‘ณรงค์’ เสนอ 3 แนวทางหนุนภาคประชาชนเคลื่อนงานปฏิรูป เปลี่ยนสังคม
'ประเวศ' หนุนชุมชน ท้องถิ่น จังหวัดจัดการตนเอง ลดความแตกแยก แบ่งฝ่าย ชี้อำนาจรวมศูนย์ บ่อเหตุคอรัปชั่น ไม่เกิดนโยบายสาธารณะเพื่อสังคม
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีระดมความคิดเห็น "ปิดฉากภารกิจ 'ปฏิรูป' เปิดโอกาสสังคม (Social Movement) ขับเคลื่อนประเทศไทย" จากสื่อมวลชนทุกแขนง ณ โรงแรมเดอะสุโกศล พญาไท กรุงเทพฯ โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ตประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ และสื่อมวลชนร่วมระดมความเห็น
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงปัญหาประเทศทั้งหลายในประเทศไทย เป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างอำนาจ ที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมต่อสังคม ซึ่งวิธีคิดของสังคมไทยเป็นวิธีที่ไม่คิดเชิงโครงสร้าง แต่คิดเรื่องบุญกรรม ชาติปางก่อน ทำให้ไม่สามารถก้าวพ้นจากวิกฤติได้
"ทางคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ได้ศึกษาและสร้างเครือข่ายสังคมในการแก้ปัญหาโครงสร้างอำนาจ โดยข้อเสนอหนึ่งของ คปร.มีเรื่องการกระจายอำนาจ จากเดิมที่เป็นสังคมรวมศูนย์อำนาจ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ และเกิดปัญหาด้านต่างๆ ตามมา"
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า การรวมศูนย์อำนาจทำให้ระบบราชการอ่อนแอ แก้ปัญหาใดๆ ไม่ได้ ทั้งปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม ความยุติธรรมในสังคม และความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนใต้ จนกระทั่งหวั่นเกรงกันว่าจะเกิดภาวะ 'รัฐล้มเหลว' (Failed States) พร้อมมองว่าไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดจะแก้ปัญหาได้ทั้งประเทศ หากจะแก้ได้ต้องกระจายอำนาจ ลดอำนาจที่รวมศูนย์
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า หากอำนาจรวมศูนย์ หรือมีอำนาจเข้มข้นที่ใด ที่นั่นการคอร์รัปชั่นจะรุนแรง ทำให้การต่อสู้ด้านการเมือง เพื่อให้ได้อำนาจมีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงทำให้การเมืองไร้ศักยภาพ มีเพียงความต้องการกินรวบประเทศ ซึ่งเกิดรัฐประการได้ง่าย
"สิ่งที่ชุมชนท้องถิ่น และแต่ละจังหวัดทำอยู่ขณะนี้ ได้แก่ แนวคิดจัดการตนเอง โดยไม่รอการกระจายอำนาจจากภาครัฐ เนื่องจากที่ผ่านมา แม้ว่าประชาชนหรือนักศึกษาจะล้มรัฐบาลได้ แต่ก็ไม่สามารถปกครองประเทศได้ การจัดการตนเอง จึงมีความสำคัญในรูปประชาธิปไตยชุมชน ที่สามารถจัดการเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และสุขภาพอย่างเป็นประชาธิปไตย เช่น ธรรมนูญจัดการชุมชนของจังหวัดอำนาจเจริญ และอีกประมาณ 40 จังหวัดที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะลดความแตกแยกในบ้านเมือง ไม่มีสี ไม่มีฝ่าย เพราะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง เป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคม" ศ.นพ.ประเวศ กล่าว และว่า ประชาธิปไตยระดับชุมชนเป็นประชาธิปไตยทางตรง ที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง ไม่ต้องอาศัยการเลือกตั้ง ไม่มีการซื้อสิทธิ์ชายเสียง แต่มีคุณภาพสูงกว่า
"กระบวนการสมัชชาปฏิรูป เป็นแนวทางที่ศึกษาเหตุของปัญญา และสร้างมติหรือนโยบายสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีมหาวิทยาลัยใดมีบทบาทด้านนี้ เอ็นจีโอก็เข้าไม่ถึง ส่วนนักการเมืองก็ทำหน้าที่แบบระยะสั้น จึงไม่เกิดนโยบายสาธารณะที่เข้าถึงและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม"
สำหรับตลอด 3 ปีของกระบวนการปฏิรูประเทศ ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า มติ หรือนโยบายสาธารณะในหลายด้าน เช่น การปฏิรูปที่ดิน และมี 4 เมล็ดพันธุ์ที่กระบวนการปฎิรูปทิ้งไว้ให้สังคม ได้แก่
1.เมล็ดพันธุ์แห่งความคิดเรื่องปฎิรูปโครงสร้างอำนาจ สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ
2.กระบวนการจัดการตนเองของพื้นที่
3.กระบวนการสมัชชาเพื่อสร้างนโยบายสาธารณะ
4.มติสมัชชา 21 ประเด็น
"สิ่งสำคัญในอนาคตคือ ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อพัฒนาประเทศไทย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้คนไม่มาก ใช้ทุนไม่มาก เพียงแต่ต้องใช้ปัญญา มีความเข้าใจและมีศิลปะในการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ จะเป็นการพัฒนาประเทศไปได้ไกล มากกว่าการสร้างความโกรธเกลียดที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง"
ขณะที่นายมานิจ กล่าวว่า ตลอด 3 ปีของคณะทำงานสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ได้เปิดเวทีให้สื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหา ความทุกข์ยากของแต่ละพื้นที่ มองเห็นประเด็นความไม่เสมอภาคหลายด้าน ขณะที่สื่อก็ถูกตั้งคำถามว่าควรมีการปฏิรูปตนเอง ซึ่งก็มีสภาการหนังสือพิมพ์ ทำหน้าที่ได้ผลบ้างในการดูแลและควบคุมกันเอง
"เรียกร้องให้พี่น้องสื่อทั้งหลายให้คิดเรื่องใหญ่ๆ ปัญหาที่ใหญ่และสำคัญของสังคม สร้างให้คนในสังคมตระหนักเรื่องความถูกต้องและชอบธรรม และสร้างความมั่นคงในการผนึกมั่นทางวิชาชีพในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพ ดูแลกันเอง ไม่ยกย่องผู้ประพฤตินอกกรอบ รวมถึงให้ความสำคัญและเผยแพร่มติสมัชชาปฏิรูป โดยเฉพาะการจัดการที่ดินให้เป็นธรรมและยั่งยืน"
'ณรงค์' เสนอ 3 ขั้นตอนเคลื่อนงานปฏิรูปภาคประชาชน
ด้านรศ.ดร.ณรงค์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่า กระบวนการขับเคลื่อนในภาคประชาชนเป็นส่วนสำคัญ ที่มีพลังในตัวเอง ซึ่งมี 3 ข้อเสนอที่สามารถทำได้ ได้แก่
1.การต่อสู้เพื่อสร้างความคิด ทำสงครามความคิด เป็นการใช้อำนาจแบบอ่อนผ่านสื่อ โดยใช้เนื้อหาที่ทรงประสิทธิภาพ มีรูปแบบที่ง่ายและไม่ซับซ้อน นั่นคือเนื้อหาทางวัฒนธรรม ผ่านละคร ภาพยนตร์ วรรณกรรม และหนังสือพิมพ์ มุ่งเป้าหมายเดียวกัน และควรเริ่มที่คนชั้นกลาง
2.กระบวนการขับเคลื่อนเริ่มจากสิ่งที่มี อาชีพที่ทำ แนวทางการขับเคลื่อนอาจไม่ใช่ทางเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดสามารถบรรจบบรรลุผลเดียวกัน ซึ่งกระบวนการที่ผ่านมา เมื่อแนวทางต่างกัน มักจะขัดแย้งกัน
3.เมื่อเริ่มการขับเคลื่อนจะเกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ที่มีความซื่อสัตย์ ทำงานเพื่อสังคม โดยที่ไม่ต้องจัดตั้งขึ้น เช่น ผู้นำชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน แล้วดึงคนเหล่านี้มาทำงานร่วมกัน เดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกัน จะมองเห็นเส้นทางชัดขึ้น และเป็นเส้นทางที่มีความหวัง
ทั้งนี้ รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยยังทิ้งสิ่งที่เรียกว่า 'แนวดิ่ง' ไม่ได้ ยังต้องการคนมีบารมี แต่เชื่อว่าหากประชาชนมีอำนาจดุลกับรัฐได้ รัฐจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลดอำนาจตัวเอง ปรับหาประชาชนและจะพบเส้นทางสมดุลระหว่างกัน
"ขณะนี้ทุกคนกำลังอยู่ในสงครามการขับเคลื่อน จึงต้องไม่ปิดฉากการขับเคลื่อน ต้องไม่ปิดฉากการปฏิรูป"