‘พลาย ภิรมย์’ วิพากษ์โครงการเหมืองแร่ตะกั่ว-สังกะสี รอบทุ่งใหญ่นเรศวร
"การทำเหมืองตะกั่วอย่างไม่รับผิดชอบ ต้องแลกไปกับการสูญเสียถาวรของแหล่งต้นต้นชั้นดี แหล่งอาหาร วิถีชีวิตและสุขภาพของชุมชน ซึ่งไม่สามารถประมาณค่าได้ และนี่คือ 'ต้นทุนที่แท้จริง' ของการทำเหมืองตะกั่ว"...
พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เเสดงความเห็นต่อประเด็นการผลักดันให้มีการทำเหมืองตะกั่ว- สังกะสี ในจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณ รอบผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรว่า...
ตลอดนับสิบปีที่ผ่านมา เหมืองตะกั่วคลิตี้ได้สร้างบทเรียนที่สำคัญให้กับสังคมไทยถึงภัยจากการทำเหมืองตะกั่วและความหละหลวมในมาตรการการควบคุมมลพิษ และการต้องสูญเสียทรัพยากรส่วนรวมไปให้กับกลุ่มทุนโดยที่สังคมส่วนรวมแทบไม่ได้อะไรกลับมา
ปัจจุบัน ปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงจากการทำเหมืองตะกั่วคลิตี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งความล่าช้าในการดำเนินการแก้ไขของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ผู้ก่อมลพิษทิ้งความรับผิดชอบ สถานการณ์การแพร่กระจายการปนเปื้อนของสารตะกั่วไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ การฟื้นฟูห้วยคลิตี้มียังมีความยากลำบากในเชิงปฏิบัติ เช่น การแพร่กระจายของสารตะกั่วในพื้นที่ที่เข้าถึงลำบาก การสะสมของสารตะกั่ว ระดับการปนเปื้อนที่รุนแรง เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างจำกัด และงบประมาณมหาศาลที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท
การทำเหมืองตะกั่วอย่างไม่รับผิดชอบ ต้องแลกไปกับการสูญเสียถาวรของแหล่งต้นต้นชั้นดี แหล่งอาหาร วิถีชีวิตและสุขภาพของชุมชน ซึ่งไม่สามารถประมาณค่าได้ และนี่คือ 'ต้นทุนที่แท้จริง' ของการทำเหมืองตะกั่ว อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่นำสิ่งนี้มาเป็นบทเรียน ยังคงสมคบคิดกับกลุ่มทุนและนักวิชาการบางกลุ่มในการที่จะพยายามผลักดันให้มีการทำเหมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอันดับต้นของประเทศ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่ป่าชั้นดี แหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ แหล่งอาหาร และแหล่งชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งจะเป็นต้นทุนหรือทรัพยาส่วนรวมที่จะสูญเสียไปหากมีการอนุญาติให้ทำเหมืองตะกั่ว
ข้ออ้างในการทำเหมืองล้วนถูกปั้นโดยนักวิชาการและหน่วยงานรัฐที่มีมุมมองคับแคบ สร้างมายาคติที่ผิดๆ เช่นดังต่อไปนี้
ภาคประชาสังคมตั้งคำถามต่อภาครัฐและเหมืองที่จะมาเปิดใหม่ ดังนี้
- การปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และโดยเฉพาะแหล่งต้นน้ำเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ คุณจะจัดการอย่างไรกับน้ำเสียและกากของเสีย และคุณจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ
- ภาระในการตรวจสอบติดตามผลกระทบ รวมถึงการตรวจสอบระดับสารตะกั่วในดิน ตะกอนดิน แหล่งน้ำ และน้ำใต้ดิน ทั้งก่อนและระหว่างการทำเหมือง เป็นภาระหน้าที่ใคร?
- คุณจะอ้างอีกหรือไม่ว่า สารตะกั่วมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ดังนั้นการทำเหมืองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องรับผิดชอบ
- และหากเกิดการปนเปื้อนสารตะกั่ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ? และมีวิธีใดที่จะทำให้แหล่งน้ำกลับมาเหมือนเดิม? ประชาชนจะมีอะไรเป็นหลักประกัน?
- บริษัทที่จะมาทำเหมืองตะกั่วเป็นบริษัทใด เคยทำเหมืองอย่างรับผิดชอบหรือไม่? ใช้เทคโนโลยีใด? มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร? มีประสบการทำงานมาอย่างไร?
หากไม่สามารถตอบได้ ยืนยันได้ เหมืองตะกั่วใหม่ก็ไม่ควรที่จะมี .