ยื่นหนังสือ บ.โอสถสภาฯ ขอหยุดดึง นศ.แพทย์ไปเป็นพรีเซนเตอร์ “เปปทีน”
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์ฯ เตรียมยื่นหนังสือถึงประธาน บ.โอสถสภา วันที่ 26 ก.ค.นี้ ขอหยุดดึง นศ.คณะหมอไปเป็นพรีเซ็นเตอร์เครื่องดื่ม “เปปทีน” ชี้อาจขัดจรรยาบรรณ
สืบเนื่องจากกรณีที่มีการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ เรื่องความเหมาะสมกรณีที่มีนิสิตนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์มาเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาให้กับเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่ง “เปปทีน” มาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ล่าสุด “สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี (สพท.)” นำโดยนายสกล เจริญวีรกุล นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนายก สพท. เตรียมเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท โอสถสภา จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม “เปปทีน” ในวันที่ 26 ก.ค.2556 เวลา 10.00 น. ที่บริษัทโอสถสภาฯ เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ละเว้นการนำนิสิตนักศึกษาแพทย์ รวมถึงนักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์ มารับหน้าที่ตัวแทนโฆษณา เพราะก่อให้เกิดภายลักษณะที่ไม่เหมาะสม
นายสกล กล่าวกับ “สำนักข่าวอิศรา” ว่า การที่นิสิตนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับเครื่องดื่ม “เปปทีน” ขัดกับจรรยาบรรณนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทย ข้อ 1.6 ที่ระบุว่า “ละเว้นการรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใดๆ ที่มีความเกี่ยวข้องหรืออาจมีผลกระทบที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือนำไปสู่ความไม่เหมาะสมต่อความเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์ องค์กรนิสิตนักศึกษาแพทย์ สถาบันแพทย์ และต่อวิชาชีพเวชกรรมหรือจรรยาแพทย์”
“แม้การเป็นพรีเซ็นเตอร์จะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ สพท.ไม่อาจก้าวก่าย แต่ในฐานะของผู้ที่ประกอบวิชาชีพแพทย์ในอนาคตก็ควรจะนึกถึงหลักจรรยาบรรณวิชาชีพด้วย ซึ่งเท่าที่ได้คุยกับนิสิตนักศึกษาแพทย์ที่ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์เครื่องดื่มดังกล่าว ทำให้ทราบว่าหลายคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะตอนที่บริษัทโอสถสภาฯ ติดต่อมา เป็นช่วงที่เพิ่งทราบผลสอบว่าติดคณะแพทย์ศาสตร์ ยังไม่ผ่านการรับรองเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์อย่างเป็นทางการ ในทางหลักการจึงยังไม่ถือว่าก้าวเข้าสู่การเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์เต็มตัว” นายสกลกล่าว
ด้าน น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ให้ความเห็นว่า แม้เรื่องดังกล่าวแพทยสภาจะไม่มีอำนาจเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่พวกเราก็มีความกังวลต่อผลกระทบที่จะตามมา ทั้งกับตัวนิสิตนักศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์เหล่านั้น รวมถึงต่อวิชาชีพแพทย์ จึงเคยทำหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า เครื่องดื่ม “เปปทีน” ของบริษัท โอสถสภาฯ เคยถูกสำนักงาน อย.ดำเนินการเปรียบเทียบปรับอย่างน้อย 5 ครั้ง เนื่องจากไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ในความผิดฐานโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารเพื่อประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน อย. ทั้งนี้ ตามเอกสารประชาสัมพันธ์ซึ่งปรากฏในเว็บไซต์ของสำนักงาน อย. (www.fda.moph.go.th) ดังนี้
-ผลการดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหาร ฉบับที่ 24/ปีงบประมาณ 2551 (เปรียบเทียบปรับบริษัท โอสถสภาฯ เป็นเงิน 2,000 บาท ลงวันที่ 18 มิ.ย.2551)
-ผลการดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหาร ฉบับที่ 29/ปีงบประมาณ 2552 (เปรียบเทียบปรับบริษัท โอสถสภาฯ เป็นเงิน 2,000 บาท ลงวันที่ 27 ม.ค.2552)
-ผลการดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหาร ฉบับที่ 46/ปีงบประมาณ 2553 (เปรียบเทียบปรับบริษัท โอสถสภาฯ เป็นเงิน 8,000 บาท ลงวันที่ 12 มี.ค.2553)
-ผลการดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหาร ฉบับที่ 28/ปีงบประมาณ 2555 (เปรียบเทียบปรับบริษัท โอสถสภาฯ เป็นเงิน 40,000 บาท ลงวันที่ 14 ก.ย.2554)
-ผลการดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหาร ฉบับที่ 111/ปีงบประมาณ 2555 (เปรียบเทียบปรับบริษัท โอสถสภาฯ เป็นเงิน 10,000 บาท ลงวันที่ 16 พ.ค.2555).