6 เดือนค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท SMEs ยังสู้ไหว?
ประเด็นสำคัญ
- เอสเอ็มอีประมาณ 79.5% สามารถรับมือกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทได้ แต่กว่าครึ่งระบุว่า กิจการได้รับผลกระทบจนผลประกอบการไม่ดีเหมือนเดิม
- ธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก มีสัดส่วนของกิจการที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มากกว่าธุรกิจขนาดกลางถึงประมาณ 2 เท่า
- ยอดปิดกิจการที่เกิดขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนี้ น่าจะมีประมาณ 50,000 ถึง 70,000 ราย โดยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน
ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง “6 เดือนค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท SMEs ยังสู้ไหว?” โดยการวิจัยครั้งนี้ เป็นการติดตามผลกระทบของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 685 ราย จาก 16 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา (ไม่รวม 7 จังหวัดนำร่องที่ได้มีการปรับขึ้นไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556) โดยเริ่มทำการติดตามผลกระทบของผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม ถึง 15 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา
จากการสอบถามถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ โดยภาพรวมแล้ว 24.7% ระบุว่า มีผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 40.7% ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ 20.6% น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และอีก 14.0% ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม หากประเมินผลกระทบโดยแบ่งตามขนาดของวิสาหกิจ จะพบว่า สัดส่วนของกิจการที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เท่ากับ 31.7% สำหรับธุรกิจรายย่อย 35.9% สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และ 12.4% สำหรับธุรกิจขนาดกลาง ผลที่ได้สะท้อนให้เห็นว่า ความสามารถในการคาดการณ์และเตรียมตัวขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ ธุรกิจที่มีขนาดเล็กจะมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสูงกว่าธุรกิจประเภทเดียวกันที่มีขนาดใหญ่กว่า
สำหรับผลกระทบที่มีต่อการดำเนินกิจการ 11.2% ระบุว่า ดำเนินกิจการได้ดีกว่าเดิม ด้วยสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ 1) สามารถจ่ายค่าแรงที่สูงกว่า จึงสามารถดึงแรงงานที่มีฝีมือมาทำงานได้มากขึ้น 2) คู่แข่งมีต้นทุนที่สูงขึ้น จนต้องปรับขึ้นราคา ทำให้ลูกค้าหันมาซื้อสินค้าของตนมากขึ้น และ 3) คู่แข่งปิดกิจการ 21.0% ระบุว่า ดำเนินกิจการได้เหมือนเดิม เพราะได้มีการเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว 47.3% ดำเนินกิจการได้ แต่ไม่ดีเหมือนเดิม เนื่องจากมีข้อจำกัดในการปรับตัวทำให้ไม่สามารถรับมือกับต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้นได้ แสดงว่าเอสเอ็มอี 79.5% สามารถรับมือกับผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำได้ 12.9% ยังไม่แน่ใจ เพราะยังไม่สามารถประเมินผลกระทบในเชิงบวกและเชิงลบได้อย่างชัดเจน และอีก 7.6% ระบุว่า รอเวลาปิดกิจการ เพราะคาดว่าหากต้นทุนสูงขึ้นกว่านี้อีก จะทำให้ขาดทุนหรือได้กำไรน้อยเกินไป ไม่คุ้มค่ากับการทำธุรกิจ ซึ่งผลการศึกษาที่ได้นี้สอดคล้องกับผลการศึกษาจากงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่า นโยบายที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน มิได้ทำให้เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบในเชิงลบเพียงอย่างเดียว ผู้ประกอบการที่มีความพร้อม มีการบริหารจัดการที่ดี จะสามารถเปลี่ยนผลกระทบเหล่านี้ให้กลายเป็นโอกาสในทางธุรกิจได้
การประเมินผลกระทบที่มีต่อต้นทุนนั้น จะต้องมีการจำแนกตามประเภทของกิจการ ขนาดของกิจการ และผลกระทบทางตรงที่เกิดขึ้นจากต้นทุนค่าแรง และผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ต้นทุนของวัตถุดิบที่สูงขึ้นของผู้ขายวัตถุดิบให้กับกิจการ เป็นต้น โดยจากผลการศึกษาพบว่าผลกระทบที่มีต่อต้นทุนในการทำธุรกิจมีดังนี้
1. ธุรกิจรายย่อยในภาคการผลิต มีต้นทุนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 17.6% โดยมีต้นทุนทางตรงที่เกิดขึ้นมีประมาณ 13.0% ต้นทุนทางอ้อม 4.6%
2. ธุรกิจขนาดเล็กในภาคการผลิต มีต้นทุนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 14.7% โดยมีต้นทุนทางตรงที่เกิดขึ้นมีประมาณ 10.3% ต้นทุนทางอ้อม 4.4%
3. ธุรกิจขนาดกลางในภาคการผลิต มีต้นทุนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 11.8% โดยมีต้นทุนทางตรงที่เกิดขึ้นมีประมาณ 8.2% ต้นทุนทางอ้อม 3.6%
4. ธุรกิจรายย่อยในภาคการบริการ มีต้นทุนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 21.5% โดยมีต้นทุนทางตรงที่เกิดขึ้นมีประมาณ 17.4% ต้นทุนทางอ้อม 4.1%
5. ธุรกิจขนาดเล็กในภาคการบริการ มีต้นทุนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 20.4% โดยมีต้นทุนทางตรงที่เกิดขึ้นมีประมาณ 16.1% ต้นทุนทางอ้อม 4.3%
6. ธุรกิจขนาดกลางในภาคการบริการ มีต้นทุนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 18.8% โดยมีต้นทุนทางตรงที่เกิดขึ้นมีประมาณ 15.3% ต้นทุนทางอ้อม 3.5%
7. ธุรกิจรายย่อยในภาคการค้าปลีก-ค้าส่ง มีต้นทุนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 20.8% โดยมีต้นทุนทางตรงที่เกิดขึ้นมีประมาณ 14.7% ต้นทุนทางอ้อม 6.1%
8. ธุรกิจขนาดเล็กในภาคการค้าปลีก-ค้าส่ง มีต้นทุนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 17.7% โดยมีต้นทุนทางตรงที่เกิดขึ้นมีประมาณ 12.3% ต้นทุนทางอ้อม 5.4%
9. ธุรกิจขนาดกลางในภาคการค้าปลีก-ค้าส่ง มีต้นทุนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 13.0% โดยมีต้นทุนทางตรงที่เกิดขึ้นมีประมาณ 8.9% ต้นทุนทางอ้อม 4.1%
สำหรับแนวทางการปรับตัวที่ใช้มากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ 57.4% ลดการลงทุนระยะยาว 48.6% ปรับขึ้นราคาสินค้า 45.4% ผลต้นทุนการผลิตในส่วนอื่นที่มิใช่ค่าแรง 44.0% เพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน และอีก 35.2% นำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้น 17.1% ระบุว่าไม่สามารถทำอะไรได้ และอีก 12.5% ได้เลิกกิจการไปแล้ว แสดงว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีเอสเอ็มอีที่เข้าข่ายต้องปิดกิจการทั้งประเทศรวมแล้วประมาณ 325,000 ราย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระบุว่า ในปี 2554 มีเอสเอ็มอีปิดกิจการทั้งสิ้น 289,211 ราย หากใช้ตัวเลขนี้มาเป็นฐานในการประมาณค่า ยอดปิดกิจการที่เกิดขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนี้ น่าจะมีประมาณ 50,000 ถึง 70,000 ราย โดยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน
นอกจากการศึกษาผลกระทบในภาพรวมแล้ว คณะผู้วิจัยยังได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 34 ท่าน จาก 4 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา และสงขลา เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจและเศรษฐกิจของจังหวัด ตลอดจนถึงแนวทางการปรับตัวที่ใช้
ผลการศึกษาพบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาพรวมของจังหวัด ผู้ประกอบการระบุว่า ค่าครองชีพ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม มีราคาเพิ่มสูงขึ้น มีการปรับขึ้นค่าเช่าบ้าน และค่าบริการต่างๆ จนทำให้อำนาจซื้อจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นของแรงงานค่อยๆ ลดลงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้แล้ว ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ แรงงานฝีมือในจังหวัดเหล่านี้หาได้ยากขึ้น เพราะโดนบริษัทขนาดใหญ่ทั้งในพื้นที่และในจังหวัดใกล้เคียงที่สามารถจ่ายค่าแรงสูงว่า 300 บาทดึงตัวไปทำงานด้วย โดยเสนอค่าแรงให้มากกว่าเดิม คนงานใหม่ที่รับเข้ามาทำงาน มีความสามารถน้อยกว่าคนที่เสียไป จึงทำงานได้ไม่คุ้มกับค่าแรงเหมือนกันพนักงานคนก่อนที่ลาออกไป
