สวก.โชว์วิจัย ‘คลื่นวิทยุกำจัดมอดในข้าวสาร’ แทนใช้ฟอสฟีน-โบร์ไมด์รมควัน
วช.-สวก.แจกทุนวิจัยข้าว 190 ล้าน ให้ 67 โครงการ หวังพัฒนาสายพันธุ์ ยกระดับชั้นราคา ‘ดร.พีรเดช ทองอำไพ’ โชว์วิจัยตัวอย่าง ‘คลื่นวิทยุกำจัดมอดในข้าวสาร’ ทางเลือกลดใช้สารเคมีรมควันข้าว
วันที่ 26 ก.ค. 2556 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) จัด ‘ลงนามสัญญาและรับฟังคำชี้แจงการรับทุนวิจัยเรื่องข้าว ภายใต้แผนงานวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วน ประจำปี 2556’ ณ อาคาร วช. 1
นางกาญจนา ปานข่อยงาม รองเลขาธิการ วช. กล่าวว่า วช.ได้รับงบประมาณในการพัฒนางานวิจัยด้านข้าวมาตั้งแต่ปี 2555 โดยได้จัดสรรให้แก่นักวิจัยใน 60 โครงการ เป็นเงิน 228 ล้านบาท และในปี 2556 ได้รับงบประมาณ 190 ล้านบาท จัดสรรแก่นักวิจัยใน 67 โครงการ จากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่สำคัญในปี 2557 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณให้อีก 200 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยด้านข้าวอย่างต่อเนื่อง
"การพัฒนางานวิจัยดังกล่าวจะต้องตอบโจทย์ให้แก่ผู้ต้องการใช้ประโยชน์อย่างเกษตรกรและภาคเอกชนได้ เช่น การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่สร้างรายได้เข้าไทยอันดับต้น ๆ นั้น อนาคตมุ่งหวังให้เกิดการจัดอันดับชั้นข้าว โดยเฉพาะข้าวคุณภาพดีจะต้องมีราคาสูงและทำให้ผู้บริโภคยินดีที่จะซื้อ ขณะที่ข้าวทั่วไปจะต้องมีการจัดสรรราคาที่เหมาะสมต่อไป"
ด้านดร.พีรเดช ทองอำไพ ผอ.สวก. กล่าวว่า ปี 2555 ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยใน 5 กลุ่ม ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว แต่หากมองเฉพาะการวิจัยด้านข้าว จะเห็นว่ามีหลายโครงการที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้น คือ ‘โครงการใช้คลื่นวิทยุฆ่ามอดแมลงในข้าวสาร’ ของอาจารย์จากม.เชียงใหม่ (มช.) และ ม.เทคโนโลยีสุรนารี
"คลื่นวิทยุจะสร้างความร้อนและฆ่ามอดแมลงในที่สุด ถือเป็นทางเลือกหนึ่งโดยไม่ต้องกังวลเรื่องสารรมควันอันตรายตกค้างในข้าวสาร แต่ยังต้องพัฒนาต่อไป อย่างไรก็ดี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ต่อยอดโครงการดังกล่าวจัดตั้งเป็นแบบอย่างไว้ที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. แล้ว"
ผอ.สวก. กล่าวถึงการพัฒนางานวิจัยสายพันธุ์ข้าวจะมุ่งนำสารที่อยู่ในข้าวสีต่าง ๆ มาพัฒนาเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าเป็นยาและเครื่องสำอาง นอกเหนือจากการเป็นอาหารสร้างเสริมสุขภาพและสีเป็นข้าวสารอย่างเดียว ซึ่งจะเติบโตในตลาดโลกอนาคตได้ดี
ส่วนกระแสข่าวการโจมตีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเปรียบเทียบกับโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาลชุดก่อนนั้น ดร.พีรเดช มีข้อเสนอให้มีนักวิจัยลุกขึ้นมาศึกษาข้อเท็จจริงอย่างเป็นรูปธรรม แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นใครกล้าวิจัยโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการที่เข้ารับทุนวิจัยมี 22 หน่วยงาน แต่มีเพียง 14 หน่วยงานที่ร่วมลงนามสัญญาครั้งนี้ ได้แก่ ม.เกษตรศาสตร์ (มก.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.ขอนแก่น, ม.เชียงใหม่, ม.มหิดล, ม.แม่โจ้, ม.แม่ฟ้าหลวง, ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มรภ.สุรินทร์, ม.อุบลราชธานี, ม.สุโขทัยธรรมาธิราช, ม.ทักษิณ, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
โดยโครงการวิจัยทั้ง 67 โครงการนั้น แบ่งเป็น ยุทธศาสตร์ด้านพันธุ์ข้าว ยุทธศาสตร์ด้านการผลิต ยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีหลักการเก็บเกี่ยวและโลจิสติกส์ ยุทธศาสตร์ด้านการแปรรูป และยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและสังคม .