ภราดร : BRN ช่วยเช็คซ้ำป่วนรอมฎอน - "ปกครองพิเศษ"คำตอบสุดท้ายไฟใต้
แม้จะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับความเข้าใจร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นว่าด้วยการยุติความรุนแรงห้วงเดือนรอมฎอนกับอีก 10 วันหลังจากนั้น อันเป็นหนึ่งในแผนสถาปนาสันติภาพที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย...
ไม่ว่าจะเป็นความจริงใจของบีอาร์เอ็นและฝ่ายความมั่นคงไทยเอง การฆ่ากันตายรายวันซึ่งบางเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างโหดเหี้ยมและมีการปล่อยข่าวป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐ และบางเหตุการณ์พุ่งเป้าไปที่ "บุคคลอ่อนไหว" ประเภทครูตาดีกาและอดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคง รวมไปถึงเหตุลอบวางระเบิดที่ก่อความสูญเสียอย่างมาก กระทั่งหลายฝ่ายเริ่มกังขาถึงอนาคตของโต๊ะพูดคุยสันติภาพก็ตาม
ทว่า พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย ยังคงมีท่าทีสบายๆ เมื่อถูกตั้งคำถามและต้องเป็นฝ่ายตอบคำถามเหล่านั้น
และในการให้สัมภาษณ์แบบยาวๆ เที่ยวล่าสุด เขายังได้แย้มพรายถึง "คำตอบสุดท้าย" ของโต๊ะพูดคุยสันติภาพ และอาจเป็น "คำตอบสุดท้าย" ที่จะยุติสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงยืดเยื้อที่ชายแดนใต้เอาไว้ด้วย
@ สถานการณ์ช่วงเดือนรอมฎอนดีขึ้นจริงหรือ เพราะยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทุกวัน?
เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจ เพราะมันเหมือนเหตุรุนแรงเกิดเยอะ แต่จริงๆ เป็นการก่อความไม่สงบหรือเหตุความมั่นคงแค่ 4 เหตุ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ค. หรือ 14 วันแรกของเดือนรอมฎอน) ส่วนเหตุอื่นมาจากปัญหายาเสพติด การเมืองท้องถิ่น
จริงๆ จะว่าไปสถานการณ์ในพื้นที่ก็เป็นอย่างนี้ตลอด คือมีเหตุอื่นผสมโรงเหตุความมั่นคงอยู่ แต่ที่ผ่านมาถ้ามีการตั้ง 2 สมมติฐาน คือมีมูลเหตุจูงใจอื่น หรือเป็นเหตุความมั่นคง สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็จะให้เป็นเหตุความมั่นคง จะได้ปิดคดี พอยื่นฟ้องไปศาลก็ยกฟ้อง ตรงนี้ก็ได้มีการปรับปรุง
@ การปรับปรุงที่ว่าคืออะไร?
คือการตั้งคณะทำงานส่งเสริมสันติภาพที่ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ตั้งขึ้น (หมายถึงคณะทำงานส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอน พ.ศ.2556 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน) คณะทำงานชุดนี้มีองค์ประกอบทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่โบ้ยไม่ได้
ขั้นตอนคือเราพิสูจน์ทราบ แล้วส่งข้อมูลผ่านดาโต๊ะซัมซามิน (ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพ) และฝ่ายบีอาร์เอ็นบอกว่าใช่ โดยเขาส่งข้อมูลผ่านดาโต๊ะเหมือนกัน ถ้าตรงกันก็จบ แต่ถ้าไม่ใช่ฝีมือของกลุ่มพวกเขา เขาก็จะบอกกว้างๆ ว่าเป็นกลุ่มภัยแทรกซ้อนอื่น หรือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ
จริงๆ เราก็คิดว่าเขาต้องพอรู้ว่าถ้าไม่ใช่พวกเขาแล้วเป็นใคร แต่เขายังไม่บอกเรา ต่อไปจะใช้โต๊ะพูดคุยนี้ดำเนินการไปเรื่อยๆ จนเขายอมบอก แต่แน่นอนว่ามีลูกน้องเขาทำ มีกลุ่มที่ยังไม่ยอมรับ
@ 2 กรณีช่วง 6-7 วันแรกของเดือนรอมฎอน คือเหตุยิงผู้ต้องหาคดีความมั่นคง (นายตอเหล็บ สะแปอิง ได้รับบาดเจ็บ) และครูอุสตาซ (นายมะยาหะลี อาลี เสียชีวิต) ฝ่ายความมั่นคงและคณะทำงานฯสรุปว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่บีอาร์เอ็นกลับนำไปประท้วงผ่านดาโต๊ะซัมซามินว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำ อย่างนี้จะสรุปว่าอย่างไร?
