ยะโก๊ป หร่ายมณี...คุยกันเรื่องสันติภาพ ศีลอด และรอมฎอน
รอมฎอนถือเป็นเดือนแห่งบุญของพี่น้องมุสลิม แต่รอมฎอนปีนี้พิเศษกว่าปีไหนๆ สำหรับผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในห้วง 1 ทศวรรษหลังที่เกิดเหตุร้ายรายวันขึ้น เนื่องจากเป็นปีที่รัฐบาลไทยจับมือกับกลุ่มบีอาร์เอ็นประกาศช่วยกันยุติเหตุรุนแรงทุกชนิดในช่วงเดือนรอมฎอนและ 10 วันแรกของเดือนเซาวัล รวมเวลา 40 วัน
ด้วยเหตุนี้จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาร่วมกันทบทวนหลักการของรอมฎอน การถือศีลอด การละหมาดตะรอเวียะห์ และอนาคตของกระบวนการสันติภาพ โดยการพูดคุยกับผู้นำศาสนาซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในพื้นที่อย่าง นายยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
@ รอมฎอนคืออะไร?
รอมฎอน คือเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "เดือนบวช" เป็นเดือนที่พระเจ้าทรงประทานความโปรดปราน ทรงอภัยโทษ สิ่งสำคัญที่สุดคือประตูนรกจะถูกปิด แต่ประตูสวรรค์จะเปิดอย่างกว้างขวาง และซาตานตัวมารร้ายจะถูกล่ามโซ่ ใครทำความดีในเดือนรอมฎอนก็จะได้รับผลตอบแทนมากมาย ขณะเดียวกันคนที่ทำความชั่วในเดือนรอมฎอนก็จะถูกลงโทษสาหัส
@ วัตถุประสงค์ของเดือนรอมฎอน?
เพื่อเพิ่มความยำเกรงพระเจ้าให้มากขึ้น ต้องการให้เราทำทานมากขึ้น รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคัมภีร์อัลกุรอานให้มากยิ่งขึ้น
@ กิจกรรมหลักของเดือนรอมฏอน?
มุสลิมจะต้องอดอาหารเพื่อจะได้รู้สึกถึงคนที่ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม เช่น คนยากจน เป็นต้น และเดือนนี้ยังเป็นเดือนที่อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมาเป็นทางนำแก่มนุษย์ มุสลิมจึงต้องอ่านอัลกุรอานเพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่าการเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าเป็นอย่างไร และจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง
กิจกรรมพิเศษของมุสลิมคือการละหมาดตะรอเวียะห์ในยามค่ำของเดือนนี้ ฉะนั้นเดือนรอมฎอนจึงเป็นเดือนแห่งความดี เป็นเดือนสิริมงคล เรียกได้ว่ารอมฏอนเป็นเดือนแห่งการอบรมจิตใจนั่นเอง นี่คือปัจจัยหลักของเดือนรอมฎอน
@ การถือศีลอดคืออะไร?
การถือศีลอดคือการที่มุสลิมงดเว้นจากการรับประทาน การดื่ม การสูบบุหรี่ จะไม่มีสารใดๆ ถูกนำเข้าสู่ร่างกายที่ถือเป็นการหล่อเลี้ยงร่างกาย รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ด้วย การถือศีลอดยังรวมถึงการงดเว้นจากเจตนาร้ายและอดทนต่อสิ่งรอบตัว ไม่ขโมย ไม่เข้าสู่สถานอบายมุขต่างๆ ไม่ดูสิ่งลามก ไม่ฟังสิ่งไร้สาระ และไม่นินทาว่าร้ายคนอื่น ทุกอย่างนี้ต้องหยุดทำหมดในช่วงการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
@ ระยะเวลาในการถือศีลอด?
เริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณไปจนถึงอาทิตย์ตก ทุกวันในเดือนรอมฎอน วันละ 13 ชั่วโมง
@ ใครที่ต้องถือศีลอดบ้าง?
การถือศีลอดเป็นข้อบังคับสำหรับมุสลิมทุกคน ทั้งชายและหญิงที่ถึงวัยบรรลุศาสนภาวะแล้ว
@ บุคคลที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอนมีหรือไม่?
มีคนเจ็บป่วย คนชรา หญิงที่มีประจำเดือน หญิงที่ตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร ผู้เดินทางไกล แต่หากคนเหล่านี้มีความสามารถก็ถือได้ หญิงที่ตั้งครรภ์และที่ให้นมบุตร กับคนที่ไม่มีความสามารถที่จะถือศีลอดนั้นต้องจ่ายเป็นทานแทน โดยจ่ายทานเป็นข้าวสารวันละ 1 ลิตร ส่วนคนเจ็บป่วยและสตรีที่มีประจำเดือน ให้ถือศีลอดชดใช้ภายหลังให้ครบหลังจากเดือนรอมฎอนผ่านพ้นไปแล้ว ตั้งแต่แสงพระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า จนแสงพระอาทิตย์เริ่มตกดิน
@ หลักการสำคัญของรอมฎอนคืออะไร?
