ชำแหละ Hate Speech ในสื่อไทย ยั่วยุ-เหยียดหยาม-ลดความเป็นมนุษย์
เปิดงานวิจัยฯ ชำแหละ Hate Speech ในสื่อไทย พบปม “การเมือง” มากสุด ตามด้วย “ชาติพันธุ์” ส่วนใหญ่เน้นยั่วยุสร้างความเกลียดขัง ยังไม่ถึงขั้นให้ลงไม้ลงมือ
(ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต)
เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2556 ที่โรงแรมมณเฑียร ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานรายงานผลแผนงานวิจัย เรื่อง “การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง”
ผศ.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอผลวิจัยเรื่อง “การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” มีใจความว่า นิยามการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง หรือ hate speech ในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน แต่ในต่างประเทศ ไม่ได้หมายถึงแค่คำพูดอย่างเดียว แต่รวมถึงการแสดงออกทุกรูปแบบ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีกลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคล โดยมุ่งไปที่ฐานของอัตลักษณ์ซึ่งอาจติดตั้งมาแต่ดั้งเดิมหรือภายหลัง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานีที่เกิด/ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ หรือลักษณะอื่นที่สามารถทำให้ถูกแบ่งแยกได้ ซึ่ง hate speech ต้องมีลักษณะของการนำไปสู่ “ความรุนแรง” เช่น ปลุกระดมให้เกลียดใคร ให้ทำร้ายร่างกาย หรือข่มขู่จนผวา เป็นต้น
อาจารย์จุฬาฯ รายนี้ กล่าวว่า เท่าที่ศึกษา hate speech ในพื้นที่ออนไลน์ของไทย 3 รูปแบบ ได้แก่กระดานสนทนาออนไลน์ ในเว็บพันทิปและเว็บเอ็มไทย เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์แบ่งปันคลิปวีดิโอ อย่างเว็บยูทูป เรื่องการใช้ hate speech ในความรุนแรง 4 ระดับ ตั้งแต่ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน สร้างความเข้าใจผิด ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง และกำจัดกลุ่มเป้าหมาย พบว่า กลุ่มเป้าหมายหรือฐานความเกลียดชังของการใช้ hate speech มากที่สุด คือเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง (53.0% ของการใช้ hate speech ในเว็บบอร์ด, 37.6% ของการใช้ในเฟซบุ๊ก และ 75.8% ของการใช้ในยูทูป)
“ส่วนระดับความรุนแรง ส่วนใหญ่จะเป็นการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกล่าวหา กล่าวโทษรุนแรง ประณาม แฉ ว่าร้าย พูดจาดูหมิ่น เหยียดหยาม สบประมาท ทำให้ขบขัน ลดคุณค่า ทำให้ด้อยค่าในสายตาผู้อื่น เยาะเย้ยอย่างรุนแรง สมน้ำหน้า ทับถม ไปจนถึงเปรียบเทียบในลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นไม่ใช่คน” ผศ.พิรงรอง กล่าว
(ภาพตัวอย่างจากงานวิจัย หน้า 39)
ผศ.พิรงรอง กล่าวว่า เวลานี้สื่อออนไลน์ก้าวจากยุค 1.0 ที่แต่ดูได้อย่างเดียว มาสู่ยุค 2.0 คำว่าเว็บมาสเตอร์เริ่มเก่าแล้ว เพราะเนื้อหาในยุค 2.0 จะถูกดูแลโดยผู้ใช้
“การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ ยุค 2.0 จึงแยกย่อยได้เป็น ทั้ง 1.การกำกับดูแลแบบกำกับทีหลัง (ex post regulation) คือต้องมีการร้องเรียนก่อน ผู้ดูแลเว็บถึงจะตรวจสอบได้ เช่นเว็บยูทูป ที่จะเอาบางคลิปออกหลังมีหลักฐานชัดเจนว่าผิดกฎหมายจริงๆ 2.การกำกับดูแลแบบตอบสนองจริงๆ (really really responsive regulation) คือผู้ดูแลเว็บไซต์ตอบสนองทันทีหลังมีการร้องเรียน 3.การกำกับดูแลโดยผู้ใช้ที่เป็นมวลชน (mass user self-regulation) ผู้ใช้เฝ้าระวังกันเอง เช่น เฟซบุ๊กที่ให้รีพอร์ตมาได้หากมีเนื้อหาที่อาจผิดกฎหมายหรือผิดกฎหมาย 4.การกำกับดูแลที่อยู่บนฐานของกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ (self-regulation under national and international law)) และ 5.การกำกับดูแลผ่านการกำหนดภาระรับผิดชอบตัวกลางทางเนื้อหาออนไลน์ (liability of online content intermediaries)” ผศ.พิรงรองกล่าว
ผศ.พิรงรอง กล่าวว่า คณะผู้วิจัยมองว่าการกำกับดูแลการใช้ hate speech ผ่านสื่อออนไลน์ ต้องใช้รูปแบบผสมผสาน เช่น หากเป็นการใช้ hate speech เพื่อโน้มน้าวให้เกลียดชังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง แนวทางกำกับดูแลที่น่าจะมีประโยชน์และประสิทธิภาพก็คือกำกับดูแลผ่านตัวกลาง แต่หากเป็นการใช้ hate speech ที่โน้มน้าวหรือยุยงให้มีการใช้ความรุนแรงต่อเป้าหมาย ก็ควรจะใช้การกำกับดูแลทางกฎหมาย
