การันตีข้าวถุงปลอดภัย สมาคมฯ ควักจ่าย 20 ล. เจอตายเพราะกินข้าวมีเมทิลโบรไมล์์
สมาคมข้าวถุงฯ ยันความปลอดภัย เล็งส่งข้าวตรวจสอบ ยกระดับคุณภาพ พร้อมจ่าย 20 ล้าน หากกินข้าวมีเมทิลโบรไมล์ตกค้างแล้วตาย ด้าน ก.เกษตรฯ เรียกความเชื่อมั่น ปชช.จับมือ อย.ตรวจเข้มข้าว 10 จังหวัด
วันที่ 24 ก.ค. สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย นำโดยนายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมฯ แถลงเปิดโครงการตรวจสอบและยกระดับความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคข้าวสารบรรจุถุงไทย ณ ห้องจามจุรี บอลรูม ชั้นเอ็ม โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อสินค้าข้าวบรรจุถุงที่ผลิตโดยผู้ประกอบการของสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ภายหลังมีกระแสข่าวที่ทำให้ผู้บริโภคข้าวสารบรรจุถุงมีความสับสน และกังวลเกี่ยวกับสารเมทิลโบรไมล์ตกค้างในข้าวสารบรรจุถุง ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจต่อสินค้าและผู้บริโภค ทางสมาคมฯ ร่วมกับสมาชิกสมาคมทั้ง 128 บริษัท รวมกว่า 800 ยี่ห้อ ที่มีส่วนแบ่งในตลาดข้าวสารบรรจุถุงภายในประเทศรวมกว่า 95% ได้จัดทำ "โครงการตรวจสอบและยกระดับความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคข้าวสารบรรจุถุง" ให้มีมาตรฐานที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัยต่อสุขภาพ
"ระยะเวลาในการดำเนินโครงการตรวจสอบจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 เป็นต้นไป จากนั้นจะมีการประเมินเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุง ใช้ห้องแล็บมาตรฐานสากล ได้แก่ SGS, OMIC และ Central Lab โดยทางสมาคมฯ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตัวอย่างแรกของสมาชิกเพื่อเป็นการนำร่องโครงการ รวมถึงจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สมาคมฯ และจะตรวจสอบสารเมทิลโบรไมล์ในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นจะสุ่มตรวจทุก 3 เดือน"
หากมีกรณีที่ผลตรวจไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทางสมาคมฯ จะประสานและดำเนินการแก้ไขปรับปรุง พร้อมชี้แจงปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อยกระดับคุณภาพข้าวสารบรรจุถุงของสมาชิกสมาคมฯ
อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความมั่นใจในด้านความปลอดภัยมากขึ้น หากผู้บริโภคท่านใดที่รับประทานข้าวสารบรรจุถุงที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ แล้วเกิดเสียชีวิตด้วยสารเมทิลโบรไมล์ ทางสมาคมฯ ยินดีจ่ายค่าชดเชยให้เป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาททันที โดยเชื่อว่ามาตรการนี้จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้
สำหรับยอดขายในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เผยว่า มีการชะลอการสั่งซื้อข้าวลงจากปกติครอบครัวละ 3-5 ถุง เหลือเพียงครอบครัวละ 2 ถุง แต่ไม่กระทบต่อยอดขายและความเชื่อมั่นตลาดต่างประเทศ ที่เข้าใจการปฏิบัติตามหลักสากลที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะกำหนดให้ผู้ประกอบการข้าวสารต้องผ่านการตรวจสอบได้รับมาตรฐาน GMP ทุกแห่ง ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง
"ปัจจุบันในอุตสาหกรรมข้าวไทยมีข้อตกลงในการยกเลิกการใช้สารเมทิลโบไมด์ตามข้อตกลงในพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol) เพื่อลดการทำลายชั้นบรรยากาศ และจะมีการเลิกใช้อย่างถาวรในปี 2558 ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตและส่งออกข้าวไทยแทบไม่มีการใช้เมทิลโบรไมล์ และส่วนใหญ่จะใช้ในการส่งออกข้าว อย่างไรก็ตาม ปริมาณของสารเมทิลโบรไมล์ตกค้างที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอยู่ที่ 1,400-60,000 ppm หรือเท่ากับการรับประทานข้าวสาร 20 กิโลกรัม จากปกติที่บริโภคเพียง 100 กรัม ดังนั้นจึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบสารเมทิลโบรไมล์ตกค้างเกินมาตรฐานในข้าวขาวพิมพา ตราโคโค่ ของบริษัทเสถียรรุ่งเรือง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้ทำหนังสือชี้แจงว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้เรียกคืนสินค้าที่มีอยู่ในตลาดทั้งหมดคืนแล้ว ทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาและล็อตอื่นๆ เพื่อทำการตรวจเช็คอย่างละเอียด โดยผู้เชี่ยวชาญและห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งแสดงความเสียใจ และเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ หากผู้ใดมีข้าวบรรจุถุงโคโค่ สามารถติดต่อเพื่อขอรับเงินคืน โดยส่งถุงเปล่ามาที่บริษัทเสถียรรุ่งเรืองฯ
โดยถุงเปล่า ข้าวขาวพิมพา ตรา โค-โค่ 1 ถุง รับเงินคืน 100 บาท, ถุงเปล่า ข้าวหอมคัดพิเศษ ตราโค-โค่ 1 ถุง รับเงินคืน 150 บาท และถุงเปล่า ข้าวหอมมะลิ ตรา โค-โค่ 1 ถุง รับเงินคืน 200 บาท ซึ่งทางบริษัทจะทำการตรวจสอบ พร้อมทั้งแจ้งผลการโอนเงิน ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 7 สิงหาคมนี้
ก.เกษตรฯจับมือ อย.ตรวจข้าว 10 จ.สร้างความเชื่อมั่นปชช.
ขณะที่วันเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการประชุมหารือ เรื่อง "มาตรการการออกตรวจสอบคุณภาพข้าว ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงสาธารณสุข (อย.)" ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า เบื้องต้นการตรวจสอบคุณภาพข้าวมีเป้าหมาย 10 จังหวัด ได้แก่ อยุธยา ปทุมธานี สระบุรี นครราชสีมา นนทบุรี สมุทรปราการ สุรินทร์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และฉะเชิงเทรา เป็นการเก็บตัวอย่าง ประมาณ30 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นข้าวที่ประกอบการบรรจุจะร่วมเก็บตัวอย่างทั้ง 100% ทั้ง โรงสีที่มีการบรรจุข้าว หรือสหกรณ์ที่สีข้าวจำหน่าย ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้เฉพาะ
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวด้วยว่า เรื่องการจดทะเบียน อย.ของโรงงานข้าวถุง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการอย่างเร่งรัด ในระหว่างที่ยังไม่มีโรงงานใดขึ้นทะเบียน อย. ได้มีการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มข้น ซึ่งการออกตรวจสอบเราจะทำการตรวจทุกวันพุธ ตลอดเดือนสิงหาคม และจะมีการแถลงข่าวให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบทุก 15 วัน
หากระดับการตรวจไม่พบสารปนเปื้อน หรือไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด ก็จะลดความถี่ในการตรวจสอบ แต่หากผลออกมายังพบสารปนเปื้อนอยู่ ก็จะให้ทางอย.ดำเนินการไปตามหน้าที่ ซึ่งในการลงพื้นที่ ได้แบ่งออกเป็น 4 ทีม โดยมอบให้หัวหน่วยผู้ตรวจไปจัดการตามแต่ละเขต จะประกอบไปด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ อีกทั้งในการตรวจจะมีเจ้าหน้าที่จากสาธารณะสุขจังหวัดไปเก็บตัวอย่างร่วมกัน
"ส่วนในเรื่องมาตรฐานในการตรวจนั้น ก็เป็นไปตามมาตรฐาน Codex ที่ต้องไม่เกินมาตรฐาน 50 มิลลิกรัม ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าเกินมาตรฐาน ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของกฎหมาย อย.ในการจัดการ ขั้นรุนแรงคือการสั่งปิด โดยขณะนี้ก็มีการสั่งเก็บทุกล๊อตที่มีปัญหา และห้ามมีการจำหน่าย บทลงโทษ ต้องทำจากเบาไปหาหนัก"