ชาวทองผาภูมิค้านปลุกผีเหมืองแร่ตะกั่วรอบทุ่งใหญ่นเรศวร หวั่นซ้ำรอยคลิตี้
ชาวบ้านทองผาภูมิค้านสร้าง ‘เหมืองแร่ตะกั่ว-สังกะสี’ รอบทุ่งใหญ่นเรศวร หวั่นกระทบชุมชน-ซ้ำรอยคลิตี้ ‘สุรพงษ์ กองจันทึก’ ไม่ยอมรับผลศึกษาจุฬาฯ เหตุมีส่วนได้ส่วนเสียกิจการเหมือนแร่ 'ดร.ภิญโญ มีชำนะ' ยันทำตรงไปตรงมา
วันที่ 24 ก.ค. 56 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเเถลงข่าว ‘คัดค้านการทำเหมืองแร่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สภาพแวดล้อม และสถานะมรดกโลก รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี’
สืบเนื่องจากกรณีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดทำโครงการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้น เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรณี (แร่ตะกั่ว-สังกะสี) ในพื้นที่อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อเปิดเหมืองแร่ตะกั่วอย่างน้อย 3 เหมือง ได้แก่ เหมืองแร่เค็มโก้ เหมืองแร่บ่อใหญ่ และเหมือนแร่เกริงกระเวีย โดยว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยรศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาการดำเนินงานนั้น
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผอ.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า กรณีหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่ชาวบ้านได้รับสารพิษจากการทำเหมืองแร่เข้าสู่ร่างกาย เป็นสิ่งพิสูจน์ได้ว่าสารพิษอันเกิดจากสารแต่งแร่และสารตะกั่วย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย วิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมจริงโดยเฉพาะระบบนิเวศในแม่น้ำแควใหญ่และแควน้อยที่ไหลและมีการผันน้ำเข้าสู่คลองมหาสวัสดิ์เพื่อทำเป็นน้ำประปาให้ประชาชนฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ อีกทั้งอาจกระทบต่อสถานะของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในฐานะแหล่งมรดกโลกได้ ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการที่กรมทรัพยากรธรณีจะพยายามฟื้นผีให้เกิดเหมืองแร่ในพื้นที่อีก
“ไทยเคยมีมติเมื่อปี 2542 ให้ยุติการทำกิจกรรมเหมืองแร่โดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ทั้งหมด พร้อมเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ให้รื้อถอนเครื่องจักร อุปกรณ์ บ้านพักคนงาน ออกนอกพื้นที่ และดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างเด็ดขาดแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นการฟื้นฟูแต่อย่างใด คงมีเพียงการเคลื่อนย้ายโรงงานออกเท่านั้น” นายสุรพงษ์ กล่าว และเสนอให้กรมทรัพยากรธรณีควรปรับเปลี่ยนนโยบายจากการส่งเสริมการทำเหมืองแร่เป็นการจับกุมผู้ทำทรัพยากรธรณีเสียหาย เหมือนกับกรมป่าไม้ได้ปรับเปลี่ยนการทำไม้เป็นรักษาป่าไม้และจับกุมผู้ทำไม้แทน
เมื่อถามถึงสาเหตุการไม่ยอมรับขั้นตอนศึกษากระบวนการทำเหมืองแร่ผอ.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนามองว่ารศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ หัวหน้าทีมศึกษาอาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการเหมืองแร่ของไทย ที่สำคัญกระบวนการศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการให้ได้มาซึ่งการทำเหมืองแร่ มิได้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่มาจากประชาชนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการอิสระของบริษัท สยามสติลซินดิเกต จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) ที่เป็นเจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการสมาคมวิศวกรเหมืองแร่ไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและรับจ้างเป็นวิศวกรที่ปรึกษารับทำ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment : EIA) การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ( Health Impact Assessment : HIA) และการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment : SIA) ในโครงการเหมืองแร่สำคัญด้วย เช่น โครงการเหมืองแร่โปแตซ อุดรธานี
รวมถึงผลงานสำคัญอย่างหัวหน้าโครงการจัดทำรายงานการศึกษาและแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ เพื่อให้มีการสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในจ.พิจิตรและเลย ซึ่งเป็นของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด อีกด้วย
ด้านนายหฤทัย คงควร รองประธานสภาเกษตรกรจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การทำเหมืองแร่ในทองผาภูมิไม่สามารถสร้างความยั่งยืนแก่ชาวบ้านได้ แต่ควรพัฒนาการท่องเที่ยว เกษตรกรรม ซึ่งจะสามารถสร้างความยั่งยืนได้มากกว่า ที่สำคัญการจะจ้างองค์กรขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการทำเหมืองแร่ในพื้นที่นั้น ควรเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินงาน เพื่อไม่สร้างกระแสการชี้นำต่อการพัฒนาเหมืองแร่
ขณะที่นายประเทศ บุญยงค์ นายกเทศมนตรีเทศบาลต.ทองผาภูมิ กล่าวว่า จ.กาญจนบุรีมียุทธศาสตร์การพัฒนาให้พื้นที่อ.ทองผาภูมิ ไทรโยค และสังขละบุรี เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อมุ่งหวังที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แต่หากมีการทำเหมืองแร่จริง โดยเฉพาะเหมืองแร่เกริงกระเวียจะทำให้สารตะกั่วไหลลงแม่น้ำแควน้อย และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งอยู่ห่างเพียง 10 กม. จนส่งกระทบต่อประชาชน
ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สัมภาษณ์รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ ต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุเพียงสั้น ๆ ว่า เราศึกษา SIA อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีเจตนาสนับสนุนการทำเหมืองแร่เลย เพียงแต่คุณสุรพงษ์ไม่เข้าใจในกระบวนการทำงานเท่านั้น จึงได้ออกมากล่าวหา อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้เชิญมาร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมาร่วมในเวที ทั้งนี้ รู้สึกน้อยใจที่ไม่มีเครือข่ายสื่อมวลชนเหมือนภาคเอ็นจีโอ จนเกิดการรับรู้ข่าวสารเพียงด้านเดียว
“กรมทรัพยากรธรณีว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการจุฬาฯ ศึกษากระบวนการทำเหมืองแร่ เพราะเห็นว่าเรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องเหมืองแร่รอบด้าน ไม่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจนี้เลย” รศ.ดร.ภิญโญ กล่าวในที่สุด
ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9560000063602