พนง.มหา’ลัย ยกโมเดลกองทุนรักษาพยาบาล อปท. ร้องสิทธิเทียบเท่า ขรก.
ตัวแทนศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ตบเท้าพบผู้บริหาร สธ. ถกหาทางออกจัดหลักประกันสุขภาพให้กับพนักงานมาวิทยาลัยที่เหมาะสม
วันที่ 31 กรกฎาคม กลุ่มตัวแทนศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ( CHES) กว่า 10 คน เดินทางเข้าพบผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือถึงเรื่องการจัดหลักประกันสุขภาพให้กับพนักงานมาวิทยาลัยที่เหมาะสม ณ ห้องประชุมปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายโสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมรับฟัง
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาฯ กล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องของบริการทางการแพทย์ ที่เกิดขึ้น พบว่า พนักงานมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาฯ ม.มหิดล จะมีโรงพยาบาลระดับมาตรฐานสูง ให้บริการ แตกต่างกับบรรดาอาจารย์ซึ่งอยู่ต่างจังหวัด พื้นที่ห่างไกล ในชนบท ที่ใช้บริการโรงพยาบาล ซึ่งมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน จนกระทบถึงศักดิ์ศรี สิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกัน
“มติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2542 งดรับอัตราข้าราชการประจำ ให้เปลี่ยนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแทน ถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่ 14 จำนวนข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาเหลือแค่ 20% ขณะที่จำนวนพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 70-80% โดยพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมีกว่า 65,000 คน เกือบ 100% ใช้สิทธิ์ประกันสังคม”
รศ.ดร.วีรชัย กล่าวถึงโมเดล สิทธิด้านการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีการตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาล โดยได้สิทธิทัดเทียมกับข้าราชการพลเรือนรักษาโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง หรือแม้แต่สิทธิ์การรักษาพยาบาลของรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น มีทางเป็นไปได้หรือไม่ หากพนักงานมหาวิทยาลัย จะรุกคืบกลับเข้าไปใช้ระบบราชการเดิม หรืออย่างน้อยให้คล้ายกับสิทธิพนักงานรัฐวิสาหกิจ
รศ. ดร.วีรชัย กล่าวด้วยว่า บุคลาการในสถาบันการศึกษาทั้งประเทศ มีแค่ 1.6 แสนคน อีกทั้งเป็นบุคลากรที่สร้างคนออกมารับใช้สังคม ฉะนั้นจึงอยากให้มองพวกเราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำงานให้รัฐ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเรื่องการรักษาพยาบาลก็ควรเท่าเทียมด้วยเช่นกัน
ด้านนพ.วินัย กล่าวถึงการรับข้าราชการ 1 คน รัฐต้องเสียค่ารักษาพยาบาลประมาณ 4 หมื่นบาทต่อคน (สิทธิ์พ่วง รวมพ่อ แม่) โดยสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ที่แตกต่างจากระบบประกันสังคม คือ สิทธิข้าราชการ สามารถเข้าใช้บริการที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน ขณะที่สิทธิประกันสังคม ต้องไปใช้บริการสถานบริการที่ผู้ประกันตนเลือกเอาไว้ ซึ่งหากพนักงานมหาวิทยาลัยจะกลับไปใช้สิทธิ์การรักษาพยาบาลเหมือนระบบข้าราชการ ตนคิดว่า เป็นเรื่องใหญ่ เพราะในอดีตบุคลากรเหล่านี้ได้ยอมเสียสิทธิ์เพื่อแลกกับการได้เงินเดือนเพิ่ม ดังนั้นหากกลับไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลแบบเดิม คำถาม คือ เรื่องค่าตอบแทนจะเป็นเช่นไร
นพ.วินัย กล่าวถึงข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกฎหมายได้สิทธิ์คล้ายข้าราชการ (พ่อ แม่ ลูก) โดยอบต.กว่า 7,000 แห่ง ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยจัดการระบบ ดังนั้น ที่สปสช.เข้ามาบริหารจัดการให้ ก็เพื่อให้การใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ไม่มีปัญหาอุปสรรค ไม่มีปัญหาเรื่องการสำรองจ่าย และกรณีนี้จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิ์
“การจัดสวัสดิการการรักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยายาลัยกันใหม่ตรงนี้ ต้องคิดเรื่องแหล่งเงินด้วยว่า จะมาจากไหน เก็บจากไหน ซึ่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 มาตรา 9 ยังเปิดช่องให้สามารถตราพระราชกฤษฎีกามาเพื่อใช้การจัดการได้ เหมือนกับที่เดินหน้ากับข้าราชการท้องถิ่นกว่า 6 แสนคน ขณะนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว และว่า ฉะนั้น ยังพอมีช่องทาง เปลี่ยนจากสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม มาเป็นแบบรัฐวิสาหกิจ น่าจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด
พร้อมกันนี้ นพ.วินัย ยังยกกรณี อปท.ด้วยว่า ได้เงินจากรัฐบาล สปสช.ตัดเงินก่อนนำไปสนับสนุนให้กับท้องถิ่น นับเป็นการตัดแต่ต้นน้ำ แล้วนำมาตั้งเป็นกองทุนบริการทางการแพทย์ ฉะนั้น พนักงานมหาวิทยาลัย ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยอาศัยช่องทางทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการหารือ มีรายงานด้วยว่า ทางตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัยฯ จะเดินทางเข้าพบ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางในการนำ พนักงานมหาวิทยาลัยทั้งประเทศ เข้าสู่กองทุนสุขภาพเทียบเท่าข้าราชการ โดยจ่ายเท่าเดิม ให้สามารถเข้าใช้สิทธิที่ รพ.ได้ทุกที่ทุกแห่ง และรัฐบาลต้องช่วยงบประมาณบางส่วนเหมือนที่ช่วย อปท.