(ภาพตัวอย่างจากงานวิจัย หน้า 41)
น.ส.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา นำเสนอผลวิจัยเรื่อง “การกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” มีใจความว่า จากการวิเคราะห์เนื้อหาของรายการวิทยุและโทรทัศน์ ทั้งในสื่อกระแสหลัก และสื่อทางเลือกใหม่ อาทิ ทีวีดาวเทียมและวิทยุชุมชน ทั้งรายการข่าวและรายการบันเทิง พบว่าการสื่อสารความเกลียดชัง หรือ hate speech มักจะเกิดจากการแสดงความเห็นต่อท้ายข่าว จากผู้ดำเนินรายการ หรือผู้เล่าข่าว ไม่ใช่จากตัวข่าวเอง นอกจากนี้ยังพบ hate speech ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การปล่อยเสียงสัมภาษณ์แหล่งข่าว และการให้ผู้ฟังโทรศัพท์เข้ามาในรายการ
น.ส.ชนัญสรา กล่าวว่า วัตถุประสงค์การใช้ hate speech ในรายการข่าว มักเป็นการสร้างความเข้าใจผิด และยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย ต่างกับรายการบันเทิงที่ส่วนใหญ่เป็นการสร้างความเข้าใจผิดอย่างเดียว และมักเกี่ยวกับอคติเพื่อเพศสภาพหรือชนชาติ ทั้งนี้พบวัตถุประสงค์เพื่อให้กำจัดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นขั้นรุนแรงที่สุดของการใช้ hate speech ในสื่อทางเลือกใหม่ ส่วนในสื่อกระแสหลักพบอยู่บ้าง จากการแสดงความคิดเห็นของผู้ดำเนินรายการ ส่วนกลุ่มเป้าหมายของการใช้ hate speech ทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกใหม่ มักเป็นลักษณะกลุ่มความคิดทางการเมือง อาทิการใช้คำว่า นปช. พันธมิตร อำมาตย์นิยม ทักษิณนิยม ล้มเจ้า รักเจ้า ฯลฯ ส่วนการเปรียบเทียบให้ไม่เป็นคน เช่น ควายแดง แมลงสาบ พบในสื่อทางเลือกใหม่ มากกว่าสื่อกระแสหลัก
“มีข้อมูลที่น่าสนใจ คือสื่อทางเลือกใหม่ โดยเฉพาะวิทยุชุมชนแบ่งแห่ง มองว่า hate speech เป็นสิ่งจำเป็น ต้องด่าแรงๆ สปอนเซอร์ถึงจะเข้ามากๆ ขณะที่ทีวีดาวเทียมบางช่อง ก็ไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองเป็นสื่อของมวลชน แต่เป็นของกลุ่มตัวเองเท่านั้น” น.ส.ชนัญสรากล่าว
น.ส.ชนัญสรา กล่าวว่า สำหรับการกำกับดูแล hate speech ในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ มีทั้ง 1.การกำกับดูแลตามกฎหมายโดยองค์กรกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เช่น กสทช. แต่กรณีนี้มีความท้าทายคือ มีแนวโน้มว่าจะมีการจำกัดเสรีภาพในการสื่อการได้จ่าย จากการตีความของผู้มีอำนาจ 2.การกำกับดูแลกันเองของสื่อ แต่ก็มีความท้าทาย อาทิ ผู้ประกอบการขาดแรงจูงใจให้ความร่วมมือการกำกับดูแลกันเอง และสื่อบางส่วนเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นรูปแบบที่มีการนำเสนอคือการกำกับดูแลร่วมกัน (co-regulation) คือดูแลกันเองระหว่างองค์กรสื่อกับองค์กรวิชาชีพสื่อ โดยองค์กรกำกับดูแลภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมได้ในระดับหนึ่ง 3.การกำกับดูแลจากสังคม โดยผู้ชมผู้ฟังจะคอยเฝ้าระวังและส่งเรื่องร้องเรียน แต่อุปสรรคของวิธีนี้ก็คือคนในสังคมไม่มีความตื่นตัวในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในฐานะผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังเครื่องมือที่ไม่ใช่การกำกับดูแล เช่น การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ การส่งเสริมบรรทัดฐานของสังคม การส่งเสริมพื้นที่สาธารณะเพื่อการจัดการความขัดแย้ง ฯลฯ เป็นต้น
น.ส.ชนัญสรา กล่าวว่า คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ประกอบด้วยข้อเสนอต่อ กสทช. เช่นให้แก้ประกาศกำกับดูแลเนื้อหารายการทีวีวิทยุ ให้ควบคุม hate speech ในระดับที่โน้มน้าวให้กระทำความรุนแรงต่อกลุ่มเป้าหมาย ให้ใช้มาตรา 37 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ โดยพิจารณาจากเนื้อหา บริบทแวดล้อม และอันตรายจากความรุนแรงโดยพลัน ฯลฯ ข้อเสนอต่อองค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ เช่น เร่งพัฒนามาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ จัดให้มีการเรียนรู้เรื่องผลกระทบที่เกิดจากการใช้ hate speech เป็นต้น