เรื่องที่ไปเกี่ยวกับคนของเขา...เขาจะมีความรู้สึก เพราะคนนั้นมีหมายจับ แต่มันเป็นคนของเขา ซึ่งบีอาร์เอ็นเขาบอกว่ามันจะเป็นตัวกระตุ้นคนของเขา ทั้งๆ ที่มันเรื่องส่วนตัว พอไปทำคนกลุ่มนี้บางทีเขาอาจจะเจอจุดที่ควบคุมไม่ได้ เกรงว่าเราจะทำกับพวกเขา เพราะเขาไม่ได้แยกว่าเป็นปัญหาส่วนตัว แต่อาจมีคนไปบอกว่า เฮ้ย!...รัฐมันเอาแล้ว สถานการณ์มันเปราะบาง สื่อสารกันยากมาก
@ แสดงว่ามีการตรวจสอบกับบีอาร์เอ็นตลอด?
ใช่...คนที่จะบอกคือเขา (บีอาร์เอ็น) เพราะเขารู้ข้อมูล มี double check (ตรวจสอบซ้ำ 2 ครั้ง) คือ 1.เรามีคณะทำงานที่มีภาคประชาชนร่วม กับ 2.บีอาร์เอ็นบอกเราผ่านดาโต๊ะซัมซามิน และเชื่อว่าต่อไปเขาจะบอกมากขึ้นว่าเป็นฝีมือของกลุ่มไหน เมื่อเชื่อใจมากขึ้นก็จะบอก
@ จนถึงวันนี้มั่นใจได้แล้วใช่ไหมว่า ฮัสซัน ตอยิบ (หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น) เป็นตัวจริง?
ฮัสซันเป็นผู้นำความคิด เป็นภาพใหญ่ ถ้าเขามีศักยภาพพอที่จะเชื่อมทุกฝ่ายได้ก็ดี ภาระของฝ่ายเราก็จะเบาลง จากการทำงานร่วมกันที่ผ่านมาชัดเจนว่าบีอาร์เอ็นมีโครงข่ายลงไปในพื้นที่ เขายังคุยกับส่วนใหญ่ได้ แต่ส่วนน้อยก็ยังมี ฉะนั้นเราอย่าไปเปิดช่องให้พวกนี้ปฏิบัติ ไม่อย่างนั้นจะเกิดการตอบโต้ ขณะเดียวกันมันก็มีเจ้าหน้าที่ระดับล่างก็มีปัญหาส่วนตัวกับคนในขบวนการหรือแม้แต่ผู้นำท้องถิ่นด้วยกันเอง และช่วงนี้มันใกล้เลือกตั้งท้องถิ่น ฉะนั้นเราต้องระวัง
@ มีปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารกับผู้นำในท้องถิ่นด้วย?
มี...ยิงกันเองระหว่างผู้นำท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่ใช่เรื่องขบวนการก็เยอะ กำนันผู้ใหญ่บ้านมีปัญหากับตำรวจก็เยอะ ผมนั่งอยู่ตรงนี้ก็มีทั้งสองฝ่ายมาฟ้อง ความยากของรัฐไทยคือต่อสู้กับขบวนการแล้วยังต้องดูแลเจ้าหน้าที่ด้วย แต่การใช้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ยังดีกว่าเจ้าหน้าที่จากภาคอื่นลงไป เพราะรู้จักพื้นที่ดีกว่า
@ ในทางกลับกันเมื่อมีเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุความมั่นคงเกิดขึ้นน้อยลง บีอาร์เอ็นก็จะต่อรองเลยว่านี่ไงหยุดยิงให้แล้วจะเอาอย่างไร กระบวนการพูดคุยสันติภาพสุดท้ายจะเป็นอย่างไร?
