ดร.อานนท์ จี้ PTTGC หาต้นทางมวลน้ำมัน เชื่ออยู่ตอนเหนือของเกาะเสม็ด
ดร.อานนท์ เผยภาพดาวเทียมระบุแหล่งแพร่ฟิล์มน้ำมันอาจอยู่ที่ตอนเหนือเกาะเสม็ด แนะติดตาม กำจัดทุกพื้นที่เสี่ยง ไม่ใช่แค่อ่าวพร้าว ห่วงกระทบระบบนิเวศน์ระยะยาว ต้องตรวจสอบตั้งแต่มาบตาพุดถึงแม่น้ำประแสร์
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ( องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงการติดตามและเผยแพร่ภาพจากดาวเทียมระบบเรดาร์รายวัน ที่แสดงถึงทิศทางของคราบน้ำมันบริเวณโดยรอบเกาะเสม็ดว่า เพื่อต้องการให้สังคมและทาง พีทีทีโกบอล เคมิคอล ติดตาม ตรวจสอบและจัดการคราบน้ำในทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่แค่ที่อ่าวพร้าว
"ภาพดาวเทียมแสดงถึงฟิล์มน้ำมัน (oil film) ที่แพร่กระจายตัวนั้น ชี้ว่าพื้นที่ใดมีฟิล์มน้ำมัน แสดงว่าแหล่งปล่อยฟิล์มอาจอยู่บริเวณนั้น อาจมีหลายที่ กระจายตัวหลายจุด สกัดได้ยาก ซึ่งภาคพื้นดินจะมองไม่เห็น หากก้อนน้ำมันแพร่ฟิล์มบางไปได้หลายตารางกิโลเมตร น่าจะเชื่อได้ว่า ปริมาณของส่วนฐานจะเยอะพอสมควร โดยอาจซุกซ่อนตามโขดหิน ที่นอกเหนือจากอ่าวพร้าว" ดร.อานนท์ กล่าว และว่า ที่อ่าวพร้าวเป็นจุดที่เร่งด่วน แต่ระยะต่อไปต้องให้ความสำคัญกับจุดอื่นๆ ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจมีจุดที่แพร่กระจายออกไปอีกได้
"การติดตามฟิล์มน้ำมันที่แพร่ออกมานั้น เพื่อหาต้นทางของมวลน้ำมัน (oil slick) ซึ่งหากมีเพียงแค่ 1,000-2,000 ลิตร ก็สามารถปล่อยฟิล์มน้ำมันแพร่ออกไปได้หลายตารางกิโลเมตร ภาพในหลายวันที่จิสด้าติดตามพบว่ามีหลายจุดที่ฟิล์มน้ำมันแพร่ออกมา แต่ที่หัวเกาะเสม็ดเห็นชัดที่สุด
และจากภาพถ่ายดาวเทียมจะเห็นว่าฟิล์มน้ำมันไม่เชื่อมโยงกับอ่าวพร้าว นั่นหมายความว่าอ่าวพร้าวไม่ใช่แหล่งแพร่ของฟิล์มน้ำมัน แต่จะเป็นตอนเหนือของเกาะเสม็ดมากกว่า"
ดร.อานนท์ กล่าวด้วยว่า ในระยะสั้นฟิล์มน้ำมันอาจไม่เป็นอันตราย แต่ระยะยาว 3-6 เดือน จะสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ชายหาด และบางส่วนจะสลายตัวเป็นก้อนน้ำมันดิน ซึ่งยังประเมินเรื่องการตกค้างหรืออันตรายไม่ได้ และเป็นที่น่าห่วงว่าการเตรียมการระยะยาวในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า จะต้องมีการติดตาม เก็บตัวอย่าง สุ่มตรวจสอบ ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าหมดแล้วจบ
"การสะสมของสารอินทรีย์ที่เป็นพิษ ฝุ่นอะโลมาติก หรือโลหะปนเปื้อน หรือในฟิล์มน้ำมันบางๆ อาจสะสมในระบบนิเวศน์ ห่วงโซ่อาหาร โดยเฉพาะบ้านเพ ที่เป็นแหล่งผลิตปลาหมึกสำคัญ ต้องติดตามคุณภาพการปนเปื้อนในสัตว์ต่างๆ ในระยะยาว และการเก็บข้อมูล การตรวจสอบจะต้องไม่ใช่แค่ที่อ่าวพร้าว แต่ต้องครอบคลุมตั้งแต่มาบตาพุดไปถึงแม่น้ำประแสร์ เลยตอนใต้ของเกาะเสม็ด ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด"
