กมธ. ศึกษาฯ เร่งบรรจุวาระด่วน ข้อมูลเหลื่อมล้ำบุคลากรอุดมศึกษารัฐ
ประธาน กมธ. การศึกษาฯ มอบ "ณัฐ บรรทัดฐาน" ประสานงานข้อมูลเชิงลึก บรรจุเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วน หลังรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมารศ.ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายประกอบ รัตนพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร พร้อมตัวแทนศูนย์ประสานงานฯ จำนวนหนึ่ง เพื่อชี้แจ้งข้อมูลความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
นายประกอบ กล่าวว่า ได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นมาพอสมควร และเมื่อคณะผู้แทนอาจารย์มายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้ ถือว่ามีรายละเอียดชัดเจนครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรมมีระยะสั้น ไม่ยาวถึงอายุ 60 ปี การประเมินออกจากงานโดยพิจารณาผลงานนั้น มีทั้งผลดีและผลเสีย เปิดช่องว่างให้คนดีคนเก่งเกินไปอาจถูกกลั่นแกล้งประเมินออกจากระบบไป กระทบถึงศักดิ์ศรีความไม่มั่นคงในอาชีพของพนักงานมหาวิทยาลัยในหลายด้าน รวมถึงเรื่องเงินเดือนเหลื่อมแท่ง 8% ของการปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ยังเหลืออยู่ในระบบ ที่ถือจ่ายบัญชีคนละฐานจากข้าราชการสังกัดอื่น จึงได้มอบหมายให้ ส.ส. ณัฐ บรรทัดฐาน กมธ. การศึกษาฯ ช่วยประสานงานข้อมูลเชิงลึก เพื่อบรรจุเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วน ของ กมธ. การศึกษาต่อไป
ด้านนายณัฐ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่ง เมื่อนโยบายเงินเดือน 15,000 บาทของรัฐบาลส่งผลกระทบต่อการเลือกปฏิบัติแก่พนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยต้องแบกรับภาระในการหาเงินเดือนมาจ่าย ทั้งนี้ภาครัฐควรต้องมีมาตรการช่วยเหลือ นอกจากนี้ความไม่ชัดเจนในนโยบายที่เกิดจากการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ศธ. บ่อย ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งยังไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ครม. 2542 และ 2556 ในเรื่องการจ่ายเงินเดือนที่เป็นธรรมต่ออาจารย์พนักงานมหาวิทยาลัย
ขณะที่นายณัฐปคัลภ์ ญาณมโนวิศิษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวอัตราเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย ในเมื่อมีมติ ครม. ออกมาถึง 2 ครั้ง แล้ว หากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามก็เข้าข่ายผิดวินัยตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงขอให้ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลมหาวิทยาลัย เร่งรัดติดตามในเรื่องนี้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในรายละเอียดในหนังสือ ถึง กมธ. ดังกล่าว มีใจความหลัก เพื่อขอความเป็นธรรม ดังนี้ 1. พนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเกิดขึ้นจากมติ ครม. 2542 ที่ให้จ้างทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน และกลุ่มที่จ้างด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย 2. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ยังเหลืออยู่ในระบบ และ 3. บุคลากรทางการแพทย์ในสถาบันอุดมศึกษา เป็นบุคลากรที่ทำงานด้านสาธารณสุข สังกัดคณะแพทยศาสตร์ของโรงพยาบาลในสถาบันอุดมศึกษา
โดยประเด็นข้อเรียกร้องคือเรื่อง 1. สัญญาจ้างของพนักงานมหาวิทยาลัย 2. การไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 3. การขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พนักงานมหาวิทยาลัย4. การได้รับสิทธิประโยชน์ที่รัฐฯ มอบให้ 5. การเลือกปฏิบัติแก่พนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย 6. สิทธิในการรักษาพยาบาล 7. การย้ายมหาวิทยาลัยการย้ายข้ามวิทยาเขต 8. การขอให้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา9. การบรรจุอัตราข้าราชการแก่บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น