(ภาพตัวอย่างจากงานวิจัย หน้า 81)
และ ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นำเผยผลวิจัยเรื่อง “การกำกับดูแลสื่อสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” มีใจความว่า จากการศึกษาและวิเคราะห์สื่อสิ่งพิมพ์รายวัน สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทวารสารรายสัปดาห์ สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสาร รวม 7 ฉบับ ในช่วง 1 ปีก่อนและหลังการเลือกตั้งปี 2554 รวมถึงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลใน กทม. จ.สมุทรสาคร และ จ.อุบลราชธานี พบว่า การใช้ hate speech ในสื่อสิ่งพิมพ์รายวันค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่จะเป็นภาพการ์ตูนการเมืองหรือภาพหน้าปกที่มีการตัดต่อ อันมีแนวโน้มของการเสียดสีหรือสร้างความขบขันต่อกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ถูก hate speech โจมตีมากที่สุดในสื่อสิ่งพิมพ์ คือกลุ่มที่มีความแตกต่างทางอุดมการณ์และขั้วอำนาจการเมือง และยังมีการเสนอ hate speech ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจในประเด็นเรื่องชนชาติ ชาติพันธุ์ รวมถึงเพศสภาพและเพศวิถีด้วย โดยระดับความรุนแรงส่วนใหญ่ มักเป็นการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย
“hate speech ของการแบ่งเป็นสองขั้วทางการเมือง มักมีการใส่อารมณ์ของความรัก ความเกลียดชัง อยู่เหนือเหตุผลในการถกเถียง โดยคณะผู้วิจัยพบว่ามีการ “ปั้น” หรือ “อุปโลกน์” คนที่เป็นตัวแทนฝั่งตนในรูปแบบของการเป็น “วีรบุรุษ” ซึ่งช่วยยึดโยงคนในกลุ่มตนให้มีศรัทธาร่วมกัน และหาก “วีรบุรุษ” ถูกล่วงละเมิดโดยฝ่ายตรงข้าม ก็จะสามารถปลุกเร้าความเกลียดชังให้เกิดขึ้นกับฝ่ายตรงข้าม จนอาจพัฒนาไปสู่การกระทำ hate crime” ผศ.พิจิตรากล่าว
ผศ.พิจิตรา กล่าวว่า ส่วนผลจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ใน 3 จังหวัดด้วยการสทนากลุ่ม (focus group) เพื่อคุยกับคนที่อยู่ท่ามกลางภาวะแบ่งเขาแบ่งเรา และ/หรือไม่ได้รับผลกระทบจาก hate speech ภายใต้บริบทของสังคมไทย พบว่ามีความผันผวนตามสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และบริบทของสังคม อย่าง จ.อุบลราชธานี นอกจากเรื่องการเมือง ก็ยังมีเรื่องชาติพันธุ์/เชื้อชาติ (ลาว) ที่ยังเป็นประเด็นอ่อนไหว ส่วน จ.สมุทรสาคร ที่มีแรงงานต่างถิ่น (พม่า) อาศัยอยู่มาก เรื่อง เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ กลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหวสูงกว่าการเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อให้ทำแบบสอบถามเรื่องปฏิกิริยาต่อ hate speech พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับ hate speech และน้อยมากที่ระบุว่า hate speech กระตุ้นให้เกิด hate crime คือไล่ล่าและปฏิเสธการอยู่ร่วมมือกัน
อาจารย์จุฬาฯ รายนี้ยังกล่าวว่า สำหรับกลไกการกำกับดูแล คณะผู้วิจัยพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศ จะใช้วิธีกำกับดูแลตนเอง (self-regulation) โดยใน 4 ประเทศที่ศึกษา ได้แก่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ไมมี่กลไกของรัฐในการเข้ามาแทรกแซงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สำหรับไทยพบว่า กลไกการกำกับดูแลตนเองไม่มีประสิทธิภาพ และมีจุดอ่อนในการลงโทษและบังคับใช้จรรยาบรรณร่วมกันของสมาชิก เพราะการเข้าร่วมกับองค์กรวิชาชีพยังเป็นลักษณะการสมัครใจ
“จึงสมควรปฏิรูปโดยเริ่มจากบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ทำสัตยาบันร่วมกันในเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ พร้อมกำหนดให้ทุกบริษัทเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรกำกับดูแลตนเอง และต้องดึงภาคส่วนต่างๆ มามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเนื้อหา hate speech โดยเฉพาะกลุ่มทุนผู้สนับสนุนกิจการสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านั้น ขณะที่องค์กรกำกับดูแลควรมีการตั้งวอร์รูมวิเคราะห์เนื้อหาที่สุ่มเสี่ยง hate speech เพี่อเฝ้าระวังไม่ให้ hate speech นำไปสู่ hate crime ในที่สุด“ ผศ.พิจิตรากล่าว.