อย่างไรก็ตาม ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า จากนี้จิสด้าจะติดตามและเผยแพร่ภาพดาวเทียมอีก 1 สัปดาห์ และคาดว่าปัญหาเฉพาะหน้าจะหมด
ขณะที่ล่าสุด สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โชว์ภาพจากดาวเทียมระบบเรดาร์ COSMO-SkyMed-3 เมื่อเวลา 06.09 น. ของวันที่ 1 สิงหาคม 2556 พบว่า ทางด้านเหนือของเกาะเสม็ด แสดงให้เห็นอาณาบริเวณของคราบน้ำมันที่เป็นฟิล์มที่มีขนาดและปริมาณลดลงจากเมื่อวานนี้ (31 กรกฎาคม) จากประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร เหลือ 5 ตารางกิโลเมตร และมีการหดตัวลงจนกระจายตัวไปไม่ถึงเกาะปลาตีน เกาะขาม และเกาะกุฎี
นอกจากนี้เริ่มเห็นผิวน้ำสีอ่อนแทรกตัวอยู่ในอาณาบริเวณของฟิล์มนี้ แสดงถึงความหนาแน่นของฟิล์มน้ำมันที่ลดลง ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณที่ดีว่ามวลน้ำมันที่เป็นต้นกำเนิดของฟิล์มน้ำมันในบริเวณนี้ น่าจะมีปริมาณลดลงมาก แต่ยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้างในบริเวณตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเสม็ด
สำหรับบริเวณชายฝั่งอ่าวเพด้านตะวันตกและแหลมหญ้า ซึ่งมีลักษณะที่คาดว่าอาจจะเป็นฟิล์มน้ำมันนั้น ยังไม่ได้รับรายงานจากการสำรวจภาคสนามว่าเกิดจากอะไร แต่จะได้เร่งดำเนินการสำรวจต่อไป
ด้านเว็บไซต์ พีทีทีโกบอล เคมิคอล www.pttgcgroup.com ขึ้นข้อความแสดงความเสียใจและขอโทษ รวมทั้งขอรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมระบุ ขณะนี้บริษัทฯ กำลังเร่งดำเนินการแก้ไขสถานการณ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
ขณะที่สถานการณ์ล่าสุด มีการรายงานด้วยว่า เมื่อคืนวันที่ 31 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ของ PTTGC ร่วมกับกำลังพลจากกองทัพเรือ ปฎิบัติการกำจัดคราบน้ำมันบริเวณด้านใต้ของอ่าวพร้าวตลอดทั้งคืน
โดยเช้าวันนี้ พนักงานจิตอาสา PTTGC เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เช้าร่วมกับกำลังพลจากกองทัพเรือซึ่งเข้าช่วยเหลือตั้งแต่เกิดเหตุ และกองทัพเรือส่งกำลังพลมาช่วยปฎิบัติการ 300 นาย โดยมีจิตอาสาจากพันธมิตรและผู้มีจิตอาสาจากหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมด้วย ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 7 150 คน บมจ. ปตท. 60 คน สมาคมเพื่อนชุมชน 20 คน อสม. 50 คน อพปร.(ระยอง) 100 คน กรมอุทยาน 40 คน บมจ. ไออาร์พีซี 50 คน และพนักงานกลุ่มบริษัท PTTGC 340 คน รวมจำนวนจิตอาสาที่มาช่วยปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันวันนี้ กว่า 1,000 คน