‘มรว.อคิน’ แนะลดช่องว่างคดีที่ดิน ศาลต้องใช้ระบบไต่สวน เหมือนคดีสวล.
‘มรว.อคิน รพีพัฒน์’ แนะลดเหลื่อมล้ำปัญหาที่ดิน-กระบวนการยุติธรรม ศาลต้องตัดสินระบบไต่สวนแทนกล่าวหา ระบุชุมชนเข้มเเข็งได้ ต้องสร้างจุดร่วมเครือข่ายสู่การขับเคลื่อนส่งต่อถึงรบ.
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ศ.ดร.มรว.อคิน รพีพัฒน์ อดีตกรรมการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวในเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็น ‘ปิดฉากภารกิจ ‘ปฏิรูป’ เปิดโอกาสสังคม ( Social Movement) ขับเคลื่อนประเทศไทย’ ถึงการศึกษาวิจัย ชุมชนสมัยโบราณ ที่เกิดจากการรวมตัวของคนที่มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน มักเกี่ยวดองทางเครือญาติ มีวัดเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ชุมชนในปัจจุบันกลับเป็นปัจเจกและเห็นแก่ตัวมากขึ้น โดยหากจะรวมตัวเป็นชุมชนได้นั้นจะต้องเกี่ยวพันกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และมักมาจากคนหลายพื้นที่ เพื่อความหวังในผลสำเร็จบางอย่าง
ศ.ดร.มรว.อคิน กล่าวว่า ชุมชนลักษณะนี้จะอยู่ได้ไม่นาน เรียกอีกอย่างว่า เป็นชุมชนที่ส่งเสริมขึ้นมาอย่างไรก็ตาม การพัฒนาและส่งเสริมชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การกระจายอำนาจยังถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยมูลนิธิชุมชนไทได้ขับเคลื่อนงานด้านที่ดินและกระบวนการยุติธรรมเรื่อยมา แรกเริ่มทำงานเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์สำหรับผู้ถือครองที่ดินเกิน 50 ไร่ แต่ได้รับการต่อต้านจากหน่วยงานภาครัฐและทุน ส่วนการจะสร้างเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็งนั้น จำเป็นต้องมีประเด็นเพื่อให้คนเกิดการรวมตัว ก่อนจะนำไปสู่การขับเคลื่อนโดยรัฐบาล ส่วนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น กรณีทวงสิทธิที่ดินทำกินของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ), คนไทยพลัดถิ่น, โฉนดชุมชน หรือธนาคารที่ดิน
อดีตกรรมการปฏิรูปฯ กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยว่า ได้เริ่มต้นจากฐานความคิดเดิมของเหตุการณ์ความไม่ยุติธรรมในการจัดการที่ดิน โดยพบการออกโฉนดที่ดินทับพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ก่อน นำไปสู่การฟ้องร้องเพื่อขับไล่ เช่น กรณีพี่น้องชาวเลในภาคใต้ จึงมองว่า การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องพูดคุยกับผู้พิพากษาให้เข้าใจในหลักสิทธิชุมชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 66 และ 67 ก่อน
"แต่ปรากฏว่าสิทธิชุมชนในกระบวนการยุติธรรมกลับเป็นปัญหามาก เนื่องจากผู้พิพากษาหลายคนไม่เข้าใจว่า ชุมชนคืออะไร ทำให้ชาวบ้านมักถูกศาลพิพากษาตัดสินไม่เป็นธรรม และหลายคนต้องถูกขับไล่ออกจากที่ดินตนเอง บ้างก็เข้าคุก จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสาร"
ทั้งนี้ ศ.ดร.มรว.อคิน กล่าวด้วยว่า ระบบศาลไทยใช้ระบบพิจารณาคดีในระบบกล่าวหามากกว่าการไต่สวน จนส่งผลให้เกิดการคอร์รัปชั่นแบบมองไม่เห็น ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรเปลี่ยนเป็นวิธีการไต่สวนในคดีที่ดิน เช่นเดียวกับที่ใช้ในคดีสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน เพราะหากศาลไต่สวนสืบค้นพยานอย่างถี่ถ้วนก็จะสามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเเละลดความเหลื่อมล้ำในไทยได้เอง
อ่านเพิ่มเติม:ความคิด ชีวิต และงาน ‘ดร.อคิน รพีพัฒน์’ นักวิชาการเพื่อคนชายขอบ