ประชาสังคมผนึกกำลังตั้ง “สภาเครือข่ายการเมืองพลเมือง” ขายนโยบายก่อนเลือกตั้ง
สพม. ประสาน 7 เครือข่ายประชาสังคมจับมือ ตั้งสภาเครือข่ายการเมืองภาคพลเมือง ระดมข้อเสนอสู่เวทีเลือกตั้ง คนพิการ-ด้อยโอกาสเสนอจัดตั้งกองทุนให้บริหารจัดการเอง ด้านพลังงานขายไอเดียตั้งโรงไฟฟ้าพลังสะอาดให้ชุมชนเป็นเจ้าของ
สืบเนื่องจาก คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ได้ดำเนินการประสานภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในสถานการณ์การเลือกตั้ง โดยจัดตั้งเป็นคณะทำงานในนาม “สภาเครือข่ายการเมืองภาคพลเมือง” ทำหน้าที่นำข้อเสนอนโยบายสู่เวทีการเลือกตั้ง ชูประเด็นความเสมอภาคและเป็นธรรม ครอบคลุมใน 7 ประเด็นย่อย ได้แก่ การ เมืองภาคพลเมือง การเลือกตั้ง และธรรมาภิบาล, แรงงาน, คนพิการและผู้ด้อยโอกาส, พลังงาน, การศึกษา เยาวชน และสตรี, สวัสดิการ และสื่อ
วันที่ 1 มิ.ย. 54 ที่ สพม. สภาเครือข่ายการเมืองภาคพลเมือง ได้จัดประชุมคณะทำงานเพื่อสรุปข้อเสนอและหารือแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายภาคประชาสังคม 7 กลุ่มสู่เวทีการเลือกตั้ง โดย พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี คณะกรรมการภาคประชาสังคม สพม. ใน ฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า จากเวทีประสานภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ผ่านมา ขณะนี้ได้คณะทำงานที่จะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสู่เวทีการเลือกตั้งเรียบ ร้อยแล้ว โดยหลังจากวันนี้จะตกผลึกประเด็นทั้งหมดเพื่อทำประเด็นร่วมนำแสนอพรรคการ เมืองในนาม สภาเครือข่ายการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ภาคประชาสังคมจะได้ร่วมคิดร่วมผลักดันร่วม กัน
ทั้งนี้ แต่ละเครือข่ายมีข้อเสนอหลัก ได้แก่ 1.ประเด็นการเมืองภาคพลเมือง การเลือกตั้ง และธรรมาภิบาล เสนอให้ นักการเมืองต้องทำการเมืองโปร่งใส กระจายอำนาจอย่างเป็นธรรม โดยเครือข่ายจะแสดงบทบาทรณรงค์ ไม่ปล่อยให้การเมืองมีลักษณะขายเสียง ซื้อนักการเมืองซื้อใจเหมือนขายชาติ 2.ประเด็น แรงงาน เสนอว่า รัฐต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของแรงงาน ไม่ ว่าจะเป็นข้อติดขัดทางกฎหมาย การส่งเสริมการรวมตัวของคนงาน การให้ค่าจ้างที่เป็นธรรมและคุ้มค่าโดยไม่เลือกปฏิบัติ ที่สำคัญต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง ให้แรงงานมีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ที่ตนทำงานอยู่ ซึ่งจะเป็นการป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงด้วย
3.ประเด็นคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ให้พรรคการเมืองมีนโยบายจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อคนพิการและคนด้อยโอกาส ทั่วประเทศ โดยมีคนพิการและผู้ด้อยโอกาสทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนเอง เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในสภาวะแบมือรับจากรัฐอย่างเดียว และสิ่งที่รัฐมอบให้ก็ไม่ทั่วถึง 4.ประเด็นพลังงาน เสนอให้รัฐสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ชุมชนเป็นเจ้าของโดยการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น ลม หรือแสงอาทิตย์ ให้ชุมชนบริหารจัดการ และรัฐรับซื้อพลังงานดังกล่าวเพื่อคืนรายได้ให้ชุมชน 5.ประเด็นการศึกษา เยาวชน และสตรี เสนอให้มีการจัดการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน พร้อมกับพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในทุกระดับอย่างเท่าเทียม รวมถึงส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศ ให้มีส่วนร่วมกับทุกมิติการพัฒนาของสังคม
6.ประเด็นสื่อ เสนอว่า ให้มีการจัดสรรสื่ออย่างเป็นธรรม และให้ประชาชนเข้าถึงสื่อได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาสื่อที่มีอยู่ตามกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ให้ใช้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นเครื่องมือ และ 7.ประเด็นสวัสดิการ เสนอให้รัฐต้องส่งเสริมการจัดสังคมสวัสดิการ โดยมีนโยบายสนับสนุนสวัสดิการชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
พท.พญ. กมลพรรณ กล่าว ด้วยว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนต่อไป เบื้องต้นสภาการเมืองภาคพลเมืองจะเปิดเวทีใหญ่ เชิญนักการเมืองมาร่วมรับฟังนโยบายดังกล่าว และจะประกาศจุดยืนการทำงานของภาคประชาสังคมทั้ง 7 เครือข่าย และจะมีการติดตามกระบวนงานอย่างต่อเนื่อง แม้เวทีการเลือกตั้งจบลง พร้อมกับขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้น