ที่ปรึกษาอธิการบดีมจธ. แนะเร่งสร้างนักวิจัยมีคุณภาพวอนรบ.-เอกชนทลายกำแพงทุนวิจัย
รัฐบาลพัฒนานักวิจัยฝ่ายเดียวไม่รุ่ง นักวิชาการชี้เอกชน-รัฐบาลจับมือกัน ปัญหาขาดแคลนนักวิจัย เนื่องจากเด็กไทยเรียนด้านวิทย์ฯ เทคโนโลยีน้อย
วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สบว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดประชุมสัมมนาวิชาการและแสดงนิทรรศการ เรื่อง "การขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยด้วยระบบวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศ" ณ อาคารศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และบรรยายพิเศษในหัวข้อ "นโยบายการขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยด้วยระบบวิจัย" มีใจความว่า ศูนย์ความเป็นเลิศเป็นกลไกที่สำคัญในการการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์แห่งชาติและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะงานวิจัยที่มีความสำคัญ โดยรัฐบาลจะเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งพัฒนานักวิจัยและระบบบริหารให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ภายในงานประชุมสัมมนาได้มีการอภิปราย เรื่อง "นวัตกรรมไทยกับการเปิดประชาคมอาเซียน" โดย ดร.พิเชษฐ์ ดุรงคเวโรจน์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงการบูรณาการระบบทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีภายใต้โจทย์ประเทศใหญ่ๆทำได้ยาก ยกตัวอย่างอภิมหาโปรเจคของรัฐบาลเกี่ยวกับ "ระบบราง" ถ้าเทียบแบบง่ายๆ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีทรัพยกรบุคคลเพียงพอต่อเรื่องคุณภาพความปลอดภัยหรือไม่ แล้วทำอย่างไรเราจะสามารถตรียมคนให้พร้อมสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 7 หรือ 10 ปีข้างหน้า ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง และหลังจากที่ก่อสร้างเสร็จ
ที่ปรึกษาอธิการบดีม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันนี้เรามีบุคคลในการวิจัย 9 คนต่อประชากร 90,000 คน ซึ่งเป้าที่เราตั้งไว้และต้องช่วยกันขับเคลื่อนคือต้องสร้างนักวิจัย 15 คน ต่อประชากร 10,000 คน สิ่งสำคัญคือในการผลิตนักวิจัยออกมาต้องเก่งเต็มไปด้วยคุณภาพถึงจะมีประโยชน์
"เราตระหนักว่า หากให้ภาครัฐทำเองคงไปไม่ได้ไกล ดังนั้นตัวผู้ประกอบการ ภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ในหลายๆเรื่อง และในอนาคตต้องร่วมงานกันให้มากขึ้น ทลายกำแพงคำว่า นี่คือเงินของรัฐบาล นี่คือเงินเอกชนให้ได้ และมาพัฒนาระบบงานวิจัยไปด้วยกัน" ดร.พิเชษฐ์ กล่าว
ดร.พิเชษฐ์ กล่าวอีกว่า โดยรวมๆประเทศไทยประสบปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งความจริงเป็นเรื่องสำคัญ เราควรจะลงทุนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น มีการบูรณาการกับภาคเอกชนอย่างเต็มที่ ให้โอกาสกับนักนักวิจัยในการคิดการสร้างสรรค์ใหม่ๆ สร้างความสะดวกในการวิจัยให้กับผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น สร้างระบบการสนับสนุนเงินทุนให้แข็งแรง
ทั้งนี้ในช่วงสุดท้ายของการอภิปราย ดร.พิเชษฐ์ กล่าวถึงการที่ประเทศไทยกำลังจะสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่ในมหาวิทยาลัยไม่มีหลักสูตรทางด้านนี้ ขาดวิศวกรรมที่ต้องมาซับพอร์ต ทักษะทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญ ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่จะให้เป็นรูปธรรมของการวิจัยเกิดขึ้นยาก นี่คือสิ่งที่เราต้องพัฒนา และเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้น พร้อมแสดงความเป็นห่วง เด็กไทยไม่ค่อยเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี