‘ธรณ์’ ชี้ 3 สัปดาห์ระบบนิเวศน์ก็ไม่ฟื้น ยันต้องมีแผนตรวจสอบระยะยาว
รองคณบดีประมง มก.แจงวิธีกัดการน้ำมันไม่มีเทคโนโลยีมาก ชี้มาถูกทาง กังวลผู้รับผิดชอบให้ข่าว 'ไม่มีผลกระทบ-ไม่คกต้าง' ยัน 3 สัปดาห์ระบบนิเวศน์ก็ไม่ฟื้น จี้วางแผนตรวจสอบระยะยาว ผู้เชี่ยวชาญห่วงไม่มีการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ทำสังคมสับสน
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงวิธีการจัดการน้ำมันว่าไม่มีเทคโนโลยีมากมายนัก ตัวอย่างจากกรณีที่เคยเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ หากล้อมอยู่ในทะเลได้ก็ตักออก หากมีความหนามากก็จุดไฟเผา และใช้สารเคมีในการสลาย และพยายามไม่ให้ถึงชายฝั่ง เนื่องจากจะจัดการได้ยาก แต่สำหรับกรณีของอ่าวพร้าวที่มาถึงชายฝั่งจึงไม่มีวิธีการใด นอกจากใช้กระดาษซับ ใช้แปรงขนนก หรือใช้เสียมแซะ ซึ่งเป็นวิธีการที่บริษัทพีทีทีโกบอล เคมิคอลทำอยู่
"หากผมเป็น ปตท.หรือกรมควบคุมมลพิษก็คงใช้สารเคมีนี้เช่นกัน ไม่มีวิธีหรือเทคโนโลยีอื่นใดที่ดีกว่านี้แล้ว ต่อให้เป็นสหรัฐอเมริกา หรืออ่าวเม็กซิโกก็ต้องใช้วิธีการนี้ ส่วนการบริจาคเส้นผมทำทุ่นดักน้ำมันก็สามารถใช้ได้ กาบมะพร้าวก็ใช้ได้ แต่ต้องกำจัดให้หมด อย่างไรก็ตาม แม้การใช้สารเคมีในการสลายน้ำมัน จะเป็นวิธีการที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่หลังจากนั้นต้องติดตาม ตรวจสอบผลกระทบของระบบนิเวศน์ในบริเวณที่เสี่ยงโดยละเอียดทั้งหมด คงไม่สามารถบอกได้เลยว่าใช้แล้วจะไม่มีสารตกค้าง" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว และว่า สิ่งที่กังวลคือคำกล่าว หรือการให้ข้อมูลที่ว่า "จะไม่มีผลกระทบ" เพราะยังไม่มีการติดตามตรวจสอบ ที่เน้นย้ำว่าหลังจากจัดการเบื้องต้นแล้ว ต้องสุ่มตรวจสอบอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงและใช้เวลาอีกยาวนาน
"ถ้าเป็นผม คงไม่พูดว่า ไม่มีปัญหา ไม่มีผลกระทบ ไม่มีสารตกค้าง เนื่องจากยังไม่ได้ศึกษา ซึ่งภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ระบบนิเวศน์ก็ไม่มีทางเหมือนเดิม ดังนั้น การกล่าวว่าไม่มีสารตกค้าง ไม่สำคัญเท่ากับการวางแผนประเมินผล ตรวจสอบในพื้นที่จริงระยะยาว คำตอบในทางวิทยาศาสตร์จะยืนยันได้ดีกว่า ว่ากระทบในส่วนใดหรือไม่ อย่างไร หากน้ำมันสลายลงไปปิดทับสัตว์น้ำจนหายใจไม่ออก ก็จะตาย ไม่ต้องพูดถึงการสะสม ตกค้างด้วยซ้ำ"
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวอีกว่า จากนี้เมื่อการจัดการน้ำมันบริเวณโดยรอบอ่าวพร้าวเสร็จสิ้น จะต้องมีการประเมินใหญ่ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานรัฐ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยาน กรมควบคุมมลพิษ กรมประมง เริ่มเก็บข้อมูล เตรียมแผน ตั้งคณะกรรมการมาประเมินบ้างแล้ว และขณะนี้อยู่ในภาวะ 'เฝ้าระวัง' ส่วนการตรวจอย่างละเอียดต้องใช้เวลากว่า 2 อาทิตย์ ซึ่งไม่ช้าไป
"ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ต้องใช้เวลา จึงจะเห็นอาการชัดเจน ต่อให้รีบทำ รีบสรุปก็ไม่ได้ประโยชน์ แต่ได้เก็บตะกอนดินไปศึกษาบ้างแล้ว จากนี้ประมาณ 1 เดือน จะเห็นการเริ่มตรวจสอบระบบนิเวศน์จากหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น และต้องเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ ทำในระยะยาว กินเวลาเป็นปีๆ"
ต้องมีศูนย์กลางสื่อสารในภาวะวิกฤติที่ชัดเจน
ด้านมล.อัจฉราพร ณ สงขลา ผู้เชี่ยวชาญการสื่อสารในภาวะวิกฤติ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท IMAGEPOOL จำกัด กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงกรณีการสื่อสารในภาวะวิกฤติน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว ของบริษัทพีทีทีโกบอล เคมิคอล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันความสับสนในการทำงาน การติดตามข้อมูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออาสาสมัครและผู้ที่ต้องการช่วยเหลือว่า ควรต้องมีการสื่อสาร ให้ข้อมูลการทำงาน ความคืบหน้า และแผนในอนาคต เช่น ทุก 3 ชั่วโมง หรือตั้งศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล
มล.อัจฉราพร ยกตัวอย่างกรณีของบริษัทเอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น (Exxon Mobil Corporation) แทบจะเรียกได้ว่าเข้าไปทำรายการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค (National Geographic) เนื่องจากมีการทำหนังสือรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เกิดเหตุ กระบวนการจัดการ ตรวจสอบ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจนเสร็จสิ้น ใช้เวลารวม 10 ปี กว่าจะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ได้ทั้งหมด ครั้งนั้นนับว่าเป็นกรณีที่ดีที่สุด
สำหรับกรณีที่อ่าวพร้าว มีเพียงการจัดการในภาวะวิกฤติ (Crisis Management) ให้คราบน้ำมันหายโดยเร็ว แต่ไม่มีการสื่อสารในภาวะวิกฤติ (Crisis Communication) ซึ่งจะเห็นได้ขณะนี้มีอาสาสมัคร คนในพื้นที่อยากช่วย แต่พอวิ่งเข้าไปกลับไม่มีศูนย์กลางในการสื่อสาร เกิดความสับสน ถกเถียงในสังคม เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ช่วยอะไรได้บ้าง"
มล.อัจฉราพร กล่าวด้วยว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤติเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรเป็นแผนรวมของชาติ แต่ไม่มีใครเห็นความสำคัญ อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ก็ชัดว่า ไม่มีแผนที่ชัดเจนของแต่ละกระทรวง ที่ทำให้คนทั้งประเทศติดตามอย่างเข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ต้องใช้เครื่องมือใดบ้าง ต้องการความช่วยเหลืออะไร ทำให้เกิดความสับสนในสังคมเช่นเดียวกับครั้งนี้ ที่ยังไม่มีทิศทางการสื่อสารที่ชัดเจน มีแต่การแข่งกันให้ข่าว ความชัดเจนจะเกิดขึ้นได้หากมีคนที่รับผิดชอบโดยตรง หรือมีศูนย์กลางของข้อมูล