ปัญหาภาคใต้...คำตอบสุดท้ายต้องเรื่องการเมืองการปกครอง ปลายทางคือการเมืองการปกครอง แต่เราต้องยึดรัฐธรรมนูญไทย ก็ต้องออกแบบกันในเวทีพูดคุย ที่ผ่านมาก็มีเวทีในพื้นที่ มีการสำรวจความคิดเห็นชาวบ้าน ก็ชัดเจนว่าชาวบ้านไม่ได้อยากแยกดินแดน ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็มีการเปลี่ยนโมเดลไปเรื่อยๆ
จริงๆ บีอาร์เอ็นก็มีความขัดแย้งภายในกันในเรื่องนี้ พวกรุ่นเก่าๆ มองว่าแยกไม่ได้ เพราะแยกแล้วจะอยู่อย่างไร ต้องหากินกับทั้งมาเลเซียและไทย เขตปกครองพิเศษจึงน่าจะดีกว่า ส่วนพวกรุ่นใหม่ๆ ยังเชื่อว่าแยกได้ ก็เลยขัดแย้งทางความคิดกัน
แต่เรื่องรูปแบบหรือโมเดลเขายังไม่ปล่อยเต็มที่ว่าคืออะไร แต่ที่เขาบอกว่าเราไปยึดครองเขา แสดงว่าเขาต้องการจะปกครองตนเอง ในพื้นที่ก็มีการศึกษาไว้ 5-6 รูปแบบ ความยากคือทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศเข้าใจ เพราะกฎหมายต่างๆ สุดท้ายต้องเข้าสภา
@ คุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ) ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ มีโมเดลอะไรในใจ ปกครองพิเศษหรือเปล่า?
ท่านไม่ได้มีโมเดลปกครองพิเศษ แนวทางของท่านคือทำอย่างไรให้อยู่กันอย่างสันติสุข
@ ขั้นตอนหลังจากผ่านพ้นเดือนรอมฎอนจะเป็นอย่างไร?
ก็คุยกันต่อและพัฒนาการไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นตอนการหยุดยิง ซึ่งตรงนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ผู้ถืออาวุธหรือตัวแทนของผู้ถืออาวุธต้องมาเจอกัน มันไม่ใช่เรื่องง่าย ผมเคยคุยกับฟิลิปปินส์ เขาบอกว่าขั้นตอนนี้ยากมาก โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาของฝ่ายทหารที่ต้องมาเผชิญหน้ากับคนที่ฆ่าลูกน้องเขา แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องชัดเจนว่านโยบายเป็นอย่างนี้ กรณีฟิลิปปินส์เขาใช้เวลา 3 ปีกว่าผู้นำทหาร ตำรวจจะยอม ส่วนของเรา ผมคิดว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยาก โดยเฉพาะฮัสซัน เพราะอาร์เคเคอาจจะบอกว่าคุณไม่ได้มาตายด้วยกันนี่
@ ถึงวันนี้เรารู้หรือยังว่าใครเป็นใครในขบวนการ โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติอยู่ในพื้นที่?
เรารู้ตัวบ้างแล้วว่าในพื้นที่ไหนมีใครบ้าง หมายถึงระดับปฏิบัติการ ทั้งหมดนี้ต้องถือว่าเราโชคดี เปิดหน้ามาแล้วยังไล่ได้ว่าใครเป็นใคร ของประเทศอื่นเขาปิดหน้ากันมาเป็นปีๆ ยากที่จะคุยกันได้เร็วขนาดนี้ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ใช่ตัวจริงหรือเปล่า
@ ปัจจัยของความสำเร็จคืออะไร?
คุณสมบัติของหัวหน้าคณะพูดคุยต้องเหมือนมหาสมุทร คือใจกว้าง เพราะน้ำที่ไหลมารวมกันมีทั้งน้ำดี น้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ต้องยอมรับได้ทุกส่วน ทั้งน้ำดีและน้ำเสีย
@ ความสัมพันธ์กับบีอาร์เอ็นตอนนี้เป็นอย่างไร เชื่อใจกันมากขึ้นหรือยัง?
ก็ดี เขาก็ขอให้อายุยืนๆ กระบวนการสันติภาพจะได้อยู่นานๆ
@ อายุตัวหรืออายุตำแหน่ง...
(หัวเราะ) ทั้งสองอย่าง มาถึงขั้นนี้แล้ว เชื่อว่าฮัสซันไม่หลอกลวง อยู่ที่ว่าเขาสั่งการได้แค่ไหน คุยได้แค่ไหน สถานการณ์ขณะนี้เหมือนขึ้นภูเขา ยืนอยู่บนเนินแล้ว แต่ยังไม่ข้ามภูเขาเท่านั้นเอง