รอมฎอนประกอบด้วยหลัก 3 ประการ คือ การอภัยโทษ การทำทาน และการถือศีลอด ดังเช่นที่ระบุไว้ว่า "ผู้ใดก็ตามดำรงไว้ซึ่งการละหมาดยามค่ำคืนของเดือนรอมฎอนด้วยความมุ่งมั่น พระเจ้าจะตอบแทนด้วยการอภัยโทษในบาปกรรมต่างๆ ที่ทำมาจากอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน" หรือ "ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนด้วยใจที่มุ่งมั่น และหวังการโปรดปรานจากพระองค์แล้ว คนๆ นั้นจะได้รับการอภัยโทษอย่างไม่มีเงื่อนไข" นี่เป็นเกณฑ์หลักของเดือนรอมฎอน เป็นเดือนอภัยทานอย่างชัดเจน
แต่รอมฎอนไม่ได้มีเฉพาะ 3 หลักการที่ว่าเท่านั้น เพราะยังเป็นองค์รวมทั้งหมดแห่งความดี เป็นนายของเดือนทั้งหลายของ 11 เดือนที่เหลือ และเป็นเดือนที่พระเจ้าทรงประทานพระมหาคำภีร์อัลกุรอานเพื่อเป็นทางนำและจำแนกแยกแยะความจริงกับความเท็จ การทำความดีที่ประเสริฐที่สุดก็คือการถือศีลอด การละหมาดตะรอเวียะห์ซึ่งไม่มีในเดือนอื่น มีเฉพาะเดือนรอมฎอน
@ เดือนรอมฎอนมีความสำคัญกับพี่น้องมุสลิมอย่างไร?
เป็นเดือนที่ให้โอกาส อัลลอฮ์ให้การ์ดทองกับมุสลิมทุกคน เหมือนเราไปซื้อของที่บิ๊กซี (ห้างค้าปลีกชื่อดัง) เรามีการ์ดทอง จากปกติ 100 บาท เราได้สิทธิลดราคาเหลือ 50 บาท แต่การ์ดทองของอัลลอฮ์ จากหนึ่งได้ร้อย
รอมฎอนมีมาตลอด 1,400 กว่าปี แต่ชีวิตของมนุษย์นั้นไม่จีรัง พวกเราอย่างมากก็ 60-70 ปี เพราะฉะนั้นรอมฎอนมาทุกปี แต่เราจะอยู่ถึงรอมฎอนปีหน้าหรือเปล่ายังไม่มีใครรู้ ทางที่ดีที่สุดก็คือให้ทำความดีให้มากที่สุดในช่วงเดือนรอมฎอน
@ ความสำคัญของการละหมาดตะรอเวียะห์ในเดือนรอมฎอน?
การละหมาดตะรอเวียะห์แต่ละค่ำคืนจะได้ผลบุญแตกต่างกันไป สมมติค่ำคืนที่ 1 ผู้ละหมาดจะไม่มีบาปเหมือนกับตอนที่เขาคลอดจากท้องมารดาใหม่ๆ หรือค่ำคืนที่ 5 ได้รับผลบุญเท่ากับผู้ที่ได้ไปละหมาดที่มัสยิดฮะรอม มัสยิดนะบะวีย์ (ประเทศซาอุดิอาระเบีย) มัสยิดอัลอักซอ (กรุงเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล) เทียบเท่า 1 แสนรอกาอัต (ละหมาดที่มัสยิดทั่วไปได้ 1 รอกาอัต ละหมาดที่มัสยิดฮะรอมได้ผลบุญ 1 แสนรอกาอัต) เป็นต้น
@ เดือนรอมฎอนมีคุณค่าและความประเสริฐอย่างไร?
อัลลอฮ์จะทรงชำระล้างความผิดบาปทั้งหลายของบรรดาผู้ศรัทธาและจะทรงอภัยโทษมันแก่พวกเขา ใครก็ตามที่ใช้ชีวิตในเดือนรอมฎอน และเดือนรอมฎอนผ่านพ้นไปโดยที่เขาไม่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองและไม่สามารถแสวงหาการอภัยโทษจากอัลลอฮ์ได้ ถือว่าเขาคือผู้ที่อัปยศและอับโชคที่สุด
เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งจากเป้าหมายของเดือนรอมฎอนและการกำหนดการถือศีลอดตลอดจนการทำความดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอด การบริจาคทาน การอ่านอัลกุรอานนั้น อัลลอฮ์จะทรงเปิดโอกาสให้ปวงบ่าวของพระองค์แก้ไขปรับปรุง ขัดเกลาตนเอง และกระทำการกลับเนื้อกลับตัว นอกจากนี้ยังมีคืนลัยละตุลก็อดร์ คือการทำความดีหากไปบรรจบกับคืนนี้ จะได้รับผลบุญเทียบเท่ากับ 83 ปีกับอีก 4 เดือน
@ อีฎิลฟิตรี หรือวันอีดของพี่น้องมุสลิมคืออะไร?
