บุคลากรสถาบันอุดมศึกษารัฐ เตรียมบุกกมธ.แจงข้อมูลความเหลื่อมล้ำ
ตัวแทนศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เล็งบุกสภาฯ 24 ก.ค.ยื่นหนังสือชี้แจงข้อมูลความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม หลายแห่งยังไม่ปฏิบัติตามมติครม. นัดต่อไป 31 ก.ค.เข้าพบรมว.ศธ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 24 กรกฎาคม เวลาประมาณ 13.30 น.ตัวแทนศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจ้งข้อมูลความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
โดยรศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่า ทางศูนย์ประสานงานฯ กำลังเตรียมเข้าพบและยื่นหนังสือผ่านประธานกรรมการการศึกษาจริง โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องบุคลากรหลักๆ 3 ส่วนคือ
1. พนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเกิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ที่ให้จ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน และกลุ่มที่จ้างด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย
2. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา บุคลากรกลุ่มนี้กำลังลดจำนวนลง ตามมติคณะรัฐมนตรีในข้อ 1ข้างต้น
และ 3. บุคลากรทางการแพทย์ในสถาบันอุดมศึกษา เป็นบุคลากรที่ทำงานด้านสาธารณสุข สังกัดคณะแพทยศาสตร์ของโรงพยาบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยมีประเด็นชี้แจ้งเช่น 1. กรณีสัญญาจ้างไม่เป็นธรรมของพนักงานมหาวิทยาลัย 2. การไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 3. การขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พนักงานมหาวิทยาลัย 4. การได้รับสิทธิประโยชน์ที่รัฐฯ มอบให้ 5. การเลือกปฏิบัติแก่พนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย 6. สิทธิในการรักษาพยาบาล 7. การย้ายที่ทำงานข้ามมหาวิทยาลัย ข้ามวิทยาเขต และ 8. สิทธิในการทำนิติกรรมต่างๆ เป็นต้น
ส่วนกรณีข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ยังเหลืออยู่ในระบบ รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า อยากให้ปรับเพิ่มเงินเดือนที่เหลื่อมแท่งอยู่ร้อยละ 8 เพื่อให้ข้าราชการตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัย มีฐานเงินเดือนเท่ากับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ
"สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในสถาบันอุดมศึกษา จากการที่รัฐบาลมีมติอนุมัติอัตราข้าราชการแก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมิได้พิจารณาว่า มีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในระบบ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ในสถาบันอุดมศึกษา มีหน้าที่ และความรับผิดชอบในการทำงานไม่ด้อยไปกว่าพยาบาลวิชาชีพ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมระหว่างบุคลากรทางการแพทย์สองกลุ่ม" เลขาธิการ ศูนย์ประสานงานฯ กล่าว และว่า ดังนั้นหากไม่สามารถบรรจุบุคลากรทางการแพทย์ทุกสังกัดเป็นข้าราชการได้เหมือนกันทั่วประเทศแล้ว ควรจะมีแนวปฏิบัติต่อบุคลากรทางการแพทย์ในสถาบันอุดมศึกษา ให้ได้สิทธิเต็มตามที่ได้ระบุในข้อเรียกร้องของ “พนักงานมหาวิทยาลัย” เป็นต้น
ทั้งนี้ รศ.ดร.วีรชัย กล่าวด้วยว่า วันที่ 31 กรกฎาคม ทางตัวแทนจะขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว เป็นลำดับต่อไป
ด้าน นายรุ่งโรจน์ ตรงสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มรภ.สวนสุนันทา และนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในวาระการประชุมที่กำหนดคณะกรรมาธิการสามารถเชิญผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวาระนั้นมาให้ข้อมูล ให้ความเห็นได้ ไม่เฉพาะผู้บริหารจาก ศธ. กระทรวงการคลัง สำนักงานกฤษฎีกา ฯลฯ ก็สามารถเชิญได้ตามอำนาจหน้าที่ เพื่อช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาและนำเสนอข้อสังเกตไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ขอให้นำเสนอสภาพปัญหาและข้อเรียกร้องให้ชัดๆ และขณะนี้ตนเองได้ประสานประธานกรรมาธิการการศึกษาฯ ไว้แล้ว เพื่อขอให้ตัวแทนศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเข้าพบมอบหนังสือ และคงได้รับเรื่องร้องเรียนของศูนย์ประสานงานฯ โดยอาจจัดเข้าเป็นวาระการพิจารณาเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการการศึกษา ต่อไป