นักวิชาการจี้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้หลังค่าตะกั่วยังสูง 1.9 หมื่นมล./กก.
‘ดร.อาภา หวังเกียรติ’ เผยข้อมูลสารตะกั่วในท้องน้ำลำห้วยคลิตี้สูง 1.9 หมื่นมล./กก.จี้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูตามคำสั่งศาลปกครอง พร้อมเร่งรัดกำหนดมาตรฐานปล่อยสารพิษลงตะกอนดิน
วันที่ 28 ก.ค. 56 ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ ดร.อาภา หวังเกียรติ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยผลการตรวจสภาพแวดล้อมและข้อเสนอในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ทางวิชาการว่า กรณีลำห้วยคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่ว จนชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำและดำรงชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากมีสารตะกั่วตกค้างในตะกอนดินท้องน้ำลำห้วยคลิตี้ โดยผลการเก็บตัวอย่างจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และสถาบันการศึกษา ตั้งแต่ปี 2541-56 ได้แสดงปริมาณการพบสารตะกั่วดังกล่าวสูงมากโดยเฉพาะข้อมูลการเก็บตัวอย่างของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อมี.ค. ปี 2556 พบปริมาณสารตะกั่วในตะกอนดินท้องน้ำลำห้วยคลิตี้สูงถึง 19,246 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
สาเหตุหลักเกิดจากไทยยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ค่ามาตรฐานการปล่อยสารพิษในตะกอนดิน แม้กรมควบคุมมลพิษจะมีความพยายามในการศึกษาเพื่อออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว แต่กลับระบุเพียงค่ามาตรฐานความปลอดภัยสำหรับสัตว์น้ำเท่านั้น ขณะที่ค่ามาตรฐานความไม่ปลอดภัยไม่ปรากฏในรายงาน ทั้งที่ในต่างประเทศล้วนกำหนดค่ามาตรฐานไม่ปลอดภัยอยู่ที่ 90-250 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ดังนั้นจึงควรเร่งรัดในเกิดการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวให้ชัดเจน
นักวิชาการ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้กรมควบคุมมลพิษจัดทำแผนฟื้นฟูจนไม่มีมลพิษและเฝ้าระวังต่อเนื่องอีก 1 ปี หากแต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด อันที่จริงเราเคยสนับสนุนแผนฟื้นฟูที่มีความเป็นไปได้แล้วตั้งแต่ปี 2549 โดยล้อมาจากข้อเสนอเดิมของนายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษที่ให้ขุดตะกอนดินออกจากลำห้วยให้หมด โดยแบ่งลำห้วยออกเป็น 3 ระยะ ค่าใช้จ่ายดำเนินงานราว 78 ล้านบาท
“กรมควบคุมมลพิษควรเร่งดำเนินการตามแผนการกำจัดตะกั่วในตะกอนดิน โดยชาวบ้านต้องเข้าไปมีส่วนร่วมตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด แต่ที่ผ่านมาพบว่าการลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง การประกาศผล หรือการดำเนินงานอื่น ๆ ชาวบ้านไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วมหรือมีก็น้อยมาก” ดร.อาภา กล่าว และว่าในความคิดของชาวบ้านนั้นต้องการให้มีการขุดลอกตะกอนตลอดลำห้วย รวมทั้งริมลำห้วยด้วย ทั้งนี้มีการประเมินค่าใช้จ่ายการฟื้นฟูจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศอาจต้องใช้ราว 400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มองสาเหตุที่กรมควบคุมมลพิษไม่สามารถดำเนินการตามคำขอได้ เนื่องจากก่อนหน้าที่ศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินนั้น ได้มีการออกมายืนยันกับสาธารณะว่าการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง รวมถึงส่วนตัวคิดว่าค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูที่สูงนั้นอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการดำเนินการแผนฟื้นฟูที่ล่าช้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2556 ชาวบ้านคลิตี้ล่างมีมติต่อการจัดทำแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ดังนี้ 1.ชาวบ้านต้องการให้กรมควบคุมมลพิษขุดลอกตะกอนตลอดลำห้วย รวมทั้งริมลำห้วยด้วย ทั้งด้านลึกและด้านข้าง ข้างละ 2 เมตร ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี 2.ให้กำจัดแหล่งตะกั่วอื่น ๆ ที่ปนเปื้อนลงสู่ลำห้วยด้วย เช่น ที่กองแร่ พื้นที่โรงแต่งแร่ ที่ทิ้งหางแร่ และ 3.การกำจัดตะกอนลำห้วยนั้น ซึ่งเป็นสารพิษจากอุตสาหกรรม ชาวบ้านเสนอว่าให้นำไปบำบัดนอกพื้นที่ตามกระบวนการกำจัดของเสียอุตสาหกรรม .