่งด่วน ท้ายที่สุดจะเป็นความเสี่ยงทางการคลัง"