เทศกาลที่เรียกว่า อีฎิลฟิตรี คือวันแห่งการขอบคุณและฉลองอย่างมีความสุขเมื่อเดือนรอมฎอนสิ้นสุดลง ในวันนั้นชาวมุสลิมจะทำละหมาดพิเศษร่วมกันเพื่อขอบคุณอัลลอฮ์สำหรับความโปรดปรานและความเมตตาของพระองค์
@ รอมฎอนกับการเจรจาสันติภาพ การหยุดความรุนแรง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีหรือไม่?
ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกฝ่ายจะสงบ แต่ตามหลักของศาสนาอิสลาม ใครก็ตามที่เป็นอิสลามแล้ว ด้วยจิตสำนึกและวิญญาณความเป็นมุสลิมเต็มร้อย ต้องหยุดหมดโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องไปต่อรอง เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่พระเจ้าทรงให้ความโปรดปรานกับมนุษย์ ผมพูดตามหลักศาสนา แต่ใครจะไปพูดคุยให้เกิดความสงบสุขก็เป็นการดี แต่ด้วยจิตสำนึกความเป็นอิสลามที่แท้จริงเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่าลืมว่าเดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งความประเสริฐ เป็นเดือนที่ทำความดี ฉะนั้นเรื่องที่ไม่ดีก็ไม่ต้องไปทำ การคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพในเดือนรอมฎอนถือเป็นเรื่องดี ขอสนับสนุนให้เกิดการพูดคุย
@ มีความเห็นอย่างไรบ้างกับข้อเรียกร้องแต่ละข้อของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ และรัฐเองควรมีท่าทีอย่างไรเพื่อนำไปสู่การพูดคุยและสันติสุข?
จริงๆ ในส่วนของรัฐเอง ผมว่าน่าจะเอาคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงไปคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ประเภทต่อรองกันได้แล้วจบ ไม่ใช่พูดเสร็จแล้วกลับมาถามพี่น้องประชาชนอีก แต่ทุกอย่างต้องจบบนโต๊ะ ถือเป็นการให้เกียติรซึ่งกันและกัน
ข้อเสนอบางข้อ (เงื่อนไขแลกยุติเหตุรุนแรงของบีอาร์เอ็น มี 7-8 ข้อ) อย่างกรณีให้อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) กระทำละหมาด คนเหล่านี้ก็ละหมาดเป็นปกติอยู่แล้ว หรือไม่ให้ขายเหล้า ถ้ามุสลิมขายเหล้าก็หะรอมอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่ใช่มุสลิมกระทำได้ เนื่องจากเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย คนพุทธห้ามขายหมูมันไม่ใช่ เราต้องเข้าใจว่าอัตลักษณ์ของศาสนาเป็นอย่างไร ศาสนาของเขาก็ของเขา ของเราก็ของเรา ในเรื่องวิถีชีวิต สังคม เราอยู่ร่วมกันได้ อันไหนที่ทำได้ก็ทำ อันไหนที่ขัดกับระบบอิสลามกำหนดก็มาว่ากันไป
@ อิหม่ามเห็นด้วยกับการเจรจาหรือไม่?
เห็นด้วย นั่นคือการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ศาสนาอิสลามเน้นย้ำเรื่องการพูดคุย ตักเตือนซึ่งกันและกัน ศาสดามูฮำหมัดไม่เคยไปรุกรานใคร การใช้กำลังถือเป็นเรื่องสุดท้าย ผมจึงบอกว่าไปศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามให้ดี อิสลามสอนอะไรกับเรา
@ คิดว่าบีอาร์เอ็นสามารถคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้จริงหรือไม่?
ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายมิติ และมีหลายกลุ่มเกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มอาร์เคเค เป็นต้น ถามว่าคนที่มีผลประโยชน์แต่ไม่มีอักษรย่อ พวกเรารู้จักหรือไม่ เขาจะยอมหรือเปล่าในเมื่อมีผลตอบแทนมหาศาล บางครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐก็เข้าไปมีส่วนเสียเอง ตราบใดที่น้ำข้างบนขุ่น สกปรก กรองมากี่ชั้น เมื่อลงมาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงขุ่นอยู่วันยังค่ำ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ยะโก๊ป หร่ายมณี กับมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีที่ตระหง่านอยู่ด้านหลัง