ในระดับสถานประกอบการ การบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการผลักต้นทุนที่เกิดขึ้นไปยังผู้ขายวัตถุดิบให้และลูกค้า ธุรกิจที่มีความสามารถในการผลักต้นทุนได้ ก็จะเลือกต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบเพื่อให้ลดราคา หรือควบคุมราคาไม่ให้เพิ่มขึ้นมากจนเกินไปนัก ในขณะเดียวกันก็จะพยายามปรับขึ้นราคาสินค้าหรือบริการ โดยจะเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ลูกค้ามีเวลาในการปรับตัว และป้องกันไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนไปซื้อสินค้าหรือบริการจากคู่แข่งที่มีการปรับขึ้นราคาน้อยกว่าตน
ในกลุ่มที่ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หรือได้รับผลกระทบแต่สามารถรับมือได้นั้น นอกจากการปรับขึ้นราคาแล้ว ยังมีการปรับปรุงกระบวนการในการทำธุรกิจเพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของธุรกิจ ประเด็นหนึ่งที่ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ให้ความสำคัญมากก็คือ การทำความเข้าใจกับพนักงาน เพื่อให้เข้าใจถึงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลง ว่าเป็นความจำเป็นเพื่อให้ทุกคนยังมีงานทำต่อไป ในช่วงเวลาเช่นนี้ การที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องมีการร่วมแรงร่วมใจกัน ผู้ประกอบการบางราย มีการระดมสมองร่วมกับพนักงาน เพื่อหาแนวทางในการปรับตัว ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้แล้ว การที่พนักงานมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลง ทำให้บริการการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น สอดคล้องกับหลักการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management)
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้กล่าวถึงผลการศึกษาที่ได้จากงานวิจัยเรื่องนี้ว่า
“แม้ว่าเอสเอ็มอีประมาณ 80% จะสามารถผ่านมรสุมค่าแรง 300 บาทมาได้ แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นได้ทำให้เอสเอ็มอีจำนวนกว่าสองในสามอ่อนแอลงกว่าเดิม ตอนนี้เอสเอ็มอีมาถึงขีดจำกัดในการปรับตัวแล้ว ช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า รัฐบาลต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดี เพื่อให้สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจมีความนิ่งพอที่เอสเอ็มอีจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ นั่นหมายถึง การเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาค่าครองชีพ การควบคุมหนี้ครัวเรือนไม่ให้สูงไปกว่านี้ พยายามหารายได้จากต่างประเทศมากพอที่จะกระตุ้นกำลังซื้อโดยรวมของประเทศ นี่คือช่วงเวลาที่ท้าทายความสามารถในการบริการจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาล หากไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ในช่วง 6 เดือนข้างหน้าอาจมีเอสเอ็มอีปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นราย”
หมายเหตุ
1. จังหวัดที่ทำการศึกษา ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี ยโสธร นครสวรรค์ สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา กระบี่ สุราษฏร์ธานี และสงขลา
2. ตามนิยามของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
2.1. วิสาหกิจรายย่อยหมายถึง กิจการที่มีการจ้างงานไม่เกิน 5 คนและไม่จดทะเบียนพาณิชย์
2.2. วิสาหกิจขนาดเล็กในภาคการผลิตและการบริการ หมายถึง กิจการที่มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน วิสาหกิจขนาดเล็กในภาคการค้าปลีก หมายถึง กิจการที่มีการจ้างงานไม่เกิน 15 คน วิสาหกิจขนาดเล็กในภาคการค้าส่ง หมายถึง กิจการที่มีการจ้างงานไม่เกิน 25 คน
2.3. วิสาหกิจขนาดกลางในภาคการผลิตและการบริการ หมายถึง กิจการที่มีการจ้างงาน 50 - 200 คน วิสาหกิจขนาดกลางในภาคการค้าปลีก หมายถึง กิจการที่มีการจ้างงานไม่เกิน 16 - 30 คน วิสาหกิจขนาดกลางในภาคการค้าส่ง หมายถึง กิจการที่มีการจ้างงานไม่เกิน 26 - 50 คน
……………………………………………………………….
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
โทรศัพท์ 02-9547300 ต่อ 528